ย้อนอ่าน บทสัมภาษณ์ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ฝันปลดปล่อย ‘คราฟต์เบียร์’

เมื่อครั้งเกิดกระแสในโซเชียลฯ ประเด็นคราฟต์เบียร์ ราว พ.ศ.2560 มติชนรายวัน เคยสัมภาษณ์ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ในฐานะหนุ่มผู้ผลักดันคราฟต์เบียร์ และบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มาวันนี้ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ส่อว่า เท่าพิภพ คือ ว่าที่ ส.ส. กทม.เขต 22 ธนบุรี

‘มติชนออนไลน์’ ขอย้อนนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาให้ทำความรู้จักผู้ชายคนนี้อีกครั้ง ดังต่อไปนี้

เป็นข่าวฮือฮาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว เมื่อสื่อหลายสำนักรายงานว่า “หนุ่มนิติ ม.ดังต้มเบียร์ขาย” เขาคนนั้นคือ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร บัณฑิตหนุ่มจากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วัย 28 ปี

Advertisement

ข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพสามิต ตรวจที่อาคารพาณิชย์ขนาด 3 ชั้น 1 คูหา พบเท่าพิภพขณะกำลังแบ่งจำหน่ายเบียร์ที่ผลิตขึ้นเองให้กับลูกค้าอยู่ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อเข้าจับกุมพร้อมเบียร์เถื่อนที่ผลิตขึ้นเอง ส่วนชั้น 2 เป็นห้องหมักส่วนผสมเบียร์ และมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อให้เบียร์ที่หมักได้มีอุณหภูมิคงที่ ส่วนที่ชั้น 3 พบเป็นห้องสำหรับต้มเบียร์

“เป็นคนชอบดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ จึงได้ลองผสมหมักเบียร์ทำดู โดยคิดค้นสูตรเองขึ้นทั้งหมด และได้หาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ พร้อมส่วนผสมทำเบียร์มาหมักดื่มชิมเองก่อน หลังปรุงแต่งอยู่นานจนได้รสชาติที่กลมกล่อมดีแล้ว จึงนำออกมาลองขายให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่รู้จักกัน พร้อมให้เพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องได้ชิม จนรสชาติเป็นที่ยอมรับ และวันนี้เพิ่งจะได้ทดลองนำออกมาขายในราคาขวดละ 150 บาทเป็นวันแรก แต่ก็มาถูกจับเสียก่อน”

เขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดข้อหาทำสุราหรือมีเครื่องกลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำหน่ายสุรานั้น ปัจจุบันคดีสิ้นสุดตามกระบวนการ ศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน แต่เป็นการทำผิดครั้งแรก รอลงอาญา 1 ปี และเสียค่าปรับอีกนิดหน่อย

Advertisement

จากกรณีของเท่าพิภพ ทำให้โลกออนไลน์ล่ารายชื่อ ให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย เหมือนอย่างในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่ไม่มีการผูกขาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย

ทีมข่าวเฉพาะกิจมีโอกาสพูดคุยกับ “เท่าพิภพ” โดยสถานที่นัดพบกันวันนั้นคืออาคารพาณิชย์หลังดังกล่าว ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบาร์และที่ต้มเบียร์ของ “เท่า”

– หลังเป็นข่าวแล้ว ชีวิตเป็นอย่างไร?

ไม่แย่มาก ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ มีคนรู้จักเราเยอะขึ้น สนใจเราเยอะขึ้น ตอนนี้ทำเสื้อขายหาเงินไปทำเบียร์เมืองนอก แล้วก็หาเงินทำบาร์ ตอนนี้เดินสายสัมภาษณ์ วางแผนว่าต่อไปจะทำยังไงดี เพราะนี่เป็นอาชีพได้แล้ว มีคนสนใจ ต้องใช้โอกาสนี้ดำเนินการต่อไป

ส่วนมากเป็นเพื่อนๆ ญาติพี่น้องต่างมาให้กำลังใจ ให้สู้ต่อ ทำต่อไป มีนักลงทุนเข้ามาคุยบ้าง

กระแสสังคมที่มีเข้ามา? ผมยอมรับในความคิดเห็นของทุกคน เชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิแสดงออกในการแสดงความคิดเห็น บางคนไม่ได้ชื่นชมกับการทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่ชื่นชมในสิ่งที่ผมทำ บางคนอาจไม่ชอบเพราะผมทำผิดกฎหมาย แต่ผมก็เปิดรับฟังและเคารพความคิดเห็นของทุกคน ที่ผมทำเบียร์ก็เพื่ออยากให้ทุกคนมีทางเลือกในการเลือกกิน เราต้องยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลาย ถ้าเรายอมรับได้ อะไรหลายๆ อย่างมันอาจจะไม่ได้แย่

– ความสนใจที่มีต่อการดื่ม?

ประมาณ 5 ปีแล้ว ตอนนั้นไปกินอยู่ที่นิวยอร์กและคิดว่าเป็นเครื่องดื่มที่กินให้อร่อยได้ ทำให้อร่อยได้ ไม่เหมือนเบียร์ที่เคยกิน รู้สึกประทับใจและเริ่มศึกษามาเรื่อยๆ กระทั่ง 3 ปีที่แล้วก็ได้ทำครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้ทำตลอด เก็บเงินได้ก็ทำ

ดื่มสะสมประสบการณ์ สั่งสมความรู้มาเรื่อยๆ มีเบียร์เป็นหมื่นเป็นล้านตัว เราก็ทยอยกินไป จริงๆ ถ้ากินคราฟต์เบียร์จะรู้ว่าแทบจะไม่ซ้ำเลย กินไปเรื่อยก็มีเบียร์ใหม่มาเรื่อยๆ เราตามกินไม่ทันหรอก

แก้วแรกที่ดื่มตอนประมาณ 3-4 ขวบมั้งครับ พ่อให้ลองกินดู พอรู้ว่าขม ก็ไม่ชอบ ไม่ได้แอบกินอีก เขาเล่าว่าตอนนั้นผมเมาแล้วก็กลิ้งตกบันได

โตมาแล้วก็ดื่ม ส่วนแพสชั่นน่าจะมาจากการที่เราชอบดื่ม และคิดว่าเราน่าจะหางาน หาอะไรจากมันได้ เพราะมันมีอาชีพนะ เลยไปทำงานที่บาร์ คราฟต์เบียร์บาร์ ซึ่งทำให้ได้กินหลายชนิดขึ้น ได้แนะนำลูกค้า ชอบที่ได้อยู่หลังบาร์และให้ความรู้ แนะนำเบียร์ว่าแต่ละตัวเป็นอย่างไร

– ตอนไปนิวยอร์กได้ทำอะไรบ้าง?

ไปเที่ยวเล่น ได้ตั๋วฟรี ไปกับพี่ชาย ได้เห็นโลก ได้เห็นอะไรที่แตกต่าง

ตอนนั้นยังไม่มีความคิดว่าจะทำ Home Brewing แต่ก็จุดประกายว่าเบียร์มีอย่างอื่น เมื่อกลับมาแล้วพอมีเบียร์นอกนำเข้าก็กินไป พบความแตกต่าง มีความคล้ายคลึงกับไวน์ที่มีหลายอย่าง ค้นหาไปเรื่อยๆ เริ่มเป็นแฟนของแบรนด์ต่างๆ ก็สนใจ มันมีเรื่องราวของมันเอง เลยชอบที่จะทำอย่างนั้น

มีแบรนด์หนึ่งชื่อ Mikkeller Bangkok เป็น Danish brewer เป็นยิปซีคือไม่มีโรงต้ม แต่ต้มไปเรื่อย แล้วเขามีบาร์อยู่หลายประเทศ ไทยเป็นที่แรก ที่เขาเลือกไทยเพราะว่าไม่มีวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ หากไปประเทศที่เขาดื่มคราฟต์เบียร์อยู่แล้ว มันก็ไม่ท้าทาย วงการค้าเบียร์มันต้องทำอะไรที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ นี่เขามาตั้งอยู่กรุงเทพฯ มีสัญลักษณ์คล้ายมือพนม ส่วนที่กรุงโซลประเทศเกาหลีก็มีสัญลักษณ์เป็นชายหญิงใส่ชุดฮันบก แกก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เราก็อยากอยู่ระดับเดียวกับเขาบ้าง ก็เลยเริ่ม เพราะถ้าฝันไกลขนาดนั้นแล้วเราไม่เริ่ม ก็ไม่มีทาง

– ทำไมตอนเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนกฎหมาย?

ตอบเอาเท่หรือเอาห่วยดี (หัวเราะ) จริงๆ เอ็นทรานซ์คณะไหนไม่ติด นอกจากนิติศาสตร์ ตอนแรกจะเข้าคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. แต่เข้าไม่ได้ เพราะคะแนนคณิตศาสตร์ห่วย

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าระบบไม่ดี คัดกรองคนยังไงก็ไม่รู้ เด็กอยากเรียนอะไรก็ไม่ได้เรียน คือถ้าไม่เลือกนิติศาสตร์ก็ไปเรียนภาษาอังกฤษ อย่างถ้าผมเลือกเรียนมนุษยศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ คงได้ที่ 1 ของคณะ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียนภาษาอังกฤษไปเพื่ออะไร เพราะสื่อสารได้อยู่แล้ว จึงเลือกอะไรที่เป็นวิชาชีพดีกว่า

ตอนเรียนไม่ชอบเลยนะกฎหมาย แต่พอเรียนไปแล้วก็ชอบ คงเพราะความเป็นธรรมศาสตร์ด้วย ตอนเรียนได้ทำกิจกรรมเยอะ ชอบค่ายสร้าง อยู่ป่า เป็นแพสชั่นในการอยู่ป่า ผมชอบชีวิตกลางแจ้ง อยู่ต่างจังหวัด จบมาก็ไปอยู่ต่างจังหวัด เป็นนิติกรของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เคยเป็นทนายในคดีหนึ่ง มีลุงแก่ที่ใส่รองเท้าขึ้นมาแล้วจะโดนยึดที่จากสัญญาของบริษัทที่เราเป็นตัวแทน ลุงแกจะสาบานตัวเองว่าจะพูดความจริง แต่แกอ่านหนังสือไม่ออก ตอนนั้นคิดว่าลุงเซ็นชื่อได้ยังไง เกิดความรู้สึกว่าเราทำงานให้อะไรอยู่ ได้เงินก็จริง … เงินเดือนนั้นน่าจะเป็นเงินเดือนที่เยอะที่สุดของการทำงานมาตลอดชีวิต

– ในประเทศไทยก็มีหลักสูตรที่เปิดสอนการต้มเบียร์?

ก็อยากเรียน แต่อยากไปเรียนต่างประเทศมากกว่า เดี๋ยวนี้เรียนในประเทศไม่พอแล้ว ซึ่งการไปต่างประเทศจะทำให้เราได้เครือข่ายที่กว้างขึ้น

ม.อัสสัมชัญ มีสอนที่คณะเทคโนโลยีการอาหาร แต่ถามว่าเบียร์เป็นแพสชั่นของเด็กมัธยมหรือเด็กมหาวิทยาลัยไหม? ตอนอยู่มัธยมไม่มีใครรู้หรอกว่ามันมีอาชีพนักต้มเบียร์ ไม่ได้ชอบเบียร์ ไม่รู้ว่าเป็นอาชีพได้

ตอนโดนจับคิดว่าอยากย้ายประเทศ เรามีเพื่อนอยู่ต่างประเทศเยอะมากซึ่งเป็นคนที่ทำอย่างนี้เหมือนกัน โฮม บรูว์ ธรรมดา พอเขารู้ข่าวแล้วช็อกยิ่งกว่าประเทศเรามีรัฐประหารอีกนะ

– ครอบครัวมีความเห็นอย่างไรบ้าง?

เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาให้อิสระกับเรามาก พ่อให้อิสระ แต่แม่ก็จะคุมบ้าง เราก็จะอธิบายเหตุผลต่างๆ ว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้เพราะอะไร สุดท้ายก็คุยกันด้วยเหตุผลว่าได้ไม่ได้ แล้วเขาเลี้ยงเรามา ไม่ใช่หน้าที่เขาต้องดูแลชีวิต เหมือนเขาให้กำเนิดชีวิตเราแล้ว ตอนนี้เขาก็หมดหน้าที่ เขามีทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการศึกษาให้เราแล้ว อย่างอื่นเขาก็ไม่ยุ่ง เราเองก็เรียนรู้ว่าทุกอย่างที่หาด้วยตัวเองตลอด เขาก็จะมายุ่งไม่ได้

การที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ทำอะไรก็ได้ แล้วมันดีกว่าเสมอที่เขาเปิดโอกาสให้ผมทำอะไรเอง ผลลัพธ์มันออกมาดีกว่าเสมอ เลยรู้สึกว่าเขาไม่ได้คิดว่าอะไร จะเป็นยังไง

– ถือเป็นหนึ่งในคนทำคราฟต์เบียร์ แต่โดนจับที่เมืองนนท์ ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของคราฟต์เบียร์?

จริงๆ มันก็มีไม่กี่ยี่ห้อ แต่โดนเยอะสุดแล้ว โดนที่เมืองคราฟต์เบียร์ ถ้าตอนแรกไม่โดนจับคนก็ไม่รู้ว่าคราฟต์เบียร์มี คนทำเบียร์ได้นะ หลังจากวันนั้น พ่อผมผลิตคอนเทนต์ในเฟซบุ๊กรัวๆ เลย แกเคยไปเรียนเยอรมนี เขาก็ปลูกฝังมาว่าเบียร์ที่เยอรมนีมีเยอะมาก ที่นั่นเบียร์ไม่เสียภาษีเพราะนับว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่ง

จากการที่พ่อได้ไปเรียนที่นั่น ทำให้ผมพูดภาษาเยอรมันได้ก่อนภาษาอังกฤษ เขาสอนผมนับเลขเป็นภาษาเยอรมันได้ก่อนภาษาอังกฤษอีก ตอนเด็กๆ ที่บ้านพูดกันประมาณ 6 ภาษา มีลาว ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีนกลาง จีนแต้จิ๋ว ทำให้โตมาแบบยอมรับความแตกต่าง เขาให้เรียนรู้ความแตกต่าง ไม่ดูถูกคนจน เราเรียนรู้ว่าในโลกนี้เราไม่ได้อยู่คนเดียว เราต้องเห็นคนอื่นด้วย

– หลังเป็นข่าวแล้ว มีคนยื่นความช่วยเหลือมาให้?

เยอะ กำลังใจหลั่งไหลมา มีนักลงทุนหลายเจ้าที่สนใจ แต่รู้สึกว่าบางคนเข้ามายังไม่รู้จักคราฟต์เบียร์ด้วยซ้ำ บางคนก็อาจฉวยโอกาส ซึ่งเราอยากทำเอง เราไม่อยากทำเพื่อความรวยอย่างที่เขาคาดหวัง อยากพึ่งระบบคราวด์ฟันดิ้ง แบบทุกคนมาช่วยมากกว่า

ตอนนี้หวังว่าจะไปให้ไกลที่สุด เพราะว่าการตั้งโรงเบียร์อยู่ในอเมริกา แม้ประเทศจะเอื้ออำนวย รสนิยมของผู้คนจะเอื้ออำนวย เริ่มมาเกิดขึ้นวัน 5 โรง ปิดไปวันละ 4 โรง ถ้าเอาอัตราส่วนนี้โอกาสที่ธุรกิจอยู่รอดคือ 20% ก็หวังว่าอยู่ได้ อยากทำธุรกิจที่ชอบให้นานที่สุด ถ้ามันเป็นธุรกิจ เป็นงานแล้ว มีคนต้องรับผิดชอบ เราก็ต้องทำได้ ถ้ามาขนาดนี้ก็ทำได้ ทำไม่ได้ก็เอาใหม่อยู่ดี

ทุกคนได้รับรู้เรื่องราวของผมแล้ว ทุกคนจะเดินไปกับผมหรือเปล่า เลยอยากให้มันเป็นคราวด์ฟันดิ้ง คนอยากกินเบียร์ก็อาจจะเขียนสูตร แล้วช่วยระดมทุนเข้าศูนย์ เท่าไหร่ก็ว่ากันไป แล้วก็ไปทำ คนพวกนี้ก็ได้ชิมเบียร์ก่อน

– มองกฎหมายบ้านเราหน่อย?

ในเมื่อเพื่อนบ้านเราเสรีกันหมดแล้ว คิดว่าควรมีการแก้ไขไหม แต่ก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจว่าเขาเป็นอย่างไร หลายภาคส่วนต้องมาคุยกัน กรณีนี้ก็เหมือนไม้ขีดที่จุดแล้วมอดไป แต่จะมีฟืนมาต่อหรือเปล่าก็ต้องช่วยกันระดมฟืนไฟ

มันเปลี่ยนแปลงได้ถ้าทุกคนมีทิศทาง แนวทางที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นและสถานการณ์ที่ดีพอ มีแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน ถ้าตั้งคำถามว่าอยากกินเบียร์อื่นบ้างไหม ก็ลองดู ผมว่ามันก็เปลี่ยนได้

ส่วนการล่ารายชื่อก็ส่วนหนึ่ง แต่ข้อสุดท้ายมันมีการโต้แย้งอะไรได้ทุกอย่าง แต่ข้อเสนอเราแข็ง มีคนทำข้อเสนอแล้วจริงๆ หรือเปล่า ข้อเสนอเป็นอย่างไร ก็ต้องช่วยกันดู ตัวผมเองก็สนับสนุนให้ทำเบียร์ถูกกฎหมาย แต่สุดท้ายมันมีอะไรหลายๆ อย่างในประเทศนี้ที่ทำได้ยากหรือเป็นอุปสรรคอยู่ ก็ต้องคุยกันว่าเราพร้อมจริงไหม ทำอย่างนี้ได้ไหม มอมเมาเยาวชนหรือเปล่า ต้องมีการให้การศึกษา

บางทีเราก็รู้ว่ากฎหมายบริบทมันเป็นอย่างไร กฎหมายบางอย่างก็ไม่ยุติธรรม ผมเองไม่คิดว่าการทำคราฟต์เบียร์นั้นผิด ก็เลยรู้สึกว่าทำอะไรได้บ้างกับสิ่งนี้ ก็ลองทำมาเรื่อยๆ คิดว่าจะสร้างผลกระทบหนึ่งในสังคมซึ่งมันกระเพื่อมไปแล้วแหละ จริงๆ อยากให้การต้มที่บ้าน (Home Brewing) เป็นสิ่งถูกกฎหมายเราก็พอใจแล้ว

ถ้าอยากเปลี่ยนแปลง มันต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อนล่ะ เบียร์ก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงก็ได้

เท่าพิภพ04


ก่อนมาเป็น Home brewer

เคยทำงานหลายอย่าง ทำร้านเหล้า เฝ้าร้านเกม เราทำงานแต่เด็ก แต่นี่ (นิติกร) เป็นงานที่ได้เงินเดือนเยอะสุด แต่คิดว่าให้คนอื่นทำดีกว่า เราคงไม่ใช่ เพราะไม่สามารถเอาความรู้สึกออกจากเคสของเราได้

หลังจากนั้นก็ออกมาทำงานฟรีแลนซ์ เที่ยวเล่นอยู่พักหนึ่ง ใช้ชีวิตห่วยๆ ถูกๆ ไป ระหว่างนั้นคิดว่าตัวเองเก่งภาษาเลยไปเรียนไกด์ อบรมอยู่ 10 เดือน จนได้ใบอนุญาตมาก็ทำทัวร์ ระหว่างนั้นก็ทำไกด์ด้วย เป็นฟรีแลนซ์

มีครั้งหนึ่งไปอยู่ใต้ 1 ซีซั่น เป็นไกด์ดำน้ำตามเกาะสิมิลัน เกาะตาชัย จะหมดซีซั่นก็มาที่กรุงเทพฯ พอดีบาร์มิคเคลเลอร์เปิดรับสมัครพอดี เลยไปสมัคร เพราะอยากทำงานที่นี่นานแล้ว มีคนรู้จักทำงานอยู่ที่นี่ เลยทำ ถูพื้น กวาดพื้น ล้างห้องน้ำ พยายามทำทุกอย่าง เพราะอยากอยู่ใกล้มันมากๆ เลยเพิ่มความรู้ มีเวลาว่างก็ศึกษาเรื่องเบียร์ไปเรื่อยๆ

การเป็นไกด์คือได้แลกเปลี่ยน ได้เห็นโลกภายนอก เห็นวัฒนธรรม ได้ท้าชีวิต

ครั้งหนึ่งเคยลากศพคนตายขึ้นมาจากน้ำ ทำให้รู้สึกว่าเราจะตายตอนไหนก็ได้ ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเราเยอะ มีทั้งความสวยงามและอันตราย อยู่ที่เราว่าจะได้สัมผัสมันในด้านไหน มีคนนิ่งๆ ไป

แต่ผมก็เล่นฟรีไดรฟวิ่ง คือดำน้ำแบบไม่มีแทงก์ออกซิเจน ดำลงไป 20 เมตร ขึ้นมาแล้วเพื่อนก็บอกว่าลงไปทำไม แถมไปคนเดียวด้วย เพราะถ้าอากาศไม่พอมันก็จะน็อกไป ถือว่าใกล้ความตายที่สุดแล้ว รู้สึกว่าชีวิตคนเรามันก็แค่นี้ ใช้ให้คุ้ม เพราะว่าวันหนึ่งไม่มีอะไรมาทำให้เราตาย เราก็ทำให้ตัวเองตายอยู่ดี ก็เลือกเอา ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไงมันก็ต้องลอง

ตอนนั้นรู้สึกว่าถูกบีบอัด แต่มันก็ต้องฝึก คือเราไป-กลับ 40 เมตร โดยใช้อากาศหายใจเดียว ถือว่าสุดแล้วชีวิต

ทุกอย่างในชีวิตสุดตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image