ระเบิดเกาะแม่น้ำโขง คิดให้หนักก่อนลงมือ : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 ที่อนุมัติให้ระเบิดเกาะแก่งตามลำแม่น้ำโขงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเรือสินค้า ส่งเสริมการค้าและการสัญจรทางน้ำในลำแม่น้ำโขงร่วมกับจีน ลาว และเมียนมา ก่อให้เกิดความแตกตื่นในหมู่นักอนุรักษ์และชุมชนชาวแม่น้ำโขงอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่อนุมัติผ่านออกมาโดยแทบไม่มีการสอบถามหรือประชาพิจารณ์แสดงความคิดเห็นกันมาก่อน

การเดินเรือตามลำแม่น้ำโขงนั้นมีแผนมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ครั้งฝรั่งเศสยังคงปกครองอาณานิคมอินโดจีน ด้วยฝรั่งเศสจะได้อาศัยลำแม่น้ำโขงในการขนส่งทหารและเสบียงยุทธปัจจัย ฝรั่งเศสได้ส่งนักสำรวจเพื่อทำแผนที่และหาความเป็นไปได้ในการเดินเรือไปถึงทางใต้ของจีนแล้วพบว่าลำน้ำโขงมีเกาะแก่งเป็นอุปสรรคมาก ทั้งในยามน้ำแล้ง ก็จะแห้ง ไม่สามารถเดินเรือเพื่อขนส่งได้เป็นระยะทางไกลได้ตลอดทั้งปี แผนดังกล่าวจึงล้มเลิกไป

แต่เมื่อจีนในยุคพัฒนาก้าวกระโดด ได้มีเข็มมุ่งจากศูนย์กลางพรรคให้พัฒนาการคมนาคมขนส่งลงใต้ เพื่อเชื่อมต่อมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาเข้ากับชาติลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง และระเบิดเกาะแก่ง กั้นตลิ่ง ทำแม่น้ำโขงให้กลายเป็นเสมือนซุปเปอร์ไฮเวย์เพื่อขนส่งสินค้าไปมา ซึ่งแผนดังกล่าวสำเร็จในเขตแผ่นดินจีนเรียบร้อยแล้ว เขื่อนทั้งหมดที่กั้นลำน้ำโขงสามารถเปิดปิดน้ำเพื่อการเกษตรชลประทาน และการเดินเรือได้ เหลือเพียงขั้นตอนต่อไปคือการสร้างความเชื่อมต่อกับประเทศด้านล่างเท่านั้น

จากท่าเรือจิ่งหง และท่าเรือกวนเล่ย ในปัจจุบันเรือสินค้าขนาด 100 ตัน สามารถขึ้นล่องมาได้ถึงท่าเรือเชียงแสน แต่แผนของจีนในระยะที่สองคือ ทำให้เรือขนาด 500 ตันนั้นสามารถล่องมาได้ถึงหลวงพระบางและนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งในการนี้ ต้องระเบิดเกาะแก่งตามลำแม่น้ำโขงทั้งในไทยและในลาวจำนวนมาก ซึ่งการตกลงดังกล่าวเป็นไปตามกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Cooperation: LMC) ครั้งที่ 1 ซึ่งรัฐบาลได้ลงนามในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

Advertisement

บริเวณสำคัญที่เสี่ยงต่อการถูกระเบิด ได้แก่ คอนผีหลง อ.เชียงแสน และแก่งไก่ อ.เชียงของ ซึ่งมีทั้งการสำรวจและการต่อต้าน และได้ล้มเลิกแผนไปแล้วในยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเหตุผลทางด้านความมั่นคงที่สภากลาโหมแนะนำ โดยการระเบิดเกาะแก่งดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการเจรจาปักปันเขตแดนระหว่างไทย-ลาว ที่อ้างตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.122 ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และการระเบิดเกาะแก่งยังส่งผลต่อการกัดเซาะดินชายฝั่งที่อาจทำให้ฝั่งดินแดนลดลง

อีกเหตุผลที่เป็นการคัดค้านการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง คือความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ซึ่งหากระเบิดเกาะแก่งอันเป็นที่อนุบาลและพักอาศัยของสัตว์น้ำ นกอพยพ และนกประจำถิ่นหลายชนิด สัตว์ดังกล่าวอาจถึงกับสูญพันธุ์ เช่นเดียวกับโลมาน้ำจืดสายพันธุ์อิรวดี และกระเบนน้ำจืดที่หายไปจากลำน้ำโขงมาแล้วก่อนหน้า รวมถึงเหตุผลของวิถีชีวิตชุมชนพื้นบ้านตามลำแม่น้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในประเทศจีนที่ปิดปล่อยน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล สร้างความเสียหายต่อทั้งบ้านเรือนและพืชผลการเกษตรริมน้ำ สูญเสียวงจรการทำเกษตรที่มีมาแต่โบราณ

แม้ว่ากรอบข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการลงนาม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว แต่การแก้ไขเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำในลำน้ำโขง กับการรักษาระบบนิเวศและวิถีชีวิตคนริมน้ำยังไม่สายไป หวังว่าการปล่อยให้เรือสำรวจจีนล่องมาตามลำน้ำโขงจะทำให้การวางแผนครบทุกมิติ มิเช่นนั้น หากเรือสินค้าขนาด 500 ตัน ล่องมาได้ เรือรบลาดตระเวนขนาด 500 ตัน ก็ล่องมาได้ทุกเมื่อเช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image