จิตวิวัฒน์ : ปฏิรูปการศึกษาไทย การสะท้อนการเรียนรู้ : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

ในฐานะที่เป็นคนไทย รู้สึกเจ็บปวดลึกๆ ทุกครั้งที่ได้ยินคนไทยด้วยกันพูดว่า ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา และยิ่งรู้สึกสะเทือนใจมากขึ้นเมื่อได้ยินชาวต่างชาติที่รู้จักและรักประเทศไทย พูดว่าประเทศไทยมีของดีมีคุณค่ามากมาย แต่คนไทยไม่เห็นคุณค่าและรักษาของดีเหล่านั้น แต่กลับไปไล่ล่าเลียนแบบฝรั่ง ไปติดกับดักความคิดและมาตรฐานภายนอกแบบตะวันตก

ทำไมเราต้องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบต่างๆ ตามเกณฑ์ตามมาตรฐานของต่างชาติ ที่เรียกว่ามาตรฐานสากล? ทำไมต้องตามเขา? ทำไมไม่ทำของเราให้แตกต่าง ดี และมีคุณค่ามากพอที่ต่างชาติจะมาเทียบเคียงกับเราบ้าง? ประเทศฟินแลนด์พัฒนาระบบและจัดการศึกษาของเขาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่เลียนแบบใคร แต่กลับได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง ประเทศไทยควรเรียนรู้จากเขา ไม่ต้องเลียนแบบฟินแลนด์ เพราะบริบทของไทยไม่เหมือนเขา

เท่าที่ผมสังเกตจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิด ทฤษฎี หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีการดำเนินชีวิต เราก็มีความคิดจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ทันสิ่งใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

หรือเมื่อไรที่มีผลการจัดอันดับที่ไม่ดี เราก็คิดจะปฏิรูปเพื่อหวังจะให้มีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้น การคิดตามลักษณะที่ยกตัวอย่างมานี้ ผมเรียกว่าเป็นการคิดแบบมีปฏิกิริยาตอบโต้ (Reactive Thinking) หรือนุ่มนวลหน่อยก็เรียกว่าการคิดแบบตอบสนอง (Responsive Thinking)

Advertisement

และการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ก็เป็นการปฏิรูปการศึกษาแบบที่เรียกว่าการศึกษา 4.0 เพื่อตอบสนองหรือเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศตามโมเดลการปฏิรูปไทยแลนด์ 4.0

ทั้งสามตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว มีตัวร่วมคือ เป็นการคิดแบบไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามกระแส เมื่อยุคใหม่มันเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) การศึกษาไทยก็ต้องเป็นการศึกษาดิจิทัล (Digital Education) ด้วย

ในฐานะที่เคยเรียนและเคยสอนวิชาปรัชญาการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัย ผมมีคำถามฝากให้ผู้ที่กำลังจะปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาอย่างใคร่ครวญว่า การศึกษาและโดยเฉพาะอุดมศึกษาควรให้ความสำคัญกับการไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง หรือการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง? เป้าหมายและคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาคือ การสร้างคนให้เป็นคนดีมีคุณธรรม นำความรู้ไปสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ หรือการทำให้เป็นมนุษย์เศรษฐกิจ มนุษย์อุตสาหกรรม และมนุษย์ดิจิทัล?

Advertisement

ในฐานะที่เคยเรียนและเคยสอนวิชาอนาคตศึกษาและการวิจัยอนาคตในมหาวิทยาลัย ก็มีประเด็นฝากให้พิจารณาว่า การศึกษาและโดยเฉพาะอุดมศึกษาจะเน้นและสร้างสมดุลในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร ระหว่างการมุ่งเน้นแก้ปัญหา-การสร้างความสำเร็จ, การแก้อดีตที่ไม่พึงประสงค์-การสร้างอนาคตที่พึงประสงค์, การคิดแบบมีปฏิกิริยาตอบโต้-การคิดไปข้างหน้า, ประวัติศาสตร์-อนาคตศาสตร์, อุดมคติ-แนวโน้มที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต

ในฐานะที่เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ และผู้ร่วมขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษา ก็มีประเด็นฝากให้พิจารณาว่า การศึกษาไทยจะเน้นและสร้างสมดุลในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร ระหว่างการเปลี่ยนแปลงภายนอก-การเปลี่ยนแปลงภายใน, ความรู้-ปัญญา, กาย-เชาวน์ปัญญา-จิตวิญญาณ, ความรู้-ความรู้สึก-ค่านิยม-ทัศนคติ-ความคิด-ความเชื่อ, สังคมมูลค่า-สังคมคุณค่า, การแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่ง-การร่วมมือ เป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความหลากหลาย (Unity Through Diversity), ระดับรายได้มวลรวม-ระดับความสุขมวลรวม

ในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาตลอดชีวิตการรับราชการที่จุฬาฯ จนเกษียณ พบว่าการศึกษาไทยต้องตกเป็นแพะรับบาปทุกครั้งที่ผลการจัดอันดับของการศึกษาไทยร่วงหล่นหรือแพ้เพื่อนบ้าน และผู้กุมบังเหียนการศึกษาก็ใช้เป็นเหตุในการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูประบบการศึกษา

ความจริงที่สำคัญประการหนึ่งคือ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลและรัฐมนตรีด้านการศึกษาบ่อยมาก และส่วนใหญ่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบการศึกษาก็ไม่ใช่นักการศึกษา แต่ละท่านที่เข้ามาก็มีนโยบายใหม่ การจัดการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนใหม่ไปตามนโยบาย ของใหม่ที่เชื่อว่าจะดีจะเพิ่มคุณภาพการศึกษา ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้เริ่ม ก็ต้องเปลี่ยนหรือปรับแก้ใหม่อีก ทั้งๆ ที่เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องคิด วางแผน และลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ แบบเป็นองค์รวม

การศึกษาเป็นกระบวนการสร้างและพัฒนาคนให้เป็นคนดี คนมีคุณธรรม และคุณภาพ เพื่อให้ไปพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติ จึงต้องคิดไปข้างหน้า จากระยะยาว 20 ปีขึ้นไป แล้วทอนลงมาเป็นระยะๆ เช่น 15 ปี 10 ปี 5 ปี และมีแผนปฏิบัติการระยะสั้น แล้วลงมือทำตั้งแต่ปัจจุบัน

เรากล้าที่จะปลดแอกระบบการศึกษาไทยออกจากระบบการศึกษากระแสหลักที่ถูกครอบด้วยระบบคิดและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมหรือไม่?

เศรษฐกิจดิจิทัลควรเป็นเป้าหมายและทิศทางของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้หรือไม่?

เราควรจัดการศึกษาเพื่อไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงหรือรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง?

เราพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านจาก แต่ผนวกรวม การศึกษา 4.0 ไปสู่การศึกษารูปแบบอื่นๆ เช่น การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ การศึกษาเพื่อความเป็นไทย การศึกษาเพื่อความพอเพียง การศึกษาที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน หรือการศึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล…หรือไม่? หรือเราควรจะปฏิรูปหรือยุบกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่?

คนในวงการศึกษายินดีและเชิญชวนคนนอกให้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำการศึกษาตลอดมา แต่ปัญหาเฉพาะที่สำคัญของการศึกษาไทย เป็นเพราะคนในวงการศึกษามองไม่ทะลุเหมือนที่ผู้ใหญ่บางท่านพูด หรือเป็นเพราะคนนอกที่มีอำนาจเหนือคนในเอามีด (นโยบาย) เข้ามาทิ่มแทงระบบการศึกษาเป็นระยะๆ จนทะลุจนเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง? หรือทั้งคู่? ลองตั้งสติและใช้ปัญญาใคร่ครวญทบทวนให้ดีๆ

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image