ผลิตซ้ำ ปฏิรูป โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีเสนอความเห็นต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้แยกหมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ออกมาเป็นหมวดหนึ่งต่างหาก แทนที่จะซุกไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งเขียนไว้แล้ว 2 ด้าน คือ ปฏิรูปการศึกษา มาตรา 267 ปฏิรูปตำรวจ มาตรา 268

สัปดาห์นี้ ถึงคิวของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอของกรรมาธิการ ทั้ง 12 คณะ ที่ควรบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 269 ด้วยคะแนนเสียง 143 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากสมาชิกสภาขับเคลื่อนทั้งหมด 200 คน อีกกว่า 50 คนไม่รู้หายไปไหน มีจุดยืนอย่างไร

รวมความโดยสรุป ควรบรรจุให้มีการปฏิรูปครบทั้ง 12 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านการสื่อสารมวลชน ด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

Advertisement

เป็นไปตามที่คาดไว้แล้ว ทุกคณะล้วนเห็นว่าการปฏิรูปด้านของตนมีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่มีใครยอมให้ตัดออก หรือรอไว้ก่อน เพื่อให้ด้านอื่นที่สำคัญเร่งด่วนกว่าเดินหน้าไปก่อน

เมื่อต้องปฏิรูปถึง 12 ด้านพร้อมกัน ประเด็นมีว่าภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะทำงานทันหรือไม่

ทันในที่นี้จึงมี 2 มุมมอง มุมหนึ่ง เพียงแค่จัดทำกฎหมายปฏิรูปด้านนั้นเสร็จ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติทันภายในหนึ่งปี ถือว่าบรรลุภารกิจแล้ว ส่วนการปฏิรูปหรือปฏิบัติจริงๆ ภายใต้กฎหมายปฏิรูปที่ออกใหม่จะลุล่วงเห็นผลแค่ไหน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

มุมที่สอง ในกรณีที่อาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายออกใช้บังคับ ให้เริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อเริ่มต้นได้ภายในหนึ่งปีแสดงว่าบรรลุเป้า แต่จะสำเร็จเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แค่ไหน ไม่ใช่เงื่อนไข

ระหว่างสองมุมมองที่ว่านี้ สิ่งบ่งชี้ความสำเร็จของการปฏิรูปจะใช้เกณฑ์ไหน ระหว่างออกกฎหมายจบ หรือเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปแล้ว หรือการปฏิรูปเริ่มเห็นผลแล้ว

ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์วัดตรงไหนก็ตาม ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอและยกร่างกฎหมายที่จำเป็นเสร็จเกือบหมดแล้วทั้ง 11 ด้านการปฏิรูป

แม่น้ำสำคัญ 2 สายคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ไม่ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ จำแนกแยกแยะให้ละเอียดว่า สิ่งใดควรทำเลย ทำทันที เรื่องใดควรส่งให้สภาขับเคลื่อนฯ รับไปดำเนินการต่อ

กลับส่งงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติให้สภาขับเคลื่อนทั้งดุ้น เลยกลายเป็นจุดอ่อนของการบริหาร เกิดกระบวนการผลิตซ้ำ ทำซ้อน และทำใหม่ ทำไปคนละทาง เสียเวลาไปอีกในหลายๆ เรื่อง

ผลงานที่ผ่านมา กลายเป็นงานระดับปกติ ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ต้องทำอย่างนี้ ยังไม่ถึงระดับที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูป ที่ควรจะเป็น

ถึงสภาขับเคลื่อนจะบอกว่าต้องนำข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติไปให้ส่วนราชการผู้ปฏิบัติให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงเพื่อความรอบคอบก็ตาม นั่นแสดงว่ากระบวนการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ จัดทำข้อเสนอโดยละเลยความเห็น ความเป็นไปได้ของฝ่ายปฏิบัติ และหรือผู้เกี่ยวข้อง มีส่วนได้เสียครบถ้วน

เมื่อเกิดกระบวนการผลิตซ้ำ ทำซ้อน ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า บรรยากาศการปฏิรูปจึงอืดอาด ล่าช้า

ถึงแม้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 6 ด้านของฝ่ายรัฐบาลในเวลาต่อมา ก็เกิดขึ้นหลังจากที่ส่งมอบงานและการเคลื่อนตัวของสภาขับเคลื่อนไปแล้ว

ยิ่งองค์ประกอบของสภาขับเคลื่อนมาจากคนในเครื่องแบบเป็นส่วนใหญ่ ความคิด ความเคยชิน วัฒนธรรม กระบวนการทำงาน จึงแตกต่างไปอีกแบบ การสืบต่องานจากสภาปฏิรูปแทนที่จะรวดเร็วกลับกลายเป็นต้องแสดงความเป็นตัวตน ผลิตงานปฏิรูปตามแนวทางของคนกลุ่มใหม่ ไม่ต่างอะไรจากรัฐบาลต่างพรรคการเมืองที่ผ่านมา

ในที่สุดข้อเสนอหลายด้าน หลายประการที่สภาปฏิรูปเสนอไว้ก็มีสภาพเสมอเพียงหนังสือรายงาน เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

เงื่อนไข ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปอืดอาด ล่าช้า เพราะติดกับดัก กลัวว่ากลุ่มอำนาจใหม่จะไม่ทำต่อ ทำตามสิ่งที่นำเสนอหรือเริ่มต้นไว้ จึงมุ่งหาทางคิดกลไก กระบวนการ ออกกฎหมายบังคับเพื่อให้เกิดการผูกมัดไว้กลายเป็นภารกิจหลัก แทนที่จะเร่งลงมือทำเลย ทำทันทีตั้งแต่ขณะนี้เป็นหลัก

นโยบายสาธารณะ การปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วน ควรทำทันทีจึงยังไม่ปรากฏวี่แววว่าจะเป็นไปได้ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีข้อเสนอต่างๆ มากมาย มีมาก่อนยุคแม่น้ำ 5 สายเสียด้วยซ้ำ

อาทิ ปฏิรูปการถือครองที่ดิน ทั้งของเอกชน และนิติบุคคล ควรถือครองคนละเท่าไหร่ในแต่ละสาขาอาชีพ หากถือมากกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วไม่ได้ทำประโยชน์ ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า สองเท่า สามเท่า ทุกสามปี ห้าปี เป็นต้น

ฉะนั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต้องเป็นหลักทำให้การปฏิรูปเป็นจริงเสียตั้งแต่ขณะนี้ คือ รัฐบาลและ คสช.

ส่วนสภาขับเคลื่อนฯและสภานิติบัญญัติฯนั้น ผลการประชุมทบทวนบทบาทและมีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันระหว่างสองสภาโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญเป็นคำตอบที่ชัดเจน

นอกจากมรดกการออกกฎหมายหรือลายแทง เพื่อส่งต่อให้คนอื่นทำแล้ว ผลงานที่สะท้อนถึงการปฏิรูปจริงๆ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image