พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง แหล่งเรียนรู้ชาติพันธุ์ตามรอยพระราชา

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อชาวไทยภูเขา และเก็บรวบรวมวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ที่มีในประเทศไทยสู่แหล่งเรียนรู้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จึงเปิดตัว พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธาน ณ พิพิธภัณฑ์ฯ สวนหลวงล้านนา ร.9 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

IMG_4607

นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ อดีตอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ และที่ปรึกษาอธิบดี พส. กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ใช่ลักษณะเก็บข้าวของเครื่องใช้ชาวเขามาจัดแสดงเฉยๆ แต่เป็นพิพิธภัณฑ์แบบเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งองค์ความรู้ให้กับผู้สนใจศึกษา นักท่องเที่ยว ตลอดจนชาวไทยภูเขารุ่นใหม่ๆ ให้ได้รู้ว่าเขามีรากเหง้ามาอย่างไร โดยพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งจัดแสดงเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ในอาคารพิพิธภัณฑ์ มี 4 ชั้น มีอาทิ ห้องจัดแสดงสารคดีเฉลิมพระเกียรติและการพัฒนาบนพื้นที่สูง, ห้องเรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง 10 ชนเผ่าที่ พม.ดูแล ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี, ห้องนิทรรศการด้วยพระบารมีนำทางสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูง และ 2.ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีพื้นที่จัดแสดงบ้านจำลอง พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ในการดำรงชีพ พิธีกรรมของ 10 ชนเผ่า โดยสามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯฟรี ทุกวันในเวลาราชการ

พิพิธภัณฑ์ใหม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้บอกเล่าประวัติและเรื่องราวของแต่ละชนเผ่า เล่าผ่านจอโทรทัศน์เพียงกดปุ่มเล่น เลือกภาษา เช่น ภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น รวมถึงบรรยายภาพ มีบริการประจำจุดต่างๆ เช่นเดียวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ต่อชาวไทยภูเขา ก็แสดงผ่านจอโปรเจ็กเตอร์ขนาดใหญ่ เหมือนนั่งดูในโรงภาพยนตร์ ออกมาดูนิทรรศการกลางแจ้ง ก็จัดแสดงบ้าน ข้าวของ

Advertisement

IMG_4589

นายไมตรี วงค์ศิริวิทยา อายุ 57 ปี ชาวเผ่าม้ง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอดีตเคยปลูกและขายฝิ่น กล่าวว่า แต่ก่อนชาวม้งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก ชาวบ้านปลูกฝิ่นเพื่อนำไปแลกเสื้อผ้า ข้าวสาร เกลือกับพวกจีนฮ่อ ไม่มีรายได้ การเดินทางก็ลำบาก แต่ทุกอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไปเมื่อในหลวง ร.9 เสด็จฯมา ทรงมีรับสั่งให้ราษฎรเลิกปลูกฝิ่น ภายหลังก็มีเจ้าหน้าที่รัฐมาสอนทำการเกษตร เช่น ปลูกกาแฟ กะหล่ำปลี ท้อ ถั่วแดง ขายจนมีรายได้ขึ้นมา ขณะเดียวกันทรงให้ก่อตั้งโรงเรียน ทำให้ตนและเด็กชาวไทยภูเขาทุกคนได้รับการศึกษา จนตนมีโอกาสสอบได้เป็นข้าราชการในศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.เชียงใหม่ ส่วนเพื่อนๆ ที่เรียนรุ่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็ได้ดี เช่น เป็นครู ตชด. ครู กศน. ตำรวจ เป็นต้น

IMG_4604

ด้าน นางทองศรี ครองแห้ง อายุ 73 ปี ชาวเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) จ.อุทัยธานี กล่าวว่า ชนเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) ไม่มีปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นเหมือนชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เข้าไปช่วยเหลือดูแล ตั้งแต่เรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน โรงเรียน และส่งเสริมการเกษตร ทำให้พวกเรามีชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ก็ขอขอบคุณพระองค์

“ดีใจที่วัฒนธรรมชาวไทยภูเขาได้รับการอนุรักษ์ เพราะเดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาและวัฒนธรรมข้างนอก ก็กลัวว่าสิ่งดีๆ ที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษจะหายไป พิพิธภัณฑ์ยังมีข้อมูลที่ดิฉันไม่รู้ อย่างเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) ที่เคยอยู่มองโกเลีย ภายหลังหนีสงครามมาอยู่ที่เขตพม่า และลงมาที่ จ.อุทัยธานี จ.สุพรรณบุรีในปัจจุบัน” นางทองศรีกล่าวทิ้งท้าย

IMG_4639

IMG_4650

IMG_4652

ทองศรี ครองแห้ง
ทองศรี ครองแห้ง
ไมตรี วงค์ศิริวิทยา กลาง
ไมตรี วงค์ศิริวิทยา (กลาง)
อิระวัชร์ จันทรประเสริฐ
อิระวัชร์ จันทรประเสริฐ
หนังสือข้ามเขตภูเขาของชนเม่
หนังสือข้ามเขตภูเขาของชนเม่

IMG_4638

IMG_4582

IMG_4609

IMG_4636

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image