ชีวิตที่บ้าน ‘อาจารย์ฝรั่ง’ เปิดบ้านหลังแรก ‘ศิลป์ พีระศรี’

บ้านหลังรองในรั้วบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภซึ่งอาจารย์ศิลป์เคยอาศัยอยู่

ใบหน้าอันเป็นที่คุ้นตาในแวดวงศิลปะ อาจารย์ศิลปะผู้วางรากฐานวงการศิลปะไทยสมัยใหม่ สร้างผลงานประติมากรรมสำคัญระดับชาติและร่วมก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมซึ่งต่อมา คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการยกย่องเสมอมาจนคล้ายกลายเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ศิลปินชาวอิตาลีหรือที่ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ เรียกกันว่า “อาจารย์ฝรั่ง” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่า “ศิลป์ พีระศรี” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากภัยสงคราม

เข้ามารับราชการในประเทศไทยปี พ.ศ.2466 สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ด้วยเงินเดือน 800 บาท โดยรัฐบาลสยามได้เตรียมบ้านและจ่ายค่าเช่าให้ต่างหากทุกเดือนแยกออกจากเงินเดือน

บ้านหลังแรกในเมืองไทยนี้อาจารย์ศิลป์พำนักอยู่ราว 8 ปี พร้อมภรรยาและลูกน้อย 2 คน อีกทั้งยังมีแม่บ้าน ผู้ช่วยแม่บ้าน คนเลี้ยงเด็ก คนขับรถ และสุนัข

Advertisement

แม้จะเคยมีการบันทึกไว้ก่อนว่าบ้านหลังนี้อยู่ที่ใดแต่ไม่มีใครตามหาจริงจังว่าแท้จริงแล้วตั้งอยู่พิกัดใดแน่

เมื่อไม่นานมานี้ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ได้พบบ้านหลังแรกที่อาจารย์ศิลป์เคยอยู่และเผยแพร่ภาพผ่านโซเชียลมีเดีย จนเป็นที่สนใจและมีการจัดงานเปิดบ้านให้ผู้คนได้เข้าชมอย่างเป็นทางการ

ศิลป์ พีระศรี

Advertisement

ในรั้วบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านหลังที่กล่าวถึงนี้อยู่ใกล้สะพานซังฮี้ ตั้งอยู่ภายใน สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ปลูกอยู่ติดรั้วชนิดที่มองจากถนนก็เห็นตัวบ้านชัดเจน

ที่ดินผืนนี้เดิมเป็นบ้านของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินปลายถนนราชวิถีและเงิน 300 ชั่งให้สร้างบ้านพักอาศัย

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เดิมชื่อ “นพ ไกรฤกษ์” ดำรงตำแหน่งมหาดเล็กหลวงประจำห้องพระบรรทมในสมัยรัชกาลที่ 5 และยังมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมชาวที่ รับราชการอยู่ 3 แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7

โดยเมื่อถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นได้เป็นผู้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด จึงได้รับพระราชทานที่ดินเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปรับราชการ

บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ประกอบด้วย บ้านหลังใหญ่ และบ้านหลังรองลงมา 3 หลัง โดยบ้านหลังที่ 3 เป็นบ้านที่อาจารย์ศิลป์ได้เข้ามาพักอาศัยในเวลาต่อมา

ในการสร้างบ้านแต่ละหลังนั้น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภได้สั่งอาคารกระเบื้องเคลือบจากยุโรปเข้ามาแล้วแกะรูปแบบอาคารไปสร้างเป็นบ้านจริง แต่ละหลังจึงมีรูปแบบแตกต่างกัน

บ้านหลังใหญ่สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียนเรเนอซองส์โดยช่างก่อสร้างต่างประเทศชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เวลาก่อสร้างอยู่ 6 ปี วันที่ 13 มีนาคม 2448 ทำบุญขึ้นบ้านใหม่โดยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เสด็จเสวยพระกระยาหาร

ต่อมาในปี 2521 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน หลังจากนั้นสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบกได้เข้ามารับผิดชอบสถานที่และได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมมาโดยลำดับเพื่อให้อาคารคงไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

บ้านหลังใหญ่ของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
บ้านหลังใหญ่ของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

บ้านที่รอการค้นพบ

แม้จะเคยมีการบันทึกเรื่องสถานที่อยู่อาศัยของอาจารย์ศิลป์แต่ไม่เคยมีการติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ด้าน นิรันดร์ ไกรฤกษ์ อดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์และเป็นหลานของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เล่าความทรงจำที่มีต่อบ้านหลังนี้ว่า พ่อของเขาเป็นบุตรคนที่ 3 ของปู่ เขาจำได้แค่ว่าเมื่อตอนอายุ 5 ขวบเคยมางานศพคุณย่าช้อย ไกรฤกษ์ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของบ้าน จำได้เพียงเท่านั้น สุดท้ายที่จำได้คือคุณปู่ไปอยู่บ้านที่ซอยสมคิด แล้วภายหลังแยกย้ายกันไปอยู่แถวเอกมัย ตนเคยได้ยินมานานแล้วว่า อ.ศิลป์เคยอยู่แถวนี้เป็นบ้านเก่า แต่ไม่คิดว่าจะอยู่ที่นี่ซึ่งเป็นบ้านของปู่มาก่อน ซึ่งขณะนี้เป็นที่ของทางทหาร

ประสพชัย แสงประภา ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์คณะมัณฑนศิลป์ เล่าว่า ที่ผ่านมาหลายๆ คนจะเห็นภาพบ้านอาจารย์ศิลป์หลังแรกที่บันทึกไว้ในหนังสือ ได้ข่าวว่าอยู่แถวสะพานซังฮี้ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ตรงไหนก็ตามหากัน

“บ้านผมเองก็อยู่แถวนี้แต่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะอยู่ที่ตรงนี้เพราะเป็นเขตทหาร บังเอิญว่าวันนั้นนั่งรถเมล์ผ่านมาเห็นดูคลับคล้ายคลับคลา จึงกลับมาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นและถ่ายภาพลงเฟซบุ๊กว่าบ้านหลังนี้น่าจะใช่บ้านอาจารย์ศิลป์ จากการค้นคว้าหลักฐานพบว่าอาจารย์ศิลป์เคยเขียนเลขที่บ้านหลังนี้ว่า 395 ถนนราชวิถี จึงมั่นใจว่าใช่หลังนี้แน่” ประสพชัยกล่าว

ด้าน พ.อ.สนิท มีแสง สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เล่าว่า ทาง พล.ต.ฉมาวิทย์ สาตรรอด ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบกทราบข่าวเรื่องบ้านอาจารย์ศิลป์ผ่านทางเฟซบุ๊ก จึงให้ทหารไปติดต่อพูดคุยกับคุณประสพชัยและเชิญมาดูบ้าน

“ตอนแรกที่มาดูกันนั้นคิดว่าบ้านหลังนี้เพียงแค่คล้ายๆ ไม่เหมือนบ้านหลังในรูปภาพที่ทุกคนเคยเห็นนัก แต่เมื่อค้นหนังสือภาพบ้านหลังนี้ก่อนที่จะมีการซ่อมบำรุงในปี 2545 พบว่าเคยมีต้นไทรซึ่งล้มไปเมื่อปี 2552 โดยจุดที่เคยมีต้นไทรนั้นอยู่คนละด้านกับรูปภาพที่นำมาเปรียบเทียบ แท้จริงรูปบ้าน อ.ศิลป์ที่ทุกคนเคยเห็นนั้นเป็นภาพกลับด้าน เมื่อได้รับการสนับสนุนข้อมูลเพิ่มขึ้นจึงมั่นใจว่าอาจารย์ศิลป์เคยอาศัยอยู่ที่นี่จริงๆ จึงต้องการเผยแพร่เรื่องราวนี้ให้ทุกคนได้รับทราบ” พ.อ.สนิทกล่าว

ประสพชัย แสงประภา, นิรันดร์ ไกรฤกษ์, พ.อ.สนิท มีแสง
ประสพชัย แสงประภา, นิรันดร์ ไกรฤกษ์, พ.อ.สนิท มีแสง

เรื่องของนายฝรั่งครั้งอยู่บ้านที่ซังฮี้

เรื่องราวระหว่างที่อาจารย์ศิลป์และครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ชัยนันท์ ชะอุ่มงาม เคยบันทึกเรื่องราวที่เล่าโดย พิมพ์ รัตนพันธุ์ ลูกสาวแม่บ้านที่ทำงานให้อาจารย์ศิลป์ ตีพิมพ์ลง ข่าวสารช่างศิลป รุ่น 14/2508 ฉบับที่ 7 ศิลปีระศรี สรรเสริญ เมื่อปี 2551 จึงได้ตัดตอนนำบางส่วนมาเผยแพร่ต่อ

พิมพ์เล่าว่า ตอนนั้นอายุราว 10 ขวบ คุณพ่อได้พาไปอยู่บ้านนายฝรั่งที่ซังฮี้ โดยในบ้านมีนายผู้หญิง (เฟนนี วิเวียนนี) ที่เรียกว่า “แหม่ม” ลูกสาวคนโตอายุราว 8 ขวบ “เบบี๋” และลูกชายวัยเตาะแตะ “บีโน”

ครั้งหนึ่งบ้านนายฝรั่งถูกขโมยขึ้น นายจึงออกปากให้พิมพ์หาหมามาเลี้ยงเฝ้าบ้าน พิมพ์จับลูกหมามาได้หนึ่งตัว นายให้รางวัลมา 20 บาท หมาตัวนี้ฉลาดและน่ารักมาก เวลานายหรือแหม่มจะไปไหนหมาจะลุกลี้ลุกลนตามตะกายรถ นายจะลูบหัวพูดว่า “สบายๆ” หมาก็เข้าใจไม่ตามอีก บ่อยเข้านายจึงตั้งชื่อหมาว่า “สบาย” นายและแหม่มรักมันที่รู้หน้าที่และเฝ้าบ้านได้ดี

นายฝรั่งรักทุกคน ไม่เคยทะเลาะ โกรธ เกลียดใคร โดยเฉพาะถ้าผู้ใดสนใจทางศิลปะ นายจะส่งเสริมและสอนให้ด้วยความเต็มใจ และถึงขนาดต้องจ้างกันเรียนเลยก็มี ราคาค่างวดที่จ้างให้เรียนนั้น 20-25 บาท ในสมัยนั้นนับเป็นเงินจำนวนมาก เที่ยวงานรัฐธรรมนูญทั้งคืนทั้งวัน 1 บาทก็ใช้ไม่หมด

นายฝรั่งเป็นคนโอบอ้อมอารี และรักเด็ก เห็นเด็กไม่ได้เป็นต้องแจกเงิน คนละ 10 บาท 20 บาทเป็นประจำ แม้แต่พิมพ์เองก็ยังได้รับแจกอยู่เสมอ พอถึงวันคริสต์มาส พิมพ์ก็หาดอกไม้กำโตไปให้นายฝรั่งและแหม่ม ท่านก็จะชมว่าดีมากๆ และให้รางวัลแจกเงินค่าขนม

นายฝรั่งเป็นคนที่ขยันขันแข็งมาก ขนาดทำงานหนักที่ทำงาน กลับมาบ้านยังไม่หายเหนื่อยก็ตรงเข้าห้องทำงาน พอใกล้เวลาอาหารก็จะอาบน้ำอาบท่า ทานอาหารเสร็จจะนั่งพักอยู่สักครู่แล้วก็เข้าห้องทำงานต่อเช่นนี้ทุกวันเป็นนิจสิน วันหยุดราชการท่านก็ไม่พัก จะจ้างเด็กๆ หรือคนในย่านนั้นมาเป็นแบบปั้น พิมพ์เองก็เป็นแบบปั้นให้ท่านอยู่บ่อยๆ

พิมพ์เล่าว่า เกิดมาเพิ่งเคยจะเห็นคนดีๆ เช่นนี้ จะไม่มีวันลืมเลือนท่านได้เลยแม้แต่น้อย ท่านเป็นผู้ที่มีแต่ความเสียสละในหัวใจและชีวิตเพื่อการทำงานให้บ้านเมืองของเราอย่างแท้จริง โดยที่ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย นายไม่เที่ยวเตร่ ไม่ดื่มสุรายาเมา

นายพูดเสมอว่า “อยู่เมืองไทยสบาย พอมีกินมีใช้ก็มีความสุขแล้ว” ทั้งๆ ที่เมืองนอกของท่าน มีโรงงานใหญ่โตและร่ำรวย แต่นายฝรั่งยอมสละและเลือกที่จะทำงานด้านนี้ อีกทั้งยังรักที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้ความรู้แก่ทุกคนที่มีความรักและสนใจในงานศิลปะ

ผู้ที่สนใจต้องการเยี่ยมชมสัมผัสบรรยากาศ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง” ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และครอบครัวเคยอาศัยอยู่ สามารถเข้าชมได้ทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ณ สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ถ.ราชวิถี (ใกล้เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2849-7538

 พล.ต.ฉมาวิทย์ สาตรรอด ผอ.สนง.ตรวจสอบภายในทหารบก, พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผช.ผบ.ทบ, ผช.ศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี ม.ศิลปากร และฟรานเชสโค ซาเวริโอ นิสิโอ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ร่วมชมบ้านอาจารย์ฝรั่ง
พล.ต.ฉมาวิทย์ สาตรรอด ผอ.สนง.ตรวจสอบภายในทหารบก, พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผช.ผบ.ทบ, ผช.ศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี ม.ศิลปากร และฟรานเชสโค ซาเวริโอ นิสิโอ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ร่วมชมบ้านอาจารย์ฝรั่ง

ศิลป์ พีระศรี

ศิลป์ พีระศรี

09

10

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image