ภาพเก่าเล่าตำนาน : แม้ความตายมิอาจพราก แม่นาคพระโขนง : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ฝรั่งมีตำนานเล่าขานบอกคนทั้งโลกเรื่องของนักบุญแห่งความรัก ชื่อวาเลนไทน์ ที่เป็นผู้ริเริ่มการจัดงานแต่งงานในยุคที่ไม่อนุญาตให้หนุ่ม-สาวแต่งงานกัน เหตุเพราะในช่วงนั้นกรุงโรมอยู่ในภาวะสงคราม จักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 แห่งกรุงโรมต้องการเกณฑ์ผู้ชายไปสนามรบ คนที่มีครอบครัว มีภรรยา มีคนรักไม่ประสงค์จะทิ้งครอบครัวไป ทำให้จักรพรรดิตัดสินใจออกคำสั่งห้ามการแต่งงานและการหมั้นของหนุ่มสาวชาวโรมันในยุคนั้น

นักบุญวาเลนไทน์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง แถมยังชักชวนคู่รักมาทำพิธีแต่งงานหลายคู่ จนโดนจับตัวไปขังเอาไว้ และในคุกที่คุมขังนักบุญวาเลนไทน์นั้น เขาได้พบรักกับสาวตาบอดนางหนึ่ง เมื่อโดนจับได้ นักบุญวาเลนไทน์จึงถูกนำตัวไปประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันวาเลนไทน์ วันที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญ

ผู้อุทิศตนให้ความรักนั่นเอง สังคมไทยก็ยอมรับนับถือกะเค้า คนมีความรักมักหาซื้อดอกกุหลาบ แต่ถ้าจะให้เท่ต้องสั่งดอกใหญ่ๆ จากต่างประเทศ คนไทยส่งคำอวยพรรักกันสนั่นเมือง รักมาก็รักไป ทางราชการเปิดให้จดทะเบียนสมรสเป็นพิเศษ สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญวันนี้ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก

สำหรับสังคมไทยดั้งเดิม มีตำนาน มีนิทานเกี่ยวกับความรักหลายรูปแบบ หลายยุคสมัย มีการพิสูจน์รักแท้แม้หลังความตายกลายเป็นผี เรื่องเล่าในอดีตที่คุ้นหูที่สุดคือ ความรักของแม่นาคพระโขนง ที่หาหลักฐานอ้างอิงได้ยาก แต่สถานที่กล่าวอ้างทั้งหลายมีอยู่จริง ซึ่งผู้เขียนต้องไปเห็นมากับตาเพื่อเรียบเรียงแบ่งปัน เนื้อหาสาระเรื่องแม่นาคพระโขนง สะท้อนโศกนาฏกรรมที่ผสมผสานกับรักแท้ต่างภพของภรรยาที่มีต่อสามี ที่ดุดันเข้มข้นไม่แพ้ตำนานรักของชนชาติใด

Advertisement

เหตุการณ์แม่นาคพระโขนง พอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในราวช่วงปลายรัชสมัยในหลวง ร.3 ถึงต้นรัชสมัยในหลวง ร.4 ครับ

ภาพยนตร์ ละครเวที ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ที่ถูกสร้างขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนมีหลากหลายเวอร์ชั่น สาระของแม่นาคถูกดัดแปลงโน่นนิดนี่หน่อยเพื่อให้เร้าใจ มีแม้กระทั่ง แม่นาคบุกโตเกียว แม่นาคไปอเมริกา ถ้าท่านได้ยินได้ฟังแตกต่างไปจากนี้ก็ถือว่าเป็น “แม่นาค ณ พระโขนง” คนเดียวกันนะครับ

คนไทยเล่าต่อกันมาว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สามีภรรยาคู่หนึ่งใช้ชีวิตในท้องนาย่านชนบททุ่งพระโขนง สามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค (บางสำนักสะกดด้วย ก) อยู่มาวันหนึ่ง นายมากได้รับหมายเรียกเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ชาติที่บางกอก ซึ่งในขณะนั้นนางนาคกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ นางจึงต้องอยู่ตามลำพังที่กระท่อมปลายนา เมื่อเจ็บท้องหมอตำแยก็มาทำคลอดให้ แต่ทว่าลูกของนางนาคไม่กลับหัว จึงไม่สามารถคลอดออกมาตามธรรมชาติได้ ยังผลให้นางนาคเจ็บปวดทรมานยิ่งนัก ในที่สุดนางนาคสิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง คนไทยโบราณเรียกการตายลักษณะนี้ว่า ตายทั้งกลม ซึ่งตามตำราของพ่อมดแม่หมอไทยทั้งหลายระบุว่า ผีตายทั้งกลมดุร้าย เฮี้ยนกว่าผีแบบอื่นๆ เรื่องของนางนาคที่เสียชีวิตทั้งกลมเป็นที่โจษจันกันไปทั่วท้องทุ่งพระโขนง แต่คนที่ไม่ทราบคือสามีที่ชื่อนายมาก ขณะนั้นเป็นทหารอยู่ในบางกอก

ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์

นายมากปลดจากทหารกองประจำการกลับมาบ้านทุ่งพระโขนง พบกับนางนาค ผัวเมียคู่นี้กินอยู่หลับนอนกันเป็นปกติ จนกระทั่งวันหนึ่งชาวบ้านละแวกใกล้เคียงแอบมาพบนายมากและกระซิบบอกนายมากว่านางนาคตายทั้งกลมไปนานแล้ว

นายมากโกรธจัดและปฏิเสธที่จะเชื่อเพื่อนบ้านเหล่านั้น

ภาพยนตร์เรื่องแม่นาคพระโขนงจะต้องเน้นฉากที่จี๊ดหัวใจที่สุด คือ ฉากที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่นอกชานบนบ้าน เธอกำลังมองหาผลมะนาวเพื่อปรุงรสน้ำพริก มะนาวลูกกลมๆ ดันกลิ้งหล่นลงไป

อยู่ใต้ถุนบ้าน จังหวะนั้นแขนของนางนาคจะเหยียดยาวยืดออกไปจากนอกชานชั้นบนลงไปถึงใต้ถุนแล้วเธอสามารถหยิบลูกมะนาวใส่มือ หดแขนกลับเข้าที่เดิม นางนาคบีบมะนาวใส่ครกแล้วตำน้ำพริกต่อได้แบบสบายใจ

นาทีสยองที่นางนาคยืดแขนหยิบลูกมะนาวนั้น นายมากเผอิญหันมามอง นายมากตกตะลึงตาเหลือก หัวใจกระแทกทรวงอกแทบพัง รำพึงกับตนเองว่า นางนาคไม่ใช่คนเป็นแน่แท้ เธอตายแล้วแน่นอนและเขากำลังใช้ชีวิตอยู่กับผีตามที่ชาวบ้านแอบมาบอก

ตำนานเรื่องแม่นาคเล่าต่อกันมาว่า เย็นวันนั้น นายมากวางแผนหลบหนีเมียผี โดยการแอบเจาะตุ่มใส่น้ำให้รั่วแล้วเอาดินเหนียวอุดไว้ ตกกลางคืนทำทีลุกขึ้นไปฉี่ นายมากไปแกะดินที่อุดตุ่มไว้ให้น้ำไหลออกตกถึงพื้นดินเสียงดังเหมือนคนฉี่ นายมากแอบหนีไปได้ นางนาคเมื่อเห็นว่านานผิดสังเกตจึงออกมาดู รู้ว่าตัวเองโดนหลอก จึงออกตามผัวรักไปทันที นายมากหนีเข้าไปซ่อนอยู่ในดงหนาด นางนาคไม่สามารถทำอะไรได้เพราะผีกลัวใบหนาด

นายมากหนีไปพึ่งพระอาศัยกินนอนที่วัด นางนาคยิ่งเฮี้ยนออกอาละวาดแถวย่านพระโขนง เพราะเจ็บใจชาวบ้านที่ไปยุแยงตะแคงรั่ว ปากหอยปากปูบอกผัวตัวเอง ชาวบ้านย่านพระโขนงหวาดกลัวกันไปทั้งบาง มืดค่ำทีไรต้องปิดประตูหน้าต่างจุดธูปเทียนสวดมนต์กันหมด

ข้อมูลบางสำนักระบุว่า ในที่สุดพระสงฆ์สามารถนำวิญญาณของผีนางนาคใส่หม้อดินถ่วงน้ำสยบการหลอกหลอนได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนทำให้ชาวบ้านย่านทุ่งพระโขนงกล้าออกมานอกบ้านยามค่ำคืน

แต่ต่อมาตายายคู่หนึ่งที่เพิ่งย้ายมาทำมาหากินแถวทุ่งพระโขนง ไปเฟอะฟะเก็บหม้อที่ถ่วงวิญญาณนางนาคขึ้นมาได้ขณะทอดแหจับปลา วิญญาณนางนาคจึงถูกปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จัดการส่งดวงวิญญาณของนางนาคไปสู่สุคติ

วัดมหาบุศย์ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อประมาณ พ.ศ.2305 ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก 5 ปี เล่ากันว่าเดิมชื่อ “วัดสามบุตร” กล่าวคือ บุตรชายสามคนพี่น้องร่วมกันสร้าง กาลต่อมามีสภาพเป็นวัดร้าง

ต่อมาเมื่อพระมหาบุตรจากวัดราชบูรณะ กรุงเทพฯ ได้มาเยี่ยมญาติโยมของท่านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่แถวคลองพระโขนง ในเวลานั้นชาวบ้านทุ่งพระโขนงจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดสามบุตร เพื่อช่วยเป็นผู้นำในการสร้างวัดขึ้นใหม่

เมื่อการซ่อมสร้างวัดนี้แล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงเปลี่ยนนามวัดใหม่จาก “วัดสามบุตรเป็นวัดมหาบุตร” ตามนามของพระมหาบุตร ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปตามแนวของภาษาไทย จึงได้เขียนชื่อวัดเป็นทางราชการว่า

วัดมหาบุศย์ ดังที่เห็นและใช้อยู่ตราบจนในปัจจุบัน แต่ยังมีประชาชนนิยมเรียกอีกนาม หนึ่งว่า “วัดแม่นาคพระโขนง”

ความรักต่างภพย่านพระโขนง นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจคนไทยอย่างไม่รู้จบ กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี ที่แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นำมาทำเป็นบทละครร้องเรื่อง “อีนาคพระโขนง” ในปี พ.ศ.2454

ศาลแม่นาคในวัดจะมีคนมาสักการบูชาไม่ขาดสาย โดยบุคคลเหล่านี้จะเรียกด้วยความเคารพว่า “ย่านาค”

มีเกร็ดตำนานเล่าต่อมาว่า ชื่อสี่แยกมหานาคที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นาคอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย และเชื่อกันว่าพระที่มาปราบแม่นาคได้นั้นคือ สมเ

ด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อีกทั้งยังเชื่อว่าท่านเป็นคนเจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นาคทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาค และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยเขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นาค เป็นเรือนลักษ

ณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง มีเสาเรือนสูง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

ตำนานที่นำมาถ่ายทอดนี้ โปรดใช้วิจารณญาณในความเชื่อด้วยตัวเองนะครับ ผู้เขียนไปสังเกตการณ์ที่วัดมหาบุศย์ พบว่ามีเด็กนักเรียนผู้หญิงมากราบไหว้ศาล “ย่านาค” อย่างคึกคัก เพื่อขอความรัก

ถ้ามีการจัดระเบียบร้านค้า เก็บกวาดขยะ และดูแลต้นไม้ให้สวยงาม วัดแห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ

ส่วนป้ายเฉลยใบเซียมซีที่ติดไว้ที่ฝาผนัง เรื่องการจับใบดำใบแดงแล้วจะไม่โดนเกณฑ์ทหารก็น่ารักดีครับ (กรุณาอ่านเอง)

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image