‘สุวิทย์’ เข้าพบประมุข สนช.หารือกรอบทำงาน ‘พรเพชร’ ย้ำ ทำงานเชิงรุกช่วย รบ.ออก กม.

“สุวิทย์” เข้าพบประมุข สนช. ด้าน “พรเพชร” ย้ำ ต้องทำงานเชิงรุกช่วย รบ.ออก กม.โดยเร็ว หารือกรอบทำงาน

วันที่ 20 มกราคม 2560 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เข้าหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 และ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า นายสุวิทย์ได้รับมอบหมายให้มาประสานงาน 3 เรื่อง คือ 1.รัฐบาลและ คสช.มีนโยบายที่จะปฏิรูปประเทศเป็นหลักใหญ่ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในระหว่างทูลเกล้าฯ 2.เรื่องยุทธศาสตร์แห่งชาติเป็นเรื่องที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และ 3.เรื่องการปรองดอง ทั้ง 3 เรื่อง สนช.มีส่วนร่วมด้วยในด้านกฎหมาย จะเห็นว่า สนช.มีบทบาทที่แตกต่างจากรัฐสภาในภาวะปกติ ซึ่งจะต้องรอรับกฎหมายจากฝ่ายบริหาร แต่ขณะนี้ สนช.ต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ที่ตั้งใจปฏิรูปประเทศ และวางยุทธศาสตร์ จากนั้นทำให้เกิดการปรองดองขึ้นก่อนที่จะคืนอำนาจสู่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ สนช.ต้องมีบทบาทในเชิงรุก ไม่ใช่รับอย่างเดียว ดังนั้น ต้องดูว่ากฎหมายใดที่จำเป็นก็ต้องช่วยเร่งรัดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกกฎหมายโดยเร็ว รวมทั้งต้องเสนอแนะว่าจะทำอย่างไร มีเรื่องใดบ้าง เป็นเรื่องที่ได้รับแจ้งจากนายสุวิทย์ เราเห็นด้วยและคิดว่าการดำเนินการในรูปแบบนี้ที่มีนายกฯเป็นเจ้าภาพ คงจะหาข้อยุติได้

เมื่อถามว่า ในสัปดาห์หน้าคณะทำงาน ป.ย.ป.จะมีความคืบหน้าอย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า นายสุวิทย์ระบุว่าขณะนี้เป็นขั้นตอนการตั้งองค์ประกอบก็คงเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว และเสนอนายกฯเพื่อให้ประกาศแต่งตั้งต่อไป เพื่อนำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ ต้องเป็นอย่างรวดเร็วที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนเพื่อบรรลุและสร้างผลงานให้ได้ โดยเบื้องต้นหากเป็นเรื่องของการปฏิรูป สปท.จะต้องเป็นหลักในการเสนอแผนงานหรือโครงการเข้ามา ส่วน สนช.อาจเสนอแนะให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายหรือไม่ ส่วนรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับความเห็นนี้หรือไม่ ถ้าเห็นด้วยในเรื่องใดก็ให้เร่งรัดมา โดยจะเป็นรูปแบบกรรมการ ที่ต้องกะทัดรัด มีผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจอย่างนายกรัฐมนตรี สำหรับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ สนช.ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องมาก เนื่องจากเป็นเรื่องของกฎหมาย เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ ส่วนเรื่องปรองดองนั้น ได้มีการพูดคุยว่าหากออกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการปรองดองคงไม่ได้ ต้องดูว่าฝ่ายปรองดองต้องการอะไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image