ประชุมรมต.สิ่งแวดล้อมอาเซียนแก้หมอกควันแม่โขง ไทยยืดอกลดฝุ่นได้20% พร้อมจับมือพม่าหยุดไฟป่า

ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนแก้หมอกควันข้ามแดน ไทยยืดอก ลดฝุ่นควันได้ 20% เลยช่วงเวลาอันตรายมา 10 วันแล้ว ยังไม่มีพื้นที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน ผู้นำชนเผ่าไทยพม่าจับมือลดเผา

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศอนุภูมิภาคแม่โขง เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 6 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงราย โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตัวแทนจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ลาว โดยมีสำนักงานเลขาธิการอาเซียนทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนายวิจารย์ได้รายงานสถานการณ์สภาพอากาศในที่ประชุมว่า ปีนี้สถานการณ์การเกิดหมอก ควันไฟ น่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากสภาพอากาศอยู่ในช่วงความเป็นกลางระหว่างเอลนิโญกับลานิญา อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคแม่โขงได้ตั้งเป้าการลดจำนวนจุดความร้อน หรือฮอตสปอต ให้เหลือไม่เกิน 75,000 จุด ภายในปี 2560 และไม่เกิน 50,000 จุด ภายในปี 2563 ทั้งนี้ ในการประชุมเรื่องนี้ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 ประเทศสมาชิกเห็นพ้องร่วมกันที่จะลดจุดความร้อนภายในประเทศของตัวเอง เพื่อนำไปสู่ Haze-Free ASEAN หรืออาเซียนปราศจากหมอกควัน ให้ได้ภายในปี 2568

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนั้น ตัวแทนจากประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางการทำงานเพื่อลดปริมาณหมอกควันในช่วงปี 2559-2560 เพื่อให้ประเทศสมาชิกรับทราบและอาจจะนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศตัวเองได้ โดยปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยสามารถลดปริมาณจุดความร้อนและฝุ่นละอองได้มากกว่าร้อยละ 20 โดยแนวทางที่ประเทศไทยทำคือ การระดมสรรพกำลัง งบประมาณ อุปกรณ์ เครื่องมือ และอากาศยาน เพื่อเฝ้าระวังการดับไฟที่เกิดขึ้นก่อนเกิดการลุกลามเป็นวงกว้าง และสร้างแนวร่วมชุมชนเฝ้าระวังรักษาป่าและลดการเผา

Advertisement

S__9117866

พล.อ.สุรศักดิ์แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการแก้ไขปัญหาจากจำนวนจุดความร้อนสะสมของอนุภูมิภาคแม่โขง โดยให้ลดจำนวนจุดความร้อนลงเหลือไม่เกิน 50,000 จุด ในปี 2563 โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน และประเทศไทยได้นำเสนอ Chiang Rai 2017 Plan of Action for Transboundary Haze Pollution Control in the Mekong Sub-Region หรือแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และใช้เป็นแนวทางในจัดลำดับความสำคัญกิจกรรมเพื่อผลักดันให้ลดจำนวนจุดความร้อนลงเหลือไม่เกิน 50,000 จุด ในปี 2563 สำหรับอนุภูมิภาคแม่โขง โดยมุ่งเน้นการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งการลดความเสี่ยงของผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรี ทส.กล่าวว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยินดีจัดส่งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เพื่อดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ให้แก่บุคลากรในประเทศเมียนมาและกัมพูชาตามที่มีการร้องขอ

เมื่อถามเรื่องที่ประเทศเมียนมามีปัญหาเรื่องการควบคุมไฟในพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อยนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล เรื่องนี้จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพประชุมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือการลดปัญหาไฟป่า พื้นที่ชายแดนระหว่างกลุ่มผู้นำชนเผ่าอาข่าของเมียนมาที่อาศัยอยู่ชายแดนไทย เมียนมา และผู้นำชนเผ่าอาข่าของไทย มีการยืนยันร่วมกันว่าจะช่วยระมัดระวังป้องกันไฟป่าอย่างเต็มที่

“ปี 2559 ปริมาณฮอตสปอตลดลงจากปี 2558 20% และตั้งใจว่าปีนี้ก็จะให้ลดลงจากปี 2559 อีก 20% ซึ่งโอกาสที่จะทำได้สูงมาก เพราะจนถึงวันนี้เลยระยะเวลาอันตรายมา 10 กว่าวันแล้ว ยังไม่มีพื้นที่ใดในภาคเหนือที่มีปริมาณฝุ่นควันไฟเกินมาตรฐานเลยแม้แต่จังหวัดเดียว” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

S__9117862

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image