ใครฆ่า’คิม จอง นัม’ สายลับ-สายเลือด

คิม จอง นัม (ซ้าย) - คิม จอง อึน (ขวา) (AFP PHOTO / Toshifumi KITAMURA AND Ed JONES)

การลอบสังหาร “คิม จอง นัม” พี่ชายต่างมารดาของนาย “คิม จอง อึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ ด้วยยาพิษ ตามสไตล์การลอบฆ่าในช่วงสงครามเย็น ที่สนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ไม่ใช่เรื่อง “น่าแปลก” เหตุเพราะก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามลอบสังหารนายคิม จอง นัมมาแล้ว

นายคิม จอง นัม เกิดที่กรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2514 เป็นบุตรชายคนโตของนายคิม จอง อิล อดีตผู้นำเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับ กับดาราสาวคนหนึ่ง เมื่อเติบใหญ่ นายจอง นัม ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยคิม อิล ซุง และประจำการในกองทัพประชาชนเกาหลี กระทั่งปี 2541 นายจอง นัม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และถูกมองว่าจะได้เป็นผู้นำเกาหลีเหนือสืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดา หากแต่ไปเกิดเหตุฉาวขึ้นก่อน อันเนื่องมาจากการที่นายจอง นัม ถูกจับที่สนามบินนานาชาตินาริตะของญี่ปุ่น ข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอมเข้าประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2544 พร้อมกับผู้หญิง 2 คน และเด็กชายอายุ 4 ขวบคนหนึ่ง ที่ระบุว่าเป็นลูกชายของจอง นัม

รายงานระบุว่า หนังสือเดินทางปลอมที่ใช้เป็นหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐโดมินิกัน และใช้ชื่อปลอมว่า ผาง เซี่ยง โดยระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นซักถาม นายจอง นัม บอกว่า เขาอยากจะไปเที่ยวที่ดิสนีย์แลนด์

เรื่องดังกล่าว ทำให้คิม จอง อิล ถึงกับยกเลิกแผนการเดินทางเยือนประเทศจีน ส่วนนายจอง นัม ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน โดยเฉพาะที่ “เกาะมาเก๊า” ว่ากันว่าเขาใช้หนังสือเดินทางประเทศโปรตุเกสในการเดินทาง แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายจอง นัม ออกจากเกาหลีเหนือไปเมื่อใด

Advertisement

หลังการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของจอง นัม หลายคนก็จับจ้องไปที่ “คิม จอง ชอล” บุตรชายคนที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของนายคิม จอง อึน ว่าจะได้ขึ้นเป็นผู้นำต่อจากบิดา หากแต่ สก็อต สไนเดอร์ จากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เคยเขียนเรื่องราวของ คิม จอง ชอล เอาไว้เมื่อปี 2555 ว่าด้วยความที่ คิม จอง ชอล ดูมีความ “ตุ้งติ้ง” มากเกินไป ก็เลยถูกตัดออกจากการเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำ

ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งผู้นำประเทศเกาหลี เหนือ จึงตกเป็นของ “คิม จอง อึน” ลูกชายคนสุดท้องของคิม จอง อิล หลังจากนายคิม จอง อิล เสียชีวิตลงเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ในงานศพของคิม จอง อิล ก็ไม่ปรากฏว่านายจอง นัม ร่วมในงานแต่อย่างใด จนทำให้เกิดกระแสข่าวลือสะพัดว่า นายจอง นัม ถูกเนรเทศออกจากประเทศเกาหลีเหนือไปแล้ว

มีรายงานด้วยว่า จอง นัม ต้องเดินทางออกจากมาเก๊าเมื่อช่วงปลายปี 2555 หลังจากมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง เนื่องจากมีข่าวการจับกุมตัวสายลับชาวเกาหลีเหนือได้ที่ประเทศเกาหลีใต้ และสายลับคนดังกล่าวยอมรับระหว่างการถูกสอบปากคำว่า ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการลอบสังหารนายจอง นัม ในเดือนกรกฎาคม 2553 และยังมีรายงานความพยายามลอบสังหารนายจอง นัม ไม่นานหลังการตายของคิมผู้พ่อ แต่ประสบความล้มเหลว

หลังจากนั้น จอง นัม ก็ใช้เวลาช่วงหนึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่จะมีคนเห็นนายจอง นัม ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนมกราคม 2557 หลังจากที่นายคิม จอง อึน สั่งประหารนายจาง ซอง แท็ก อาเขย ผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของนายคิม จอง อึน

นายคิม บยอง คี สมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองรัฐสภาเกาหลีใต้ เปิดเผยหลังการตายของนายจอง นัม ว่าจากข้อมูลที่ได้จากนายอี บยอง โฮ หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ ระบุว่า นายจอง นัม เคยถูกลอบสังหารมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2555 ในประเทศเกาหลีเหนือ เพราะเป็นที่รู้กันว่า นายจอง นัม เป็นผู้ที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการปกครองเกาหลีเหนือ และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน นายจอง นัม ได้ส่งจดหมายไปยังนายคิม จอง อึน เพื่อร้องขอให้ไว้ชีวิตตนและครอบครัว

นายจอง นัม บอกไว้ในจดหมายด้วยว่า ตนไม่มีที่จะไปแล้ว และรู้ดีว่าหนทางเดียวที่จะหลบหนีได้ คือ “การฆ่าตัวตาย”

นายบยอง คี บอกว่า นายจอง นัม ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองในเกาหลีเหนือน้อยมาก และยังถือว่าเป็นผู้ที่เป็นภัยคุกคามต่อจอง อึน เพียงน้อยนิด

ด้านนายอี ชเว วู สมาชิกคณะกรรมาธิการฯ อีกคน บอกว่า ในส่วนของครอบครัวของจอง นัม ทั้งอดีตภรรยาและภรรยาคนปัจจุบัน พร้อมกับลูกๆ อีก 3 คน ปัจจุบันอยู่กรุงปักกิ่งและที่มาเก๊า โดยทั้งหมดอยู่ในความคุ้มครองดูแลจากทางการจีน อันเนื่องมาจาก นายจอง นัม มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลปักกิ่ง

โยจิ โกมิ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “มายฟาเธอร์ คิม จอง อิล แอนด์ มี” หนังสือที่ได้มาจากการสัมภาษณ์นายจอง นัม หลายต่อหลายครั้ง เล่าเรื่องของนายจอง นัม ให้กับซีเอ็นเอ็น เมื่อปี 2555 ว่านายจอง นัม ชายร่างท้วม เป็นบุคคลที่พูดจาขวานผ่าซาก อีกทั้งยังชอบวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของเกาหลีเหนือ เป็นบุคคลที่ดูมีความฉลาดและมีใจที่เปิดกว้าง ผิดจากบิดาและน้องชาย โดยเฉพาะในเรื่องการปกครองประเทศเกาหลีเหนือ จอง นัม กล้าที่จะพูดแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องของครอบครัวตัวเอง เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ

“เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ‘กองทัพต้องมาก่อน’ ของบิดา เขาอยากจะให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ และอยากให้เกาหลีเหนือเปิดประเทศ” โกมิกล่าว และว่า จอง นัม เชื่อด้วยว่า น้องชายคนสุดท้องของเขา “คิม จอง อึน” จะล้มเหลวในความเป็นผู้นำเกาหลีเหนือ แม้ว่าทั้งสองจะไม่เคยได้พบกันเลย อันเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติโบราณที่จะไม่ให้ผู้ที่คาดว่าจะเป็นผู้นำในอนาคต ได้พบกัน

นายจอง นัม ยังเคยให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อาซาฮีของญี่ปุ่น เมื่อปี 2553 บอกว่า ตัวเขาเองนั้นไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจสู่ลูกหลานของครอบครัว และยังเคยยืนยันด้วยว่า เขาไม่เคยมีแผนที่จะขึ้นเป็นผู้นำของเกาหลีเหนือแต่อย่างใด

การตายของนายจอง นัม เกิดขึ้นในขณะที่คิม จอง อึน กำลังกวาดล้างบรรดาผู้นำอาวุโสรอบๆ ตัว รวมไปถึงการยิงเป้ารัฐมนตรีความมั่นคงแห่งรัฐเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ขณะที่รายงานของคณะทำงานของเกาหลีใต้ที่ออกมาเมื่อตอนสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่า คิม จอง อึน ได้สั่งประหารผู้คนไปแล้ว 340 คน นับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำเกาหลีเหนือ

ส่วนการตายของนายคิม จอง นัม จะเกี่ยวข้องกับศึกสายเลือดหรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image