เวียงเหล็ก (วัดพุทไธศวรรย์) ศูนย์กลางอำนาจรัฐอโยธยา ก่อนสถาปนาอยุธยา

ตำหนักเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง พงศาวดารว่าถวายสร้างวัด เมื่อเสร็จสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 (ขวา) พระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ มีกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมล้อมรอบอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง อยู่บริเวณเมืองปทาคูจาม เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ อโยธยาศรีรามเทพ ก่อนสถาปนาพระนครศรีอยุธยา

พระตำหนักเวียงเหล็ก คือที่ประทับถาวรสืบเนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่ใช่ประทับชั่วคราว (ตามที่เชื่อกันมา)

ก่อนหน้านี้ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีให้ความสำคัญพื้นที่ฟากตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา โดยมองข้ามพื้นที่ฟากตะวันตกเฉียงใต้

เวียงเหล็ก

Advertisement

เวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศใต้ มีแกนหลักอยู่วัดพุทไธศวรรย์

อาณาบริเวณของเวียงเหล็กโดยประมาณมีดังนี้

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเขตด้านเหนือกับด้านตะวันออก แล้วมีคลองตะเคียนเป็นเขต (เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา) ด้านตะวันตกกับด้านใต้

Advertisement

ทุกวันนี้เรียก ต. สำเภาล่ม ต่อเนื่อง ต. คลองตะเคียน อยู่ในเขต อ. เมือง จ. พระนครศรีอยุธยา มีคลองคูจาม ผ่าออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนตะวันออกถึงแม่น้ำเจ้าพระยา กับส่วนตะวันตกถึงคลองตะเคียน

เวียงเหล็ก เป็นคำยกย่องเวียงหรือเมืองว่ามั่นคงแข็งแกร่งเหมือนมีกำแพงล้อมทำด้วยเหล็ก โดยไม่จำเป็นต้องมีกำแพงทำด้วยเหล็กจริงๆ และอาจมีแต่คูน้ำ ไม่มีกำแพงก็ได้ มีใช้ในวรรณกรรม เช่น นิทานตำนานต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยวนพ่าย โคลงดั้น ยุคต้นอยุธยา เมื่อพรรณนาเมืองเชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย) แข็งแกร่งมั่นคงเหมือนทำด้วยเหล็ก “เร่งมั่นเหลือหมั้นยิ่ง เวียงเหล็ก”

ชื่อเวียงเหล็ก อาจมาจากคำบอกเล่าเก่าแก่ในคำให้การชาวกรุงเก่า ว่าพระเจ้าอู่ทองกินเหล็กที่ขูดเป็นผงละเอียดผสมในอาหารทุกเวลา

พระเจ้าอู่ทอง ประทับในพระตำหนักเวียงเหล็ก

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย เคยบอกว่าพระเจ้าอู่ทอง (องค์ที่สร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893) มีหลักแหล่งอยู่เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี)

ต่อมา โรคห่าระบาด ผู้คนล้มตาย จึงอพยพไพร่พลและไพร่ฟ้าไปหาที่สร้างเมืองใหม่ (บริเวณที่จะเป็นกรุงศรีอยุธยาต่อไปข้างหน้า) แล้วสร้างที่ประทับชั่วคราวอยู่เวียงเหล็ก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเหตุการณ์ เมื่อสร้างเมืองใหม่เสร็จก็ถวายเวียงเหล็กเป็นที่สร้างวัดพุทไธศวรรย์ จะคัดมาบางตอน ดังนี้

“แรกพระเจ้าอู่ทองยกมา มาตั้งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์เดี๋ยวนี้ก่อน ข้าพเจ้าเห็นวันในจดหมายเหตุของโหรเข้าใจว่า แรกพระเจ้าอู่ทองยกมาตั้งที่เวียงเหล็ก (คือที่สร้างเป็นวัดพุทไธศวรรย์เมื่อภายหลัง) เมื่อปีกุน จุลศักราช 709 พ.ศ. 1890 อยู่ที่นั่น 3 ปี เมื่อเห็นถึงเวลาควรจะประกาศเป็นอิสรภาพเปิดเผยได้แล้ว จึงสร้างพระนครศรีอยุธยา และทำพิธีราชาภิเษก โดยประกาศเป็นอิสรภาพ เมื่อปีขาล (ที่จริงปีเถาะยังเป็น) โทศก จุลศักราช 712 พ.ศ. 1893”

ปากคลองคูจามด้านเหนือ แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดพุทไธศวรรย์
ปากคลองคูจามด้านเหนือ แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดพุทไธศวรรย์

[คำอธิบายพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2457)]

วัดพุทไธศวรรย์ มีพระปรางค์ (แบบปราสาทขอม) เป็นประธาน อยู่ในกำแพงแก้วล้อมรอบ น่าจะเป็นบริเวณเดิมของที่ตั้งตำหนักที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งอยู่ในเวียงเหล็กอีกทีหนึ่ง

สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเรื่องการสร้างวัดพุทไธศวรรย์ ว่า

“ศักราช 714 ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. 1896) วันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 1 ค่ำ เพลา 2 นาฬิกา 5 บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่าที่ตำหนักเวียงเหล็กนั้น ให้สถาปนาพระวิหารและพระบรมธาตุเป็นพระอารามแล้วให้นามชื่อวัดพุทไธศวรรย์”

กรณีพระเจ้าอยู่ทองอพยพจากเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี เป็นที่รู้ทั่วกันหลายสิบปีแล้ว ว่าไม่จริงอย่างนั้น

ดังนั้น พระตำหนักเวียงเหล็ก ย่อมไม่ใช่ที่ประทับชั่วคราว หากเป็นที่ถาวรตกทอดจากพระเจ้าแผ่นดินยุคอโยธยาก่อนหน้านั้น

ตอนกลางคลองคูจาม มีถนนคอนกรีตสองฟาก
ตอนกลางคลองคูจาม มีถนนคอนกรีตสองฟาก

เวียงเหล็ก เมืองปทาคูจาม ศูนย์กลางอำนาจรัฐอโยธยา

น. ณ ปากน้ำ เชื่อว่าบริเวณคลองคูจามหรือเมืองปทาคูจาม คือ เวียงเหล็ก หรือเวียงเล็ก (จากหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) ดังนี้

“อันลำคลองคูจามนี้อยู่ใกล้กับวัดพุทไธศวรรย์ ถัดไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย บริเวณนั้นแต่เดิมเป็นตำหนักเวียงเหล็ก (เข้าใจว่าเดิมจะเรียกตำหนักเวียงเล็ก) ของพระเจ้าอู่ทอง สมัยก่อนที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตัวเกาะอยุธยาปัจจุบัน ครั้นเมื่อพระองค์สถาปนานครใหม่เสร็จแล้ว จึงถวายวังเป็นวัด ให้ชื่อว่า วัดพุทไธศวรรย์—–

แม้ว่าวังของพระองค์จะถวายเป็นวัดแล้ว ส่วนใหญ่ก็คงจะบริบูรณ์ คงมีเจ้านายสำคัญที่ตั้งหลักมั่นอยู่แล้วประทับอยู่ ต่อมาจึงเรียกกันว่าเวียงเล็ก ทำนองว่าเมืองใหม่เป็นเวียงใหญ่

ตัวเวียงเล็กนี้กระมังคือเมืองปทาคูจาม—–ที่มั่นเดิมของพระเจ้าอู่ทองนั่นเอง—-

หลักฐานที่ตรวจสอบได้จากตำบลเวียงเหล็ก รอบๆ อาณาบริเวณวัดพุทไธศวรรย์ พบซากวัดร้างมากมายนับไม่ถ้วน จากหลังวัดตำหนักโอบไปทางใต้ ถึงวัดสระสี่เหลี่ยม วัดแดง และวัดตระเว็ด ในเวิ้งนี้ปัจจุบันกลายเป็นทุ่งนา แต่เมื่อออกเดินสำรวจ จะพบซากโบราณสถานร้างตามเนินดินต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง

ตามซากโบราณสถานเก่าแก่ที่พบมากมายสองฝั่งคลองคูจาม ซึ่งส่วนมากรกร้างขนาดหนัก บ่งว่าบริเวณนี้เคยมีความสำคัญมาก่อนแต่อดีต

น่าสังเกตว่าที่วัดพญากง อยู่ทางทิศตะวันตก ใกล้กับวัดพญาพาน มีหลักฐานสำคัญพิเศษกว่าที่อื่น คือที่นั่นพบศิลปะทวารวดีด้วย พระพุทธรูปของวัดนี้สลักหิน มีขนาดใหญ่ ประทับห้อยพระบาท ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา คณะสำรวจของเรามุ่งไปที่นั่น พบซากสถูปใหญ่ข้างในเป็นโพรง เรียงอิฐเป็นระเบียบ เพดานห้องในสถูปโค้ง ศิลปะการก่อสร้างแบบนี้ได้ค้นพบเจนตาตามศิลปะทวา รวดี และสถูปรุ่นเก่า เช่น ที่วัดพระเมรุ นครปฐม และโบสถ์พราหมณ์ ลพบุรี เป็นต้น ระบุว่าเป็นโบราณสถานเก่า มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา”

ตอนปลายคลองคูจาม ด้านใต้ ไปเชื่อมคลองตะเคียน
ตอนปลายคลองคูจาม ด้านใต้ ไปเชื่อมคลองตะเคียน

คลองคูจาม ในประวัติศาสตร์ต้นอยุธยา

คลองคูจาม (ต. สำเภาล่ม อ. เมือง จ. พระนครศรีอยุธยา) อยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นคลองขุด แนวเกือบตรง แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา (ใกล้วัดพนัญเชิง ด้านตะวันออก) ลงทางทิศใต้ ไปเชื่อมคลองตะเคียน

พระรามาธิบดี (ถูกสมมุติเรียกตามตำนานว่าพระเจ้าอู่ทอง) เป็นเชื้อสายวงศ์ละโว้ (ขอม พูดภาษาเขมร เครือญาติใกล้ชิดกับกษัตริย์กัมพูชา) มีโอรสชื่อพระราเมศวร ต่อมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

พระราเมศวร มีโอรสชื่อพระรามราชา เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

พระรามราชา ขัดแย้งกับเสนาบดี (ขุนนาง) จะเข้าควบคุมกุมจับ แต่เสนาบดีหนีข้ามไปอยู่ฟาก “ปท่าคูจาม”

เสนาบดี (ของพระรามราชา) นัดหมายเจ้านครอินทร์พระเจ้าแผ่นดินสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ยกไพร่พลยึดอยุธยา แล้วให้พระรามราชา “ไปกินเมืองปท่าคูจาม”

ปท่าคูจาม ต้องมีความสำคัญมากในยุคนั้น เพราะเมื่อขัดแย้งทางการเมืองก็มักหนีไปที่นั่นแล้วปลอดภัย

เวียงเหล็ก ขุมกำลังเชื้อสายขอมละโว้

คลองคูจาม คือบริเวณที่เรียก “เมืองปท่าคูจาม” พงศาวดารบอกว่าเมื่อเจ้านครอินทร์จากสุพรรณภูมิยึดได้อยุธยา พ.ศ. 1952 (ราว 600 ปีมาแล้ว) จึงให้พระรามราชา เชื้อสายรามาธิบดีเมืองละโว้ “ไปกินเมืองปท่าคูจาม” (ข้อความในพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ)

ถ้าพิจารณาจากตำนานพงศาวดารอันเป็นที่รู้กันว่าก่อนสถาปนาอยุธยา พ.ศ. 1893 สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ถูกเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง) สร้างตำหนักที่ประทับชั่วคราวอยู่เวียงเหล็กไว้บริเวณนี้ (ปัจจุบัน คือ วัดพุทไธศวรรย์) แล้วขุดคลองคูจาม (ชื่อเรียกสมัยหลัง)

ย่านคลองคูจาม คือหลักแหล่งขุมกำลังทางเศรษฐกิจการเมืองของเชื้อสายขอมละโว้ มีอาณาบริเวณเท่ากับเมืองหนึ่งในยุคโน้น ตำนานพงศาวดารจึงให้ความสำคัญย่านนี้เรียกเวียงเหล็ก

เจ้านครอินทร์ให้รามราชาไปกินเมืองฝั่งโน้น (คลองคูจาม) น่าจะหมายถึงกลับไปอยู่บ้านเดิมของบรรพชนละโว้ เหมือนกรณีพะงั่วครองอยุธยาแล้วให้ราเมศวร (โอรสรามาธิบดี) กลับไปละโว้

ตรงนี้ต้องร่วมกันทักท้วงถกเถียง แล้วทบทวนใหม่อีกมากมายหลายเรื่อง โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อยุติ

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสายหลักไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ ฝั่งซ้ายเป็นย่านชาวจีน ฝั่งขวาเป็นย่านชาวมุสลิม มีเวียงเหล็ก เมืองปทาคูจาม (บริเวณที่ทำสกรีนไว้ในแผนที่)
แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสายหลักไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ ฝั่งซ้ายเป็นย่านชาวจีน ฝั่งขวาเป็นย่านชาวมุสลิม มีเวียงเหล็ก เมืองปทาคูจาม (บริเวณที่ทำสกรีนไว้ในแผนที่)

ปท่าคูจาม แปลว่า ฝั่งโน้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชวินิจฉัย ร.5 ว่า ปท่าคูจาม มาจาก “ปละท่าคูจาม” หมายถึง ฟากข้าง, ฝ่ายข้าง [อธิบายฯ ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542 หน้า 212]

ปท่า ไม่ใช่ชื่อสถานที่ แต่เป็นคำบอกตำแหน่งว่าอยู่ตรงไหน? คำนี้กร่อนจาก ปละท่า แปลว่า ฝั่งโน้น, คนละฝั่ง หรือ ฟากข้างโน้น, ฝ่ายข้างโน้น บางทีเขียน “ประท่า” ก็ได้

[จ. สงขลา มี อ. ปละท่า ชื่อเดิมของ อ. สทิงพระ น่าจะเป็นคำเดียวกันและความหมายเดียวกับ ประท่า เพราะสทิงพระอยู่คนละฟากทะเลสาบกับเมืองสงขลา]

คูจาม เป็นชื่อสถานที่ หรือบอกลักษณะสถานที่ ว่าเป็นคูน้ำที่ขุดขึ้นแสดงขอบเขตของเวียงที่มีพวกแขกจาม (มุสลิม) ตั้งบ้านเรือนสองฟาก ปัจุจบันเรียกคลองคูจาม

[จาม หมายถึง มุสลิมพูดตระกูลภาษาชวา-มลายู ชำนาญเดินเรือทะเล มีเอกสารระบุว่าในยุคอยุธยามีอาสาจาม (เทียบเท่ากองทัพเรือ)]

ปท่าคูจาม สอดคล้องเข้ากันได้กับเวียงเล็ก ที่ประทับชั่วคราวของพระรามาธิบดี ที่ขุดคูน้ำแสดงขอบเขตไว้

ตำนานบอกว่าเมื่อจะสถาปนาอยุธยา พระรามาธิบดีมีตำหนักอยู่เวียงเล็ก (มักเรียกสมัยหลังว่า เวียงเหล็ก) อยู่ฟากตรงข้ามวัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นย่านพ่อค้าจีน

เวียง หมายถึง บริเวณที่มีคูค่ายเป็นขอบเขต เวียงเหล็ก คือบริเวณที่มีคูค่ายมั่นคงแข็งแรงเสมือนทำด้วยเหล็ก (เป็นคำยอยศ แต่อาจไม่จริงตามนั้นทั้งหมด)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image