ล่องเรือ”สำราญ” ทางเลือกนักเดินทาง อนาคตการท่องเที่ยวไทย

การท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นการพักผ่อนที่ดีต่อร่างกายและจิตใจแล้ว ยังเป็นการสะสมประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญ

บางคนอาจได้ลิ้มลองรสชาติการเดินทางมาแล้วหลากหลายรูปแบบ แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีโอกาสสัมผัสด้วยตัวเอง

ดังการท่องเที่ยวบน “เรือสำราญ” ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ ใครๆ ก็รู้จัก แต่สำหรับเมืองไทยนับว่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยนัก ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเล และมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว

แล้วถ้ามองการท่องเที่ยวในระดับโลก การล่องเรือสำราญเป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมาก ข้อมูลจากสมาคมการเดินเรือสำราญใหญ่ที่สุดของโลก ระบุว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีจำนวน

Advertisement

นักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 17.8 ล้านคนในปี 2552 เป็น 23 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% และคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า

ธุรกิจเรือสำราญจะขยายตัวจากการสร้างเรือใหม่ของสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 55 ลำ เกิดการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน

พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเรือสำราญรวมกว่า 5,000 ลำ และแต่ละลำมีความต้องการเดินทางทางเรือเข้ามาในอาเซียน หากสามารถปรับแก้กฎหมายได้คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ในอาเซียนมีเรือสำราญเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 500 ลำ/ปี สร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

“สำหรับกฎหมายเรือยอชต์ของประเทศไทย มีข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไข อาทิ การจัดเก็บภาษีเรือซุปเปอร์ยอชต์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังเรียกเก็บภาษีในอัตราค่อนข้างสูงและต้องมีการจ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 หน่วยงาน”

ขณะที่ นิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว (ททท.) ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อม แต่อาจจะต้องอาศัยเวลาและการผลักดันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เราเป็นจุดแวะพักที่ได้รับความนิยมมาก ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือสำราญมายังประเทศไทยในลักษณะของ Port of Call หรือท่าเรือแวะพักในทุกท่าเรือ ประมาณ 450,000 คน โดยส่วนใหญ่ถ้ามาจากฝั่งอันดามันจะแวะเทียบท่าที่ภูเก็ต แต่ถ้ามาจากฝั่งอ่าวไทยจะแวะเทียบท่าที่เกาะสมุย หรือถ้าจะมาภาคกลางจะแวะที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นต้น”

“นอกจาก Port of Call แล้ว ตอนนี้เรามีเรือสำราญที่เข้ามาในลักษณะ Turn-around port คือเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของทริประยะสั้น”

แม้วันนี้เราจะเป็นเพียงท่าเรือแวะพัก แต่นิธีเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะพัฒนาสู่การเป็น Homeport หรือท่าเรือหลักได้

“การเป็นท่าเรือหลักเรายังติดปัจจัยหลายอย่าง เช่น การตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร แต่มีโอกาสที่จะพัฒนาตรงนี้ได้ เนื่องจากเรามีท่าเรือที่มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้วคือที่แหลมฉบัง เชื่อว่าภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งรัดและผลักดันกันอยู่ นอกจากนี้ยังมีท่าเรืออีกหลายแห่ง เช่น ท่าเรือที่ภูเก็ต ที่มีความพร้อมและศักยภาพจะพัฒนาเป็นท่าเรือหลักได้ และถ้ามีการสนับสนุนและมีความต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าใน 2-5 ปีจากนี้การท่องเที่ยวทางเรือสำราญจะเติบโตและเป็นที่นิยมในเมืองไทย” นิธีอธิบาย

ซึ่งวันนี้โอกาสสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวทางเรือในประเทศไทย เห็นภาพได้ชัดขึ้น เมื่อ คอสตา ครุยส์ ผู้ให้บริการท่องเที่ยวสัญชาติอิตาลี ขยายการเดินเรือสำราญ คอสตา วิกตอเรีย เข้ามายังอ่าวไทย ด้วย

มุ่งหวังจะสร้างตลาดการล่องเรือในภูมิภาคนี้ และความเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของประเทศไทยในฐานะตลาดจัดหาลูกค้า และเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีสำหรับนักเดินทาง

กรณีนี้ นิธีให้ความเห็นว่า การเข้ามาของคอสตา วิกตอเรีย เป็นแนวโน้มและโอกาสที่ดีที่เราจะต้องฉกฉวย ในการพัฒนาตัวเองให้เป็นท่าเรือหลัก เพราะจุดนี้ประเทศไทยก็ถือเป็นฮับของอาเซียนแล้วในการเดินทางทางอากาศ ถ้าเราสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวทางเรือ เราจะมีโอกาสได้นักท่องเที่ยวกลุ่มเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนล่าง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของการเดินทางทางเรือสำราญได้

2

วาสนา ไพศาลอัคนี ผู้จัดการทั่วไปคอสตา ครุยส์ ระบุว่า เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพและการเติบโตของตลาดในประเทศไทย การมาเปิดการเดินเรือสำราญที่แหลมฉบังครั้งแรกผลตอบรับดีมาก ใช้เวลาไม่นาน มีผู้สนใจมากกว่า 80% โดยส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่มาเป็นครอบครัวและเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ตรงนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าที่นี่มีนักท่องเที่ยวอยู่เพราะไม่เคยมีคนมาทำที่นี่ คอสตาเป็นเรือสำราญลำแรกที่มาเปิดการท่องเที่ยวที่แหลมฉบัง

ขณะที่ สุธาทิพย์ ชฎาวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ไทยภูมิสกายไลท์ ซึ่งเป็นตัวแทนขายให้กับบริษัทเรือสำราญหลายแห่ง ระบุว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีในวงการนี้ มองว่าธุรกิจเรือสำราญเป็นธุรกิจที่สร้างความสุขและเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่คนไทยยังไม่คุ้นเคย เพราะเมื่อพูดถึงเรือสำราญ ความรู้สึกเเรกที่เกิดขึ้นคือ “แพง” เเต่คนไม่ได้มาแตกออกดูว่าเงินก้อนใหญ่นี้รวมอะไรบ้าง

“ปกติการวางเเผนเที่ยวจะต้องซื้อเเยกทั้งค่าเดินทาง โรงเเรมรวมถึงอาหารที่เราไม่ได้นับเพราะไปจ่ายที่หน้างาน แต่พอเป็นเรือเขารวมทุกอย่างมาให้หมดเเล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความคิดของคนที่ไม่เคยเที่ยวเรือสำราญมาก่อน กลัวอยู่บนเรือทั้งวันไม่มีอะไรทำ บางคนก็กลัวเรื่องของการเมาเรือ เเต่เรือสมัยนี้มีความทันสมัยมากเหมือนอยู่โรงเเรมจนเราจะไม่รู้สึกว่าอยู่บนเรือเลย ในขณะเดียวกันเรือจะเคลื่อนที่ไปตลอด ในเเต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมาก็จะเป็นเมืองใหม่ ผู้สูงวัยหรือเด็กสามารถเดินทางไปเที่ยวได้โดยไม่เหนื่อย เหมือนเราพักผ่อนในขณะเดียวกันก็เดินทางไปเมืองใหม่ได้”

3

สำหรับคอสตา วิกตอเรีย เป็นเรือขนาด 5,200 ตัน รองรับผู้โดยสาร 2,394 คน เปิดตัวในไทยด้วยการมีท่าเรือประจำที่แหลมฉบัง พร้อม 3 ทริปพิเศษ เส้นทางที่ 1 เดินทางจากสิงคโปร์ มายังเกาะสมุย และสิ้นสุดการเดินทางที่แหลมฉบัง (ประเทศไทย) เส้นทางที่ 2 จากแหลมฉบัง ไปยังสีหนุวิลล์ (ประเทศกัมพูชา) ฟูก๊วก (ประเทศเวียดนาม) และเกาะสมุย ก่อนจะกลับมาที่แหลมฉบัง เส้นทางที่ 3 จากแหลมฉบัง ไปยังสีหนุวิลล์ และสิ้นสุดการเดินทางที่หนานซา (ประเทศจีน) โดยอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 179-439 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,300-15,000 บาท/ผู้โดยสาร 1 ท่าน

เป็นอีกรูปแบบการท่องเที่ยว ที่ผู้รักการเดินทางต้องลองสักครั้ง

 

4

5

6

7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image