‘บ้านแพ้ว’ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ใน ‘เมียนมา’

พญ.พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ ตรวจดวงตาผู้ป่วยหลังผ่าตัด

“ดวงตา” เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ช่วยให้เรามองเห็นแสงสว่าง สีสัน และภาพที่อยู่รอบตัว

คงไม่มีใครอยากสูญเสียการมองเห็น เช่นเดียวกับ หม่อง น้อย ในวัย 65 ปี จากเมืองมูดง ประเทศเมียนมา ที่อยู่ท่ามกลางความมืดมิดมานานกว่า 6 ปี

หม่อง น้อย ใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา 2 คน ขณะที่ลูกทั้ง 5 คนไปทำงานกันหมด ไม่มีคนมาดูเเล และด้วยความยากจนทำให้เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงดูภรรยา กระทั่งเมื่อ 8 ปีก่อน ดวงตาข้างขวาเริ่มมีอาการมัวๆ ก่อนจะมองไม่เห็นในที่สุด จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา ตาข้างซ้ายก็มองไม่เห็นอีก ลำพังเเค่หาเงินเพื่อใช้จ่ายในเเต่ละวันก็ยากลำบากมากเเล้ว ดังนั้น การรักษาดวงตาจึงเป็นเพียงความฝันเท่านั้น

“ผมไม่เคยคิดว่าจะได้รักษาเเล้ว เพราะผมไม่มีเงิน แต่ผมอยากมองเห็นมาตลอด เป็นความหวังสูงสุด อยากกลับไปทำงานเลี้ยงดูภรรยา ตั้งเเต่เด็กผมเป็นช่างฝีมือ ทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ทั้งซ่อมไฟ ต่อสายไฟ พอมองไม่เห็นผมก็ทำอะไรไม่ได้เลย จนผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่ามีหมอจากต่างประเทศมารักษาตาให้โดยไม่คิดเงิน ผมเลยเดินทางมาพร้อมกับภรรยา” หม่อง น้อย เปิดเผยขณะรอเข้ารับการผ่าตัดดวงตา ตาม โครงการผ่าตัดตาต้อกระจกครั้งที่ 2 (Sharing a Brighter Vision Project) โดยทีมจักษุแพทย์จาก โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่โรงพยาบาล Mawlamyine General Hospital เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา

Advertisement

ยิ่งใกล้ถึงคิวที่จะต้องเข้าผ่าตัด หม่อง น้อย ก็ยิ่งรู้สึกตื่นเต้น แต่เขาบอกด้วยความมั่นใจว่า “ถ้าได้มองเห็น อะไรก็ไม่กลัว”

หม่อง น้อย และโต เค ออง ภรรยา
หม่อง น้อย และโต เค ออง ภรรยา

ขณะที่ โต เค ออง อายุ 63 ปี ภรรยาของหม่อง น้อย ที่มาให้กำลังใจ ก็รู้สึกดีใจไปกับสามีด้วย เธอเปิดเผยชีวิตความเป็นอยู่ที่ผ่านมา ที่ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนสามี แล้วเมื่อลูกๆ ไปทำงาน ก็ต้องหาเงินเลี้ยงดูสามีด้วยความยากลำบาก

“อยู่กินกับหม่อง น้อย มา 35 ปี ถึงบ้านเราจะเล็ก ไม่ได้มีเงินทองอะไร แต่เขาเลี้ยงดูเราอย่างดีทุกอย่าง จนเขาตาบอดเราก็ยังรัก ช่วยเหลือดูแลมาตลอด ไม่คิดทอดทิ้ง ทุกวันนี้นอกจากดูแลหม่อง น้อย เเล้วก็จะทำขนมขายหน้าโรงเรียนเพื่อหาเงินใช้จ่ายในบ้าน เพราะหม่อง น้อย ไม่สามารถทำงานได้ ตอนนี้สิ่งที่หวังคืออยากให้เขากลับมามองเห็นอีกครั้ง”

Advertisement

เป็นความหวังของ 2 สามีภรรยา ที่ให้กำลังใจแก่กันจนถึงเช้าวันเปิดตา หม่อง น้อย เปิดเผยว่าในตอนเเรกที่เอาผ้าปิดตาออกค่อนข้างผิดหวัง เพราะเขาคิดว่าจะมองเห็นได้ทันที แต่สิ่งที่เห็นเป็นแค่แสงและเงารางๆ เท่านั้น แต่พอหมอบอกว่าต้องใช้เวลา ดวงตาของเขาจะค่อยๆ มองเห็นดีขึ้น ก็เลยมีกำลังใจขึ้น

IMG_4045

พญ.พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ หรือ หมอจ๋า จักษุแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหิน โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ผู้ผ่าตัดต้อกระจกให้กับหม่อง น้อย เล่าว่า กรณีของหม่อง น้อย เป็นเคสที่น่าสงสารมาก เพราะตอนที่มาพบหมอเขามองไม่เห็นทั้งสองข้าง ต้องคลำทางเข้ามาแล้วให้เจ้าหน้าที่ 2 คนช่วยพยุง พอเรามาตรวจพบว่าเป็นต้อกระจกที่สุกเเล้วทั้ง 2 ข้าง ตาบอดมา 6 ปี เราถามเขาว่าทำไมปล่อยให้เป็นหนักขนาดนี้ ไม่รักษา เขาเล่าว่าอยู่กับภรรยา 2 คน ไม่มีเงินมาผ่าตัด มาหาหมอวันนี้ก็ต้องยืมเงินคนอื่นเป็นค่าเดินทางมา

“ในส่วนการรักษาก็ค่อนข้างยาก เพราะเขาเป็นต้อกระจกที่สุกเเล้ว เลนส์ที่ติดตรงต้อกระจกมีความเเข็งมาก ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งม่านตาไม่ขยาย จึงรักษายาก หลังการรักษาอาจจะยังมองเห็นไม่ชัด เห็นเเค่แสงเงา เเต่จะมองเห็นดีขึ้นเรื่อยๆ”

หมอจ๋าเล่าอีกว่า คนไข้ที่ผ่านการคัดกรองในปีนี้มีอาการค่อนข้างหนัก คือ ส่วนใหญ่จะเป็นต้อที่สุกเเล้วมองไม่ชัดหรือตาบอดมีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เคสที่หนักมากเป็นต้อกระจกที่สุกทั้งสองข้างจนมองไม่เห็นมีอยู่หลายราย อย่างกรณีของหม่อง น้อย เป็นต้น

บรรยากาศการรักษาดวงตา
บรรยากาศการรักษาดวงตา

เนื่องจากคนไข้กว่าครึ่งเป็นต้อกระจกที่สุกเเล้ว ทำให้การผ่าตัดต้องใช้เวลา บรรดาคุณหมอต้องทำงานกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ ในที่สุด คุณหมอทั้ง 4 ท่าน พร้อมด้วยพยาบาลผู้ช่วย และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลบ้านเเพ้ว ร่วมมือกับคุณหมอจากโรงพยาบาล Mawlamyine General Hospital เมืองเมาะลำไย ที่มาเป็นผู้ช่วย ร่วมมือร่วมใจรักษาคนไข้ทั้งสิ้น 219 ราย

บรรยากาศการรักษาดวงตา
บรรยากาศการรักษาดวงตา

สำหรับโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับเอสซีจี และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โดยวัตถุประสงค์หลัก ปรเมศร์ ไกรฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการสังคม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บอกว่า เป็นความร่วมมือเพื่อสานต่อโครงการยกระดับชีวิตให้กับเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยจักษุแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ทันสมัยจากประเทศไทยเดินทางมาให้บริการรักษาผู้ป่วย ในพื้นที่รัฐมอญ โครงการนี้ยังจัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วย

ปรเมศร์ ไกรฤกษ์
ปรเมศร์ ไกรฤกษ์

ขณะที่ สุรชัย พรจินดาโชติ กรรมการผู้จัดการ MCL (Mawlamyine Cement Limited) เล่าถึงที่มาที่ไปของความร่วมมือว่า เกิดจากโครงการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ออกหน่วยรักษาต้อกระจกเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับต่างประเทศ เช่น โครงการผ่าตัดตาและต้อกระจกที่ประเทศภูฏาน เนื่องในโอกาสฉลองครบ 25 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ภูฏาน เป็นต้น ทางเอสซีจีเอง มาตั้งโรงงานที่ประเทศเมียนมาก็พบว่าคนที่นี่มีปัญหาเรื่องตามาก เมื่อเราเห็นปัญหาจึงประสานงานและขอความร่วมมือโดยสนับสนุนงบประมาณและอำนวยความสะดวกให้เกิดโครงการครั้งนี้

“ความจริงในเเถบเอเชียมีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตาเยอะมาก ประเทศไทยเองก็มีปัญหานี้โดยเฉพาะคนภาคอีสานที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ประเทศไทยมีการส่งเสริมในเรื่องการรักษาต้อกระจกมานาน ขณะที่ทางโรงพยาบาลบ้านเเพ้วก็นำหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปผ่าตัดจนเกือบหมด เหลือแต่คนที่เป็นไม่มาก แต่ในแถบนี้ยังไม่มีการรักษาเรื่องนี้เลย ตอนที่เราเข้ามาคนเมียนมาเป็นต้อกระจกเยอะมาก ปีแรกที่เราจัดโครงการมีคนสมัครเข้ามาเป็นพัน เราก็คิดว่าเยอะเเล้ว แต่มาค้นพบทีหลังว่าคนที่มาครั้งที่แล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีคนมากกว่านั้นที่ป่วยเเต่เขามาไม่ได้ เพราะที่พม่าการคมนาคมค่อนข้างลำบาก จึงมีการจัดโครงการขึ้นอีก แต่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เอสซีจีจึงบริจาคเครื่องมือที่ใช้ผ่าตัดสลายต้อกระจก (Phacoemulsification (Phaco) machine) วันนี้ได้นำมาใช้จริงโดยมีหมอจากโรงพยาบาลที่นี่มาเป็นผู้ช่วย อนาคตมีแนวคิดที่จะส่งเสริมบุคลากร อาจจะให้ทุน ให้เขากลับมาช่วยรักษาคนในพื้นที่ได้”

สุรชัย พรจินดาโชติ
สุรชัย พรจินดาโชติ

ปิดท้ายที่ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่มองว่า ปัญหาเรื่องต้อกระจกเป็นปัญหาที่คนในแถบนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะประเทศไทยหรือพม่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมและลักษณะการทำงานที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นเวลานาน และแดดเป็นตัวการสำคัญของโรคต้อกระจก ถ้าไม่ได้มีการป้องกันโอกาสจะเป็นสูงมาก ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่นเรื่องสุขภาพ

“ขณะที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเอง เป็นหน่วยเคลื่อนที่ผ่าตัดต้อกระจกที่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรามีโครงการผ่าตัดปีละเป็นแสนคน จนถึงปัจจุบันเราได้เคลื่อนที่ดูแลผู้ป่วยโรคต้อกระจกทั่วประเทศ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ในไทยดีขึ้นเยอะ คนที่อาการหนักได้รับการรักษาหมดแล้ว และยังไปช่วยรักษาต่างประเทศ ทั้งประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศภูฏาน รวมถึงประเทศเมียนมาในครั้งนี้ ส่วนลักษณะการรักษาต้อของเมียนมากับไทยมีความคล้ายคลึงกัน แต่ที่เมียนมาอาการจะหนักกว่าที่ไทยเยอะมา หลายคนต้อสุกจัดจนมองไม่เห็นแล้ว ทำให้มีโอกาสที่ผ่าแล้วกลับมามองเห็นไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนเป็นนานจอประสาทตาก็อาจจะเสื่อมด้วย เพราะการมองเห็นไม่ใช่เรื่องของกระจกตาอย่างเดียว มันมีเรื่องของประสาทตาและอย่างอื่นด้วย เราเปลี่ยนแต่เลนส์ ไม่ได้รักษาอย่างอื่น หลังผ่าตัดก็อาจจะมองเห็นไม่ชัด แต่มองเห็นดีกว่าเดิมแน่นอน” นพ.มานิตอธิบาย

 นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์

ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยว่า ความจริงบ้านแพ้วไม่ได้วางแผนว่าจะต้องมาผ่าตัดที่ต่างประเทศ แต่การลงมาครั้งนี้เป็นการกุศลอย่างหนึ่ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และนอกจากจะมารักษาผู้ป่วยเรายังมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับหมอของที่นี่ ซึ่งปกติเขาก็มีระบบการฝึกหัดของเขาอยู่แล้ว แต่เขาไม่มีเครื่องมือ ครั้งนี้เราได้ให้เขาเข้ามาร่วมผ่าตัดกับหมอคนไทย เป็นการเรียนรู้วิธีผ่าตัดและการใช้เครื่องมือไปด้วย

เป็นการปิดภารกิจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขอีกครั้ง เมื่อ 219 ชีวิตในเมียนมา เปิดผ้าปิดตาออกพร้อมกัน

โดยหวังว่าความมืดมน พร่ามัว จะกลับมาสว่างกระจ่างชัดอีกครั้ง

บรรยากาศการรักษาดวงตา
บรรยากาศการรักษาดวงตา
บรรยากาศการรักษาดวงตา
บรรยากาศการรักษาดวงตา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image