อย.จ่อยกเลิกใช้ ‘ยาโคลิสติน’ ชนิดกินในคน ส่วนสัตว์เตรียมยกระดับเพิ่ม

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบพบว่าฟาร์มหมูในจ.นครปฐมและจ.สุพรรณบุรี มีการใช้ยาโคลิสตินที่เป็นยาปฏิชีวนะลำดับท้ายๆที่จะใช้ในการรักษากรณีติดเชื้อแบคทีเรียผสมในอาหารให้หมูกิน จึงมีความกังวลว่าหากมีการใช้ยาชนิดนี้อย่างพร่ำเพรื่อจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียมีการดื้อต่อยา ว่า ปศุสัตว์ควรคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่จะนำมาใช้ในการผสมอาหารให้หมูกิน แต่หากสัตว์มีการติดเชื้อแบคทีเรียก็ยังจำเป็นต้องให้ยาโคลิสตินตามความจำเป็นภายใต้การแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งยาโคลิสตินไม่ได้ตกค้างในเนื้อหมูในปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กังวลว่าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้มียุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องการควบคุมและป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ โดยเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และกรมปศุสัตว์ เห็นพ้องตรงกันที่จะยกระดับยาโคลิสตินที่ใช้ในสัตว์เป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น จากที่ปัจจุบันเป็นเพียงยาอันตรายที่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร นอกจากนี้ การใช้ยาโคลิสตินในมนุษย์ อย.เตรียมที่จะปรับการใช้ ด้วยการยกเลิกยาโคลิสตินแบบกินให้เหลือใช้เฉพาะแบบฉีดเท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้อย่างพร่ำเพรื่อและนำไปสู่การเกดเชื้อดื้อยา โดยจะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณาในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมปศุสัตว์และอย.มีการทำงานร่วมกัน โดยการดูตัวอย่างการใช้ยาปฏิชีวนะในคนและสัตว์ โดยจะมีการนำตัวอย่างฟาร์มปศุสัตว์ที่มีการใช้ยาอย่างถูกต้องมาเผยแพร่ ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าหากมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานจะกระตุ้นโอกาสในการแพ้ยาและทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image