ทำไมคุณถึงไม่เงียบ? Ep.2สามารถ ราชพลสิทธิ์’เบอร์หนึ่งฝ่ายค้านคมนาคมไทย’

Ep.1 (คลิกที่นี่) Ep.3 (คลิกที่นี่)

อีกหนึ่งบุคคลการเมืองที่มีบทบาทในการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะการทำงานของรัฐบาล “สามารถ ราชพลสิทธิ์” อดีตรองผู้ว่าฯกทม.และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง และปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา สาขาการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง จากญี่ปุ่น

หลังรัฐประหาร รัฐบาล คสช.พยายามผลักดันโครงการด้านการคมนาคมจำนวนมาก กล่าวได้ว่า “สามารถ” คือผู้ที่จุดประเด็นตั้งคำถาม จนทำให้รัฐบาลต้องปรับลดงบประมาณ หรือแก้ไขรูปแบบการดำเนินโครงการ อาทิ โครงการรถไฟไทย-จีน และอีกหลายเรื่อง ที่ทำให้สังคมจับจ้องการทำหน้าที่ของรัฐ เช่น โครงการจัดซื้อขบวนรถแอร์พอร์ตลิงก์ หรือกรณีล่าสุดคือแอร์พอร์ลิงก์นอตหลุด

ในยุคที่หลายคนเงียบเพื่อให้กำลังใจ เงียบเพราะสนับสนุน เงียบเพราะเบื่อ เงียบเพราะไม่อยากให้เกิดขัดแย้ง หรือแม้แต่เงียบเพราะถูกทำให้เงียบ ถือเป็นโอกาสดีในการเข้าไปพูดคุยกับเขา ด้วยคำถามง่ายๆ เช่นเดิม ทำไมคุณถึงไม่เงียบ?

Advertisement

-นักการเมืองว่างงานมาแล้วสามปีตอนนี้คุณทำอะไรอยู่

ผมทำงานในสิ่งที่ผมถนัดคือผมเป็นที่ปรึกษาบริษัทด้านวิศวกรรม บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เป็นประธานกรรมการบริษัท

-แต่ยังสนใจปัญหาการเมืองสังคม

Advertisement

ผมสนใจเรื่องการพัฒนาประเทศ การพัฒนาการจราจรและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง

-มีบทบาทโดดเด่นในการออกมาตั้งคำถามเรื่องนโยบายการพัฒนาของรัฐหลายครั้ง

ผมต้องการทักท้วงเพื่อให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมคิดว่าท่านนายกฯอยากทำสิ่งที่ดี แต่อาจจะมองไม่เห็นปัญหาบางสิ่งบางอย่าง หรือมองไม่ทั่วถึง สิ่งไหนที่เราเป็นหูเป็นตาได้ก็พร้อมที่จะช่วย สิ่งที่ผมติดตามคือเรื่องเกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ผมทักทวงมาตลอดก่อนที่จะมีรัฐบาลนี้เสียอีก ในช่วงรัฐประหารใหม่ๆ มีการพูดถึงเรื่องรถไฟไทยจีน เรื่องค่าก่อสร้างที่แพงมาก ขนาดราง 1.435 เมตร และไม่ได้เป็นความเร็วสูงด้วย เป็นความเร็วปานกลาง แต่ทำไมราคาแพงมาก ซึ่งทางรัฐบาลก็รับฟัง จนมีการปรับแก้เรื่องงบประมาณในช่วงหลัง

เวลาผมเขียนวิจารณ์ จะมีอยู่สามกลุ่มหลักที่ผมเขียนคือ 1.เรื่องความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะรถไฟฟ้า-แอร์พอร์ตลิงก์ 2.เรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น 3.เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนความคุ้มค่าและปัญหาทางเทคนิค ที่ผมต้องออกมาพูดเกิดจากความห่วงใยในนโยบายของรัฐ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ ถามว่าเรื่องทุจริตน่าห่วงไหม ก็ตอบว่าน่าห่วง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับรถไฟฟ้าและการประมูลที่ผมเคยพูดไป การล็อกสเปกการเอื้อประโยชน์มีการดำเนินการที่แยบยลมากขึ้น ถ้าคนไม่อยู่ในวงการยากที่จะรู้

-พอจะเล่าขยายให้ฟังได้ไหม

เรื่องที่ผมเขียน เช่น รถไฟทางคู่ ที่จะเอาเงินให้เอกชนไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือมาใช้ในการก่อสร้างและมีการวางสเปกเป็นการส่อว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตรายหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีผู้ผลิตหลายรายสามารถผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านั้นได้ ซึ่งถ้าคนไม่รู้เรื่องไม่สามารถทำได้

-เรื่องไหนที่สนใจเป็นพิเศษและพอตั้งคำถามไปแล้ว มีการตอบรับ มีการแก้ไข

ถ้าเรื่องที่ตั้งคำถามไปแล้วได้รับการตอบรับ คือเรื่องการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เจ็ดขบวน ขบวนละสี่ตู้ ทั้งหมด 28 ตู้ คำถามที่ผมเปิดเผยว่าการซื้อของเรา เปรียบเทียบกับมาเลเซีย ทำไมมาเลเซียซื้อจากบริษัทจีนซึ่งเป็นบริษัทเดียวกัน แต่ทำไมเขาได้ราคาถูกกว่าเรา ตู้ละประมาณ 95 ล้านบาท รวม 28 ตู้เป็นเงิน 2,660 ล้านบาท ผมถามว่าทำไมแพงกว่าล่ะ ท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็บอกว่า สามารถชี้แจงได้ เพราะสเปกเราดีกว่าเหนือกว่า ปรากฏว่าจากการตรวจสอบก็ใกล้เคียงกัน บางรายการของมาเลเซียดีกว่า บางรายการของเราก็ดีกว่า ก็ดีใจที่ผู้ใหญ่สั่งให้หยุดโครงการนี้ ในความเป็นจริงแล้วผมไม่ต้องการให้หยุด เพราะผมเข้าใจว่ามันจำเป็นต้องมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มขึ้น แต่ผู้ใหญ่ฟันธงเลยว่าไม่จำเป็นต้องซื้อ ก็แสดงว่าผู้ใหญ่ให้ความสนใจขึ้นมา แสดงให้เห็นชัดว่ามันมีนโยบายให้เบรกโครงการนี้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการทักท้วงค่าก่อสร้างรถไฟไทยจีนในยุคแรกที่มีการปรับค่าก่อสร้างลงมา เพราะในช่วงแรกมันสูงไป เรื่องนี้ท่านนายกฯเองก็รับฟังและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับค่าก่อสร้างให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม

-ยังติดใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเวลานี้อีกไหม

ผมติดใจมากในเวลานี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ฟังนักคือเรื่อง รถไฟความเร็วสูง ที่จะเริ่มสร้างเฟสแรก 3.5 กิโลเมตร รถไฟที่ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านรถไฟความเร็วสูง ผมเป็นห่วง เพราะเรามีเงินจำกัด เราเอาเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นดีไหม เช่นทำรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตรให้ทั่วประเทศไปเลย ให้รีบสร้างด้วยซ้ำไป คือรถไฟความเร็วสูงรางกว้าง 1.435 เมตร แต่รถไฟทางคู่ที่รัฐบาลกำลังประมูลอยู่เป็นรางปกติ ที่เรามีใช้ในปัจจุบันนี้ก็แค่เพิ่มสร้างมาอีกทางหนึ่ง ให้มันสามารถสวนทางกันได้รถก็วิ่งได้เร็วขึ้น ไม่ต้องสับหลีกที่สถานี ที่เสนอแบบนี้เพราะเรามีเงินจำกัดไง แต่เราจะเอาเงินไปสร้างรถไฟความเร็วสูง ถ้าสร้างไปแล้วมันขาดทุน อย่างเส้นกรุงเทพฯ-โคราช เรามีคู่แข่งคือมอเตอร์เวย์ มีรถไฟทางคู่ธรรมดาอีก โชคดีไม่มีเครื่องบิน คือจะไปโคราช ใครจะขึ้นรถไฟความเร็วสูงไป มันระยะทางสั้นๆ

-มอเตอร์เวย์ก็กำลังสร้างแล้ว

ใช่เรามีคู่แข่งน่ากลัวคือมอเตอร์เวย์ก็กำลังสร้างแล้ว รถไฟทางคู่ ก็กำลังสร้างอยู่ ส่วนรถไฟเร็วสูงที่คิดว่าจะสร้างก็เลื่อนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้ว มากันยายนจนถึงธันวาคม ตอนนี้บอกจะสร้างเดือนมีนาคม ผมเป็นห่วงดูเหมือนว่าเราไม่สามารถทำได้แล้ว จะไปฝืนทำทำไม ถ้าเราไม่มีความพร้อมที่จะสร้างก็ไม่จำเป็นต้องสร้าง 3.5 กิโลเมตรในระยะแรก สร้างไปมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันต้องมี 40 ถึง 50 กิโลเมตร ถึงจะทดสอบความเร็วได้

-เรื่องใหญ่มาก แต่ดูเหมือนสังคมพูดถึงเรื่องนี้กันน้อย

ผมก็พูดบ่อยครั้ง คือผมเห็นว่ามีการเจรจากับจีน จะทำกรุงเทพฯไปหนองคาย 615 กิโลเมตร ผมก็ไม่ว่า แต่บอกว่าจีนต้องลงทุนมากเพราะจีนได้ประโยชน์ จากหนองคายไปลาวไปคุนหมิง จีนสามารถได้กำไรจากการก่อสร้างและดอกเบี้ย รวมถึงการขายขบวนรถไฟฟ้าอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อีกจำนวนมาก แต่การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจลงทุนเองโดยตัดระยะทางเหลือแค่โคราชเหลือแค่ 250 กิโลเมตร และลดระดับความเร็วของรถไฟลง นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วงต่อมาเพราะถ้าเราลงทุนเองแล้ว คนขึ้นน้อยมันจะขาดทุน จากกรุงเทพฯไปโคราช ผมถามว่าใครจะใช้ล่ะครับ ระยะทางสั้นๆ แบบนี้สู้มอเตอร์เวย์ไม่ได้ มันไม่คุ้ม หากจะให้อยู่ได้และพอเลี้ยงตัวเองได้ค่าตั๋วต้องแพงมากๆ ยังไม่นับค่าบำรุงรักษา เงินจะออกกระเป๋าทุกวันผมจึงถามว่าเราเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีมั้ย ผมไม่ได้ว่านะ ถ้าเรามีเงินและมีความพร้อมจริงๆ หากสามารถยอมรับการขาดทุนได้ก็สร้างไปเลย อันนี้ผมถือว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลยังเดินหน้าเรื่องนี้อยู่

-เรื่องนี้จะส่งเสียงถึงรัฐบาลอีกไหม

อยากให้ท่านนายกฯช่วยพิจารณาด้วยว่าไม่มีความพร้อมก็อย่าไปสร้างเลย เพราะสร้างไปแล้ว 3.5 กิโลเมตร พอถึงรัฐบาลหน้าจะทำยังไง รัฐบาลหน้าก็ลำบากใจ เพราะมันใช้เงินมากพอสมควร เฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 700 ล้านบาท เพราะรัฐบาลต่อไปหากไม่เดินหน้าต่อมันก็เสียดายเงินที่ลงทุนไป

-ห่วงเรื่องความไม่โปร่งใสอะไรอีกไหม

ห่วงครับ ตอนแรกรัฐบาลทหารเข้ามาผมหวังว่ามันจะดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นไม่ดี ผมคิดว่าการประมูลอะไรน่าจะดีขึ้นเพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำในทางที่ถูกต้องก็น่าจะดีมีประสิทธิภาพ การควบคุมสั่งการทำได้เร็วและเบ็ดเสร็จ

-ทำไมถึงไม่ดี

ผมคิดว่าคนที่ได้รับมอบหมายไป มีการดูแลอย่างใกล้ชิดหรือไม่ ทั่วถึงหรือไม่ เข้าใจทั้งหมดหรือไม่ ถึงแม้จะมีข้อตกลงคุณธรรมไปจับแต่เราก็ได้เห็นหลายโครงการ ที่ผ่านข้อตกลงคุณธรรมสุดท้ายก็ล้มเหลว ยกตัวอย่างรถเมล์เอ็นจีวี เป็นต้น

55

-ในยุคที่หลายคนเลือกที่จะให้กำลังใจผู้มีอำนาจ หลายคนเลือกที่จะเงียบเพื่อให้โอกาส จำนวนมากก็เงียบเพราะไม่อยากมีปัญหา ทำไมคุณสามารถ ถึงออกมาท้วงติงนโยบายต่างๆ บ่อยครั้ง

มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วนตัวผมผมมีความรู้ด้านนี้ผมมีประสบการณ์ด้านนี้ ผมศึกษาเรื่องนี้มา จึงคิดว่าน่าจะใช้ความรู้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประชาชน ผมคิดว่าท่านนายกฯอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริงเสียงบางเสียงที่สะท้อนไปคาดว่าอาจคงถึงท่านบ้าง ถ้าถึงท่านผมเชื่อว่าท่านก็รับฟัง

-ส่วนตัวคิดว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบการใช้อำนาจบ้างไหม

สำหรับผม ไม่มีนะครับ ผมมั่นใจว่าสิ่งที่ผมพูด ผมพูดจากประสบการณ์ที่ผมมี และผมมั่นใจว่าผมวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ผมจึงตัดสินใจวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญผมได้รับข้อมูล มีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาเอง หลายองค์กรมีคนที่รักความถูกต้องแฝงอยู่ ส่งข้อมูลให้ ซึ่งผมก็ไม่ได้เชื่อโดยทันที ก็ต้องตรวจสอบจนแน่ใจ เพราะผมให้ความสำคัญอย่างมากก็คือเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร อย่างเรื่องแอร์พอร์ตลิงก์นอตหลุด ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์ก็โต้ผมมา การโต้เป็นการยอมรับข้อมูลของผมโดยปริยาย จำนวนจุด มีปัญหา 159 จุด จริงอย่างที่ผมวิพากษ์ไป วิกฤตเขาบอกว่า 50 จุด แก้ไปแล้ว 50 จุด ผมให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มาก เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องแก้ไขเพราะเป็นเรื่องความเสี่ยงถึงชีวิตของผู้โดยสาร

-อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการค้นคว้าข้อมูล ข้อถกเถียง หรือปัญหาพวกนี้

ความสนใจ เห็นว่าเรื่องพวกนี้มีผลกระทบกับประชาชนอย่างมาก อย่างแอร์พอร์ตลิงก์หากรถตกลงมาอะไรจะเกิดขึ้น ผมโพสต์เรื่องนี้มาสองสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยังไม่ซ่อมราง เจียราง ปรากฏว่าเขาตื่นตัวขึ้น ความเสี่ยงมันก็ลดลง อาจจะมีติดขัดบ้างแต่ก็น้อยลง ไม่ดีแน่หากไม่วิพากษ์วิจารณ์เลยแล้วเกิดความร้ายแรงมากกว่านี้ ผมเขียนล่าสุดเขาก็ตื่นตัวขึ้นมา ตอนแรกเขาพยายามควานหาว่าใครเป็นแหล่งข่าวให้ผม จน สตง.เข้าไปตรวจสอบ ผมก็บอกเขาไปว่าอย่ามาเสียเวลาเลย เร่งแก้ไขดีกว่า ถามว่าถ้าไม่จริงทำไมเขาถึงชะลอความเร็วตรงโค้งลาดกระบัง เริ่มวิ่ง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหลือ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ล่าสุดเพิ่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เขาแก้ปัญหาโดยการลดความเร็วแทนที่จะหาผู้รับเหมามาซ่อม หรือซ่อมเองก็ได้

-พูดถึงปัญหาวิจารณ์นโยบายต่างๆ บ่อยๆ เคยมีผลกระทบอะไรบ้างไหม

เคยมีแค่คนฝากมาถามว่าไม่ชอบอะไรเขาหรือเปล่า วิจารณ์อะไรบ่อยๆ ผมก็บอก ส่วนตัวรู้จักกัน แต่ผมดูเรื่องงาน หากจะแก้ก็ทำให้ถูกต้องแค่นั้น เคยล็อกสเปกก็อย่าล็อกสเปก ส่วนรัฐบาล คสช.ไม่มีครับ ผมมั่นใจว่าข้อมูลผมแม่น อย่างเรื่องแอร์พอร์ตลิงก์ มีเสียงกรรมการคนหนึ่งถึงกับบอกว่า ผมพูดเหมือนกับนั่งอยู่ใต้โต๊ะประชุม นี่คือเสียงสะท้อนที่ผมได้รับ ที่ทำทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าผมอยากจะให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นพระเอก ผมแค่ต้องการความถูกต้อง ผมตระหนักเสมอว่าพลาดไม่ได้เรื่องข้อมูล ผมไม่ต้องการฆ่าใครตาย แค่ต้องการให้เขาแก้ให้ถูกต้อง

-จะทำอย่างไรให้คนสนใจนโยบายสาธารณะที่ใกล้ตัวแบบนี้มากขึ้นโดยเฉพาะในมิติการตั้งคำถามและตรวจสอบ

เป็นเรื่องสำคัญมาก ผมคิดว่าสื่อมวลชนก็มีส่วนช่วย ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างมีนิสิตจุฬาฯคนหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ เขามักจะส่งข้อมูลมาให้ผมแลกเปลี่ยนกันประจำ โดยที่ไม่ได้เรียนวิศวะด้วยซ้ำ รู้สึกจะเรียนรัฐศาสตร์มั้ง ผมคิดว่าถ้าเราสร้างคนแบบนี้ได้ จะมีคนที่ต้องการทำสิ่งที่ดีแบบนี้อีกเยอะ

-มีข้อเสนอทางด้านกฎหมายที่จะไปแก้ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสหรือทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเราได้รับการตรวจสอบดีขึ้นไหม

มันมีกฎหมายที่มีประโยชน์อยู่แต่ไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่นพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดิน ที่มีผลบังคับใช้แล้ว กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น รถไฟความเร็วสูงจะไม่จำเป็นต้องย้ายจากพื้นที่ แต่ของเราไม่ได้ใช้อย่างจริงจังยังอยู่ในระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา มีเงินก็ซื้อที่ดินเก็งกำไรไว้ ในต่างประเทศจะมีระบบเก็บเงินจากเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างของภาครัฐส่วนหนึ่งมาช่วยในการสร้างสถานีรถไฟฟ้า ใครอยู่ใกล้สถานีมากก็จ่ายมาก มันเป็นการป้องกันและลดการเก็งกำไรที่ดิน ของไทยใครซื้อที่ดินไว้เก็งกำไรก็รวย วันดีคืนดีส้มหล่น ของไทยผมก็เสนอไว้กับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องสร้างโดยสัมพันธ์กับผังเมือง ให้เกิดดีมานด์มันถึงจะทำให้รถไฟความเร็วสูงอยู่ได้

ข้อเสียของการที่ประชาชนเฉื่อยชา หรือไม่สนใจเรื่องพวกนี้

ก็อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจ มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์โครงการต่างๆ เพราะประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการคิดโครงการขึ้นมา ไม่ใช่รู้ตอนตอกเสาเข็มแล้ว เช่นกรณีการปิดแยกรัชโยธิน ประชาชนควรจะต้องร่วมรับรู้ด้วยว่า ทำไมต้องทุบสะพานเดิม? ทำไมต้องสร้างอุโมงค์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนรู้ทีหลัง อาจจะเป็นปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ด้วย ฉะนั้น ควรมีการสร้างโอกาสการสื่อสารกับประชาชนมากกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนตั้งคำถาม อย่างกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็ควรจะมีการตั้งคำถามมากกว่านี้ เช่น ทำไมไม่ผ่านในจุดที่คนอยู่เยอะ? ทำไมต้องสร้างเป็นรถไฟฟ้าขนาดหนัก? ทำไมไม่ใช้โมโนเรล? เพราะการทำให้ประชาชนมีส่วนรร่วมในกระบวนการต่างๆ มันจะทำให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนเงินของเขา หากประชาชนสนใจเรื่องพวกนี้มาก ก็จะเป็นการกดดันให้รัฐบาลใช้เงินอย่างระมัดระวังเอง อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผมรู้สึกเสียดายมาก เพราะใช้เงินงบประมาณสร้างกว่า 62,000 หมื่นล้าน เฉลี่ยกิโลเมตรละ 2,800 ล้านบาท ซึ่งถ้าเราทำเป็นโมโนเรลจะถูกกว่าประมาณ 40% ประมาณ 1,500 ถึง 1,600 ล้านบาท แค่นี้ก็พอแล้ว

สมัยผมเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ผมคิดบีอาร์ทีขึ้นมา แต่ผมไม่ได้ทำจนจบ ตอนหลังผมออกมา และมีคนใช้หลักการตามแนวคิดของผมไม่ครบ 100% เหตุที่ผมใช้เพราะว่าต้นทุนมันถูกมาก กิโลละประมาณ 100 ล้านบาท แต่ได้ผู้โดยสารวันละประมาณ 20,000 คน เท่ากับรถไฟฟ้าสายสีม่วง คำถามคือเราจะไปเสียเงินมาทำไมเพราะเป็นเงินของเราทั้งนั้น เรื่องนี้หากประชาชนให้ความสนใจ ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย เราควรจะช่วยกันตั้งคำถามมากกว่านี้ ผมอยากให้สังคมเป็นแบบนี้ครับ ให้คนกล้าพูดมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้โอกาสเข้าถึงข้อมูลมากกว่าสมัยก่อน

-มีอะไรอยากฝาก คสช.ไหมครับเหลืออีกปีนึง

เรื่องทางด้านกระทรวงคมนาคม ผมขอให้มีการประมูลรถไฟทางคู่ โดยให้มีการเขียนทีโออาร์ให้เหมาะสม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับรายได้รายหนึ่ง การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าต้องจัดลำดับความสำคัญในการก่อสร้างว่าจะสร้างสายไหนก่อนและหลัง ไม่ใช่สร้างไปรอไว้ มันไม่คุ้ม เราไปเลือกเส้นทางที่มีผู้โดยสารดีกว่าไหม? เช่น ปัญหารถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ผมไม่ตำหนินักการเมือง เพราะมันต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล แต่ข้าราชการประจำควรเสนอแนะสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเอาเงินตรงนี้ไปสร้างสายสีส้ม ผ่านรามคำแหง ผ่านประตูน้ำ ที่จะมีผู้โดยสารมากกว่าแน่ เพราะนักการเมืองบางครั้งก็มาอยู่แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ความสำคัญมันจึงอยู่ที่ข้าราชการประจำจะชงขึ้นไป

-เหมือนประเทศเราข้าราชการมีอำนาจมาก

ถามว่ามากไปไหม? ผมคิดว่ามุมหนึ่งอยู่ที่ผู้กำกับด้วย หากมีรัฐมนตรีที่เข้าใจงาน รู้งาน ก็สามารถกำกับให้ข้าราชการใช้อำนาจอย่างเหมาะสมถูกต้องได้ รัฐมนตรีต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเสนอมาควรหรือไม่ควรทำ และเป็นการใช้อำนาจที่มากเกินไปหรือไม่

-ผู้กำกับเปลี่ยนไปตามระบบ ระบบในขณะนี้ดีขึ้นกว่าระบบของนักการเมืองหรือไม่

สำหรับกระทรวงคมนาคมผมคิดว่าไม่ดีขึ้น ยอมรับว่าผมคาดหวังว่าตอนแรกน่าจะดีขึ้น ถามว่าผิดหวังไหม ผมผิดหวังการประมูลรถไฟทางคู่ที่ล่าช้า บางประเด็นผมผิดหวังแต่ผมคิดว่าท่านนายกฯมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ด้วยภารกิจที่เยอะจนดูไม่ทั่วถึง รถไฟทางคู่ผมหวังมากอยากให้สร้างให้ทั่ว โดยให้มีการกระจายให้ทั่วหลายบริษัททั้งเล็กและใหญ่ไม่ใช่กระจุกอยู่กับบริษัทใหญ่บริษัทเดียว ผิดหวังเพราะประมูลล่าช้า ที่ผ่านมาประมูลได้เพียงแค่สองโครงการจากหลายโครงการ หากเปรียบเทียบกับคำแถลงนโยบายของรัฐบาลจะพบว่าผิดจากที่แถลงไว้เยอะมาก

-มีหลักยึดในการเป็นนักการเมืองบ้างไหม

ปรัชญาของผมคือต้องการนำความรู้และประสบการณ์ มาใช้ประโยชน์ ผมต้องทำจริงพูดในสิ่งที่ทำได้ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ต้องการสร้างความหวังให้กับประชาชนในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับบทบาทการพยายามตรวจสอบในทุกวันนี้ ถ้าเราไม่ช่วยกัน เกิดมีการใช้อำนาจไม่ถูกต้องมันก็มีปัญหา เราควรช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อสื่อสารกับนายกฯ หากเราปล่อยปละละเลยมันจะไปเป็นใหญ่ เกิดความเสียหายขึ้นมาก เราจึงต้องกล้าและช่วยกันทักท้วง เอาความจริงมาพูดกัน สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดไม่ใช่ประเด็นการหาเสียงทางการเมืองแต่เป็นประเด็นการพัฒนาล้วนๆ ไม่ใช่การวิจารณ์อย่างเดียวแต่มีข้อเสนอแนะ ผมไม่กลัวเพราะผมไม่ได้พูดเพื่อให้เพื่อนฝูงของผมได้ประโยชน์หรือตัวผมได้ประโยชน์ สิ่งที่ผมพูดจะเป็นประโยชน์ก่อให้เกิดการปรับแก้บ้างก็ดีกว่าไม่พูด

-หากมีรัฐบาลใหม่ ยังจะเป็นนักตั้งคำถาม หรือตรวจสอบประเด็นคมนาคมแบบนี้หรือไม่

ผมก็จะทำแบบเดิมเพราะผมยึดหลักการไม่ได้ยึดตัวบุคคล ให้ดูว่าการทำงานเป็นอย่างไร ผมไม่ได้ดูตัวบุคคล สมัยผมเป็นฝ่ายรัฐบาล ผมก็ตั้งกระทู้กรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ย้ายสนามบินไปอยู่สุวรรณภูมิ ว่า ผมไม่เห็นด้วย ซึ่งพรรคเองผมคิดว่าก็รับผมได้ ประชาชนก็รู้ว่าผมทำเพื่ออะไร

—วันนี้ (9 ก.พ.) เวลาประมาณ 20.00 น. ที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์ พบกับ Ep.3 เปิดใจวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายสมัย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่หยุดนิ่ง ออกมาแฉเรื่องทุจริตมากมาย ด้วยข้อมูลที่หลายครั้งเถียงไม่ขึ้น ก่อการเปลี่ยนแปลงมากมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image