โดนถ้วนหน้า! ชาวบ้านท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ร้องถูกหลอกกู้เงิน สูญกว่า 66 ล้าน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 10.30 น. ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายไชยา เครือหงส์ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายสนุน แจะหอม นิติกรประจำศูนย์ดำรงธรรมฯ นายพลานุภาพ ธนพรดำแพทย์ นายอำเภอท่าคันโท ร.ท.จักรภัทร ตระการไทย หน.ชุดปฏิบัติการกองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย กองพันทหารม้าที่ 14 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ นายจารึก ตันเจริญ พัฒนาการอำเภอท่าคันโท ร่วมกันสอบข้อเท็จจริงกรณี ชาวบ้านตำบลท่าคันโท และตำบลหนองกรุงเก่า อำเภอท่าคันโท กว่า 350 คน ที่เชื่อว่าถูกสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ต.ท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ถูกยกระดับขึ้นจากโครงการเงินกองทุนหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าถูกหลอกเอาเงินไปรายละ 190,000 บาท ด้วยวิธีการชวนเชื่อผ่านการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารแห่งหนึ่ง ในสาขาท่าคันโท โดยมีความเสียหายกว่า 66,500,000 บาท

ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กำลังทหาร ตำรวจ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคาร ได้เข้าไปร่วมรับทราบปัญหา โดยทางเจ้าหน้าที่ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนลงชื่อเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ลงชื่อจะเป็นชาวบ้านที่ได้รับหนังสือทวงเงินจากธนาคาร สาขาท่าคันโท รายละ 190,000 บาท แต่จะแตกต่างกันไปตามห้วงเวลาของการปล่อยกู้เงินจากธนาคาร

นายไชยา กล่าวว่า ปัญหานี้ ชาวบ้านตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท ได้เข้ามาร้องขอความเป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่เนื่องจากมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก จึงได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งก็ได้สั่งการให้เข้ามาติดตามตรวจสอบกันในวันนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นการปล่อยกู้โดยธนาคารสาขาดังกล่าว โดยได้เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นลักษณะการปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินให้กับชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีรายบุคคลอเนกประสงค์ จะสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 2 แสนบาท โดยจะมีผู้ค้ำประกัน 2 คน และกรณีที่ 2 เป็นการปล่อยกู้ในรูปแบบกลุ่มให้กลุ่มละ 5 แสนบาท ที่จะมีผู้ค้ำประกันเช่นกัน

“ในกรณีนี้ชาวบ้านอ้างว่า โครงการดังกล่าวนั้น ชาวบ้านตำบลท่าคันโทได้กู้โดยใช้สถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ต.ท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายไกรสวัสดิ์ แก้วคำหาญ ผอ.รร.โนนสำราญวิทย์ อำเภอท่าคันโท เป็นประธานสถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ และแน่นอนว่าชาวบ้านต้องเป็นสมาชิกสถาบันการเงินโดยจะทำการรวมกัน 3 คน เป็นการกู้เงินในรูปแบบที่ 1 คือรายบุคคลจากนั้นผลัดกันเซ็นค้ำประกัน ก็จะได้เงินคนละ 200,000 บาทจากธนาคาร จากนั้นเมื่อได้เงินมาแล้ว ผู้กู้ซึ่งมีบัญชีธนาคารหรือมีบัตรเอทีเอ็ม ทางสถาบันการเงินก็จะให้เซ็นมอบอำนาจหรือเอาบัตรเอทีเอ็มมาไว้ โดยตกลงกันว่าจะนำเงินไปลงทุน 190,000 บาท และจะยังคงทิ้งค้างบัญชีเอาไว้เพียง 10,000 บาท ทั้งนี้วิธีการชำระนั้น ทางธนาคารจะหักเงินจากบัญชีเพื่อเป็นการชำระหนี้ เดือนละ 4,260 บาท”นายไชยา กล่าว

Advertisement

นายไชยา กล่าวอีกว่า การดำเนินกิจการโดยสถาบันการเงิน ซึ่งผู้เสียหายอ้างว่า กรรมการในสถาบันการเงิน ได้เข้ามาชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุน โดยจะทำการปล่อยเงินกู้ในลักษณะกองทุนหมู่บ้าน ที่จะมีเม็ดเงินในการปันผลในแต่ละเดือนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหาย จึงได้ตัดสินใจเข้าไปกู้เงินกับธนาคาร แต่แล้วใช้เวลาเพียงไม่ถึงปีกลับมีหนังสือทวงเงินจากธนาคาร จึงเชื่อมั่นว่าถูกหลอก

ด้านนายจารึก กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการร้องเรียนไปทางจังหวัด ทางอำเภอท่าคันโทได้รับการร้องทุกข์มาแล้ว แต่เนื่องจากจำนวนเงินมหาศาล จึงได้แนะนำให้ไปร้องที่จังหวัด เบื้องต้นเท่าที่ทราบ ลักษณะการชักชวนเรื่องการลงทุนให้ปล่อยกู้นั้นจริง แต่ทางสถาบันการเงินบอกว่าเงินได้ปล่อยให้กู้ไปจนหมดแต่ไม่สามารถเก็บได้ ในเรื่องนี้ก็จะต้องตรวจสอบให้ลึกว่า การปล่อยกู้นั้นปล่อยให้ใครจริงหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องแนะนำให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หากตรวจสอบว่ามีการปล่อยกู้จริง เพราะในหนี้สินการกู้เงินระหว่างธนาคารกับผู้กู้นั้นถือว่าได้ทำตามระเบียบทางการเงินของธนาคารแล้ว

นางพร ใจทน ชาวบ้าน อายุ 54 ปี กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ถูกหลอก โดยถูกกรรมการสถาบันการเงินชุมชน หมู่ที่ 9 ชักชวน ซึ่งเนื่องจากการบริหารงานนั้น เดิมเป็นกองทุนหมู่บ้าน ประสบผลสำเร็จ โดยลูกหนี้จ่ายหนี้ดีจนได้รับการรับรองจากธนาคาร จึงได้ถูกยกฐานะขึ้นจนมีโครงการจากรัฐบาลให้ธนาคาร ปล่อยกู้จึงตัดสินใจลงทุน เพราะเชื่อมั่นว่าจะได้รับเงินปันผล จึงร่วมลงทุนแต่กลับไม่ได้รับเงินปันผลแถมยังถูกทวงเงินโดยธนาคาร จึงเชื่อว่าถูกหลอกแน่นอน เพราะไม่เฉพาะที่ตนเองโดนเท่านั้น คนในหมู่บ้านมากกว่า 100 คน ก็ถูกเช่นกัน และหากรวมทั้งเบื้องต้นเฉพาะที่มาวันนี้ก็มากกว่า 350 คน หากคิดเป็นเงินก็จะมากกว่า 67 ล้านบาท จึงขอความเมตตาให้ผู้มีอำนาจตรวจสอบและเอาผิดด้วย

Advertisement

ร.ท.จักรภัทร ตระการไทย หน.ชุดปฏิบัติการกองร้อยรักษาความสงบ กองพันทหารม้าที่ 14 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา ซึ่งหากจำเป็นที่จะต้องใช้ ม.44 ก็จะต้องอยู่ที่คำสั่งและความชัดเจน ซึ่งทหารพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ความเสียหาย เริ่มขยายวงกว้างไปเกือบทั้งอำเภอ เนื่องจากมีชาวบ้านที่รู้ข่าวทยอยเข้ามาร้องทุกข์จำนวนมาก ส่วนการรวบรวมเพื่อร้องทุกข์โดยชาวบ้าน ขณะนี้มีมากกว่า 350 คน เตรียมที่จะยืนร้องทุกข์ให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงเนื่องจากคดีการฉ้อโกงมีอายุความเพียง 3 เดือน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งความเป็นบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานเพื่อขยายเวลาในการตรวจสอบเพื่อเอาผิดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image