ป.ย.ป.60 ปี ปฏิรูป(2) : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ติดตามโมเดลการบริหารจัดการประเทศยุคแม่น้ำ 5 สายตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 ก็ 2 ปีผ่านไปจะเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ
จากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 8 ด้าน รวม 6 คณะแต่งตั้งเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2558 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทุกชุด รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่อยมา

มาถึงปี 2560 ประกาศว่าจะเป็นปีแห่งการปฏิรูป ภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุด แปลงโฉมคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ ชื่อว่าคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

มีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเช่นเดิม แยกคณะกรรมการออกเป็น 4 ชุด คือ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สองรองนายกรัฐมนตรีร่วมกันคอยกำกับติดตาม

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย สองรองนายกรัฐมนตรีร่วมกันคอยกำกับติดตาม

Advertisement

คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คอยกำกับติดตาม คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คอยกำกับติดตาม

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการ ป.ย.ป.ขยายความกระบวนการทำงานเพื่อปฏิรูป ว่า จะตั้งทีมงาน 10 ทีมครอบคลุมปัญหา 10 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ น้ำ ป่า พลังงาน สิ่งแวดล้อม เครือข่ายดิจิทัล เครือข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ การศึกษา การวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สวัสดิการ การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม

ปรับกลไก กระบวนการทำงานครั้งใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ประเทศประเด็นเดียว ทำให้การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เดินหน้าเห็นผลเป็นรูปธรรม

Advertisement

ครับ นั่นเป็นเป้าหมาย ความหวังและตั้งใจ

ปัญหาคือความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมา ความล่าช้าของการดำเนินงาน เกิดการทำงานทับซ้อน ผลิตซ้ำออกมามีแต่รายงาน ผลงานที่เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่จริงๆ เพียงไม่กี่เรื่อง

อีกเหตุหนึ่งเพราะยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ทำหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน กระจัดกระจาย แทนที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรื่องใหญ่ๆ ให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงชัดก่อน แล้วเร่งเครื่องเรื่องอื่นต่อไป

ตัวอย่างรูปธรรม ด้านการศึกษา เรื่องที่แทบทุกฝ่ายเห็นว่าควรจะปฏิรูป ทำเลย ทำทันที อย่างน้อย 2 เรื่อง 1.ปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน หลังดำเนินนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้แล้ว

ซึ่งก็มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2558 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ 2551 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการอำนวยการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) เป็นประธาน รองประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) และ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) 2.คณะกรรมการกำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ 3.คณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธาน รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองประธาน ฯลฯ

วันเวลาผ่านไปจนมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ความคืบหน้าเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องนี้ยังไปไม่ถึงไหน ทั้งๆ ที่เคยมีการดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้วคืบหน้าไประดับหนึ่ง แต่ก็หยุดชะงักเพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง ต้องนำกลับมาทำใหม่ ทำซ้ำ ทำซ้อน อย่างที่เป็นมาตลอด

จนจะมีคณะกรรมการย่อยของ ป.ย.ป.ด้านการศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะมีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระดำเนินการด้านการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญใหม่ เกิดขึ้นอีกต่อไปภายใน 120 วัน จะหยิบยกเรื่องนี้ มาทำซ้ำ ทำซ้อนอีกหรือไม่ ต้องติดตาม

2.การปฏิรูปการอุดมศึกษา โดยแยกการบริหารจัดการออกจากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแวดวงการศึกษาส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วยควรดำเนินการทันที จะทำให้การบริหารจัดการอุดมศึกษามีความคล่องตัวมากขึ้น

หากเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่งตั้งแรกที่เข้ามาบริหารงาน 2 ปีที่ผ่านมา ป่านนี้คงออกเป็นกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องรอให้ ป.ย.ป.ด้านการศึกษามาเริ่มนับหนึ่งใหม่กันอีก

ความเป็นจริงในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นก็คือ ภายหลัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง ศธ.ที่ สร 1883/2559 แต่งตั้ง นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เป็นประธานคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา

“ส่วนตัวมองว่าควรแยกออกมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษามากกว่า ให้เหมือนกับนานาอารยประเทศ อีกทั้งงานในส่วนของอุดมศึกษาก็มีมากเกินกว่าที่จะเป็นแค่ทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งเทียบเท่ากับกรมเท่านั้น” นพ.ธีระเกียรติให้ความเห็น

ครับ ปฏิรูปการศึกษาเป็นด้านที่มีความเคลื่อนไหวพิเศษ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาขึ้นก่อนใคร ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2558 มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานยังขนาดนี้

60 ปีปฏิรูปจะไปถึงไหนในความเป็นจริง ที่ไม่ใช่แค่เขย่าขวด ปรับกลไก กระบวนการใหม่ให้ดูคึกคัก เกิดความรู้สึกว่ามีความหวัง มีความเปลี่ยนแปลง แต่เนื้อในยังเหมือนเดิม

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image