“ทีดีอาร์ไอ” ไขปมอันดับโปร่งใสร่วง ‘สมเกียรติ’ เชื่อไทยไม่แย่อย่างที่ถูกมอง แต่ไม่ได้โปร่งใสกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ มีการแถลงข่าวหัวข้อ “ปัญหาและทางออกกรณีดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชั่นของไทย”

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า คำสำคัญคำแรกของดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชัน ก็คือ “การรับรู้” ซึ่งแปลว่าเป็นเรื่อง “ภาพลักษณ์” แต่จะมีความจริงอยู่ข้างหลังมากน้อยเพียงใด ถือเป็นเรื่องซับซ้อน อย่างไรก็ตาม การต่อต้านคอร์รัปชัน และเรื่องความโปร่งใสนั้น บางครั้งภาพลักษณ์ก็สำคัญไม่แพ้ความจริง

การที่อันดับซีพีไอ หรืออันดับความโปร่งใสของไทยลดลง โดยอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ คะแนนเหลือ 35 เต็ม 100 ในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา คะแนนของไทยมีช่วงที่เพิ่มขึ้นและกลับลดลงมาอีก อันดับเคยขยับขึ้นไปเล็กน้อย สุดท้ายก็ตกลงมา ถ้าพูดในช่วงสั้นๆ คือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งกลางปี 2557 จะเห็นว่าการประเมินซีพีไอ เป็นการประเมินและบอกว่าปีที่แล้วเป็นอย่างไร จะเห็นว่า ในปี 2557 คะแนนขึ้นและคงอยู่เช่นนั้นในปี 2558 แต่เมื่อถึงปี 2559 ที่ผลเพิ่งออกมา คะแนนตก แปลว่าสิ่งที่รัฐบาลทำในช่วงแรก โดยสร้างภาพลักษณ์การรับรู้เรื่องความโปร่งใสเพิ่มขึ้น  แต่สำหรับปี 2559 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คะแนนตกลงมา พูดง่ายๆคือ ในสายตาต่างประเทศนั้น ช่วงแรกสามารถยกระดับให้ไทยดูโปร่งใสเพิ่มขึ้น แต่พอบริหารประเทศไป 2-3 ปี ก็กลับมาสู่จุดตั้งต้น

อันดับร่วงกรูด เหตุคะแนนสูสี

ประเด็นที่น่าสังเกตคือ คะแนนลดลงแค่ 3 แต่ตกลงไปถึง 25 อันดับ เพราะในช่วงอันดับใกล้ๆกับไทยนั้น คะแนนสูสีกันมาก เสียคะแนนไปนิดเดียว อันดับจึงรูดลง สิ่งสำคัญที่น่าศึกษา คือ เรื่องของการที่อันดับและคะแนนของไทยแย่ลง เป็นเพราะภาพลักษณ์แย่ลง หรือความเป็นจริงแย่ลงด้วย  ซึ่ง 2 เรื่องนี้พิจารณาได้ยากมาก เพราะการคอร์รัปชัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงไม่มีข้อมูลทางการที่บอกได้อย่างถูกต้อง แต่ต้องวัดด้วยความรับรู้ ซึ่งเป็นอัตวิสัย

Advertisement

หน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้คือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)ก็ประสบปัญหาความยากลำบากนี้ จึงพยายามพัฒนาวิธีการวัดอยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การวัดการมีคอร์รัปชั่นมากหรือน้อยในแต่ละประเทศ เป็นเรื่องความรู้สึก เลยใช้วิธีเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆให้มากที่สุด แล้วเอาคะแนนมาเฉลี่ย เพื่อไม่ให้คะแนนแกว่งเกินไป ปัจจุบันมีข้อมูล 13 แหล่ง กรณีประเทศไทย มีข้อมูลที่ใช้ได้ 9 แหล่ง  ด้วยวิธีการเช่นนี้ วิธีการของแต่ละประเทศ จะเปลี่ยนตามแหล่งข้อมูล วิธีการวัดไม่ได้เปลี่ยน แต่แหล่งข้อมูลอาจเปลี่ยนไปในแต่ละปี อีกทั้งแหล่งข้อมูลที่ใช้วัดในแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเปรียบเทียบจึงไม่ได้อยู่บนฐานเดียวกันจริงๆ

สมเกียรติ02
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

“แหล่งข้อมูลใหม่” ให้ผลต่างจากเดิม

ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า แหล่งข้อมูลที่ถูกนำมาใช้กับไทย ในปี 2559 มีแหล่งข้อมูลแหล่งใหม่ที่ใช้วัดเป็นครั้งแรก คือ Variety of democracy หรือ ความหลากหลายด้านประชาธิปไตย คะแนนในหมวดนี้ ค่อนข้างแย่ ได้เพียง 24 คะแนน จึงเป็นส่วนที่ฉุดผลคะแนนของไทย เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยดีขึ้นหรือแย่ลง คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้ ประเด็นที่น่าสังเกตคือ การวัดโดยเอาแหล่งใหม่มาใช้ แล้วให้ผลที่แตกต่างจากแหล่งข้อมูลเดิมมาก

Advertisement

จะเห็นได้ว่าการวัดความโปร่งใสของไทย และประเทศอื่นๆ โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินั้น แหล่งข้อมูลต่างๆ มีที่มาไม่เหมือนกัน เช่น แหล่งข้อมูลที่ใช้วัดความสามารถในการแข่งขัน จะสำรวจความเห็นของนักธุรกิจเป็นหลัก และมีแหล่งข้อมูลอื่นๆอีกหลายตัว ที่สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญ อีกส่วนหนึ่งเป็นการให้คะแนนเอง เข้าใจว่าเป็นความเห็นของผู้ประเมินเอง

“เรื่องของคอร์รัปชั่น ถึงไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเป็นภาพลักษณ์ก็ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ภาพลักษณ์สำคัญไม่น้อยกว่าความจริง อีกทั้งภาพลักษณ์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย ผู้ประเมิน เห็นว่าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีโอกาสคอร์รัปชันได้มากกว่า เพราะไม่มีองค์กรที่มาตรวจสอบอำนาจรัฐ คะแนนตกลงได้ ภาพลักษณ์ลดลงได้ ไม่ว่าการคอร์รัปชั่นลดลงหรือเพิ่มขึ้น การตั้งข้อเชื่อมโยงแบบนี้ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร เพราะแทบไม่มีประเทศไหนที่โปร่งใส หรือคอร์รัปชั่นน้อยได้หากไม่เป็นประชาธิปไตย มีประเทศประชาธิปไตยจำนวนมาก ที่มีคอร์รัปชั่นมาก เพราะระบบตรวจสอบไม่ดี ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยบางแห่ง คอร์รัชั่นน้อย เพราะทั้งมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย และเป็นประชาธปไตยด้วย แต่ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยากมากที่ระดับคอร์รัปชันน้อย” ดร.สมเกียรติกล่าว

เผย “องค์กรความโปร่งใสสากล” ชี้รัฐปิดกั้นการแสดงออก-ประชาชนถูกขัง ทำไทยคะแนนต่ำ

ดร.สมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า ทยอาจจะไมได้แย่เท่ากับที่ถูกมอง แต่ไม่ได้หมายความว่าโปร่งใสมากขึ้นกว่าในอดีต มีข้อสังเกตว่าถ้าไทยอยากเป็นประเทศพัฒนา เป็น ไทยแลนด์ 4.0 ในอดีตอย่างน้อยเท่าที่เคยศึกษามา ไม่มีประเทศใด จะเป็นประเทศพัฒนาไปได้ ถ้าคะแนนต่ำกว่า 40 จะเห็นว่า ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีคะแนนที่สูง โดยเฉพาะสิงคโปร์ อีก 2 ประเทศก็คะแนนสูงขึ้นเรื่อยๆ กรณีประเทศไทย ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังไม่เคย สูงถึง 40 เลย

“ถ้าไทยยังคะแนนต่ำกว่า 40 อย่างนี้ ต่อให้ตัดบางตัวที่คิดว่าคลาดเคลื่อนออกไป คือ ไม่เชื่อว่าเขาวัดถูก ไทยก็ยังไม่ถึงจุดที่จะก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ดี องค์กรความโปร่งใสสากล บอกว่า ทำไมคะแนนของไทยต่ำลง นั่นคือ ไทยมีปัญหาที่รัฐบาลเข้าไปปราบปราม ปิดกั้นการแสดงความเห็น การไม่มีหน่วยงานอิสระเข้าไปตรวจสอบการทำงาน แม้ว่ารัฐธรรมูญฉบับใหม่จะให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ฝ่ายค้านถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และประชาชนก็ถูกกักขัง” ดร.สมเกียรติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image