ชาวพม่าติง ‘เพลิงพระนาง’ หมิ่นสถาบันกับทายาท เรียกร้องยุติออกอากาศ

ออกอากาศไปเพียงไม่กี่ตอน แต่ละคร ‘เพลิงพระนาง’ ที่ฉายทุกวัน ศุกร์-อาทิตย์ ทางช่อง 7 ก็สร้างกระแส #เพลิงพระนางครองแผ่นดิน ทั่วประเทศไทยไปแล้ว หากล่าสุดในเฟซบุ๊ค Subhatra Bhumiprabhas สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เป็นเรื่อง!ทายาทรุ่นเหลนพระเจ้าธีบอเขียนมาบอกว่าที่พม่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์ละครเรื่องนี้ และเขารู้ว่าธีมหลักของเรื่องบอกว่าประเทศถูกทำลายเพราะมเหสีของพระเจ้ามินดงและมเหสีของพระเจ้าธีบอ” พร้อมกับแชร์ข้อความจากเพจ SAI – International Music & Movies Channel ที่วิจารณ์ละครเรื่องดังกล่าว

pm

ทั้งนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวพม่าหลายรายเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์กับเรื่องที่ปรากฏในละครไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันยังบอกว่านี่คือประวัติศาสตร์ของพม่า ทำไมไทยถึงสร้างละครเรื่องนี้ ผู้สร้างละครควรจะให้ความเคารพกับราชสำนักพม่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้สุภัตรา ให้สัมภาษณ มติชนออนไลน์ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า บังเอิญว่าตนรู้จักกับทายาทของพระเจ้าธีบอ และได้พูดคุยกันถึงเรื่องละครเพลิงพระนาง และก็ได้รับเสียงสะท้อนดังกล่าวมา โดยเพจของพม่า SAI – International Music & Movies Channel ได้แชร์ด้วยว่าละครเรื่องนี้เกี่ยวกับพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ ซึ่งถือเป็นการหมิ่นสถาบันรวมถึงตัวทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงอยากเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศละครเรื่องดังกล่าว

Advertisement

“เราก็บอกเขาไปว่าเท่าที่รู้โปรดิวเซอร์ละครเรื่องนี้บอกว่า เป็นจินตนาการที่มาจากหนังสือสองเล่มซึ่งผู้แต่งก็เสียชีวิตไปแล้ว”สุภัตรากล่าว และว่าในวันพฤหัสบดีที่ 2 มี.ค.นี้ ตนมีกำหนดเดินทางไปที่พม่าอยู่แล้ว จึงตั้งใจจะไปคุยอีกครั้ง

“เขาเข้าใจว่าเป็นละคร แต่ก็บอกว่าไม่ว่าจะเป็นสิ่งสมมติ หรือสิ่งที่มาจากจินตนาการ ก็ไม่ควรจะสร้างขณะที่ยังมีทายาทซึ่งมีชีวิตอยู่ แล้วธีมหลักของละครเรื่องนี้เขาก็รู้มาว่ามันให้ร้าย คือกล่าวหาพระมเหสีพระเจ้ามินดง และมเหสีพระเจ้าธีบอ ว่าทำให้เสียประเทศเสียเมือง พอมาทำเป็นละครมันก็ถูกเผยแพร่ไปทั่ว เพราะฉะนั้นเขาไม่เห็นด้วย เขาก็โพสต์ประท้วง เรื่องนี้เซนท์ซิทีฟนะ แต่เราก็บอกเขาไปว่าในฐานะที่เราเป็นคนแปลหนังสือด้วย ซึ่งก็ให้ข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานรองรับ พยายามให้ข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่ง คนที่อ่านหนังสือเราก็มีการดีเบตอะไรก็ตามที่เนื้อหาเกี่ยวข้องหรือที่เรียนรู้จากหนังสือพม่าเสียเมือง ซึ่งทุกคนก็จะรู้เหมือนกัน แต่ว่าสิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดี ตามที่เข้าไปดูดีเบต จะมีการบอกว่ามีอีกข้อมูลตรงนี้นะ มันเป็นดีเบตที่สร้างสรรค์ขึ้น ก็บอกเขาไป”

“พยายามบอกว่าอันนี้เป็นสิ่งสมมติ มันเขียนมาตั้งนานแล้ว ครั้งนี้เท่าที่ดูทางผู้สร้างเขาก็พยายามเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวหรืออะไรไป แต่ก็ยังมีคนคิดว่าเป็นพม่าอยู่ดี เพียงแต่ข้อมูลจะบิดเบี้ยวไปบ้าง เพราะมันก็เป็นละคร มันก็ต้องดราม่า แต่เราก็ต้องคิดอย่างเข้าใจเขาด้วย เหมือนคนไทยถ้าใครลองเอาสุริโยทัยไปสร้างดูสิ สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถบอกได้ว่าเขาสะท้อนมาแบบนี้ เพราะมันเซ้นท์ซิทีฟ”

Advertisement

“คิดว่าเรื่องราวอาจจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถจะบอกว่าเวลาหยิบเรื่องอะไรขึ้นมา มันต้องเกิดเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว แต่เราบอกไม่ได้ว่าอย่าสร้าง มันจะเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้ถกเถียง ได้พูดคุยกันมากขึ้น เพราะโลกมันเปลี่ยนข้อมูลหลั่งไหลเข้ามา คือเราก็ว่าไม่ได้เพราะเมื่อก่อนมันก็มาจากข้อมูลชุดนี้ และละครมันต้องดราม่าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คิดว่าจะดีกว่าการทะเลาะเหมือนอย่างสมัยก่อน คือการมีข้อมูลมาเถียงกัน อารมณ์จะน้อยกว่าข้อมูล เมื่อก่อนอาจจะเป็นอารมณ์ล้วนๆ แต่ตอนนี้มีข้อมูล อย่างน้อยตัวหนังสือที่เราแปลก็เป็นข้อมูลใหม่ให้สังคมไทยเหมือนกัน ซึ่งเราก็ดีใจที่มีคนใช้ข้อมูลตรงนี้ เราก็เข้าใจมุมของเขา ก็พยายามเอาเท่าที่ได้”สุภัตรากล่าวในที่สุด

ขณะที่ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ได้โพสตข้อความแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องราวดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน โดยว่า

“เรื่องไม่เป็นเรื่อง
ทายาทของพระเจ้าทิบอและพระนางศุภยาลัตประท้วงกรณีละครเรื่องเพลิงพระนาง ดูถูกเหยียดหยามบรรพชนว่าเป็นเหตุให้เสียเมือง
ผมไม่ดูละครทีวีมานานแล้วเลยไม่ทราบว่าในละครนั้นระบุชัดๆอย่างที่เขาว่าไหม
เท่าที่ติดตามข่าวก็เลี่ยงไปใช้ชื่ออื่น อีกทั้งเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบฉากที่เห็นตามที่โพสต์กันก็ไม่สื่อชัดๆว่าเป็นพม่า
แล้วข้อกล่าวหาคืออะไร?
กล่าวหาว่าเอาแก่นของเรื่อง(theme)มาจาก”พม่าเสียเมือง”หรือ”อวสานราชบัลลังก์พม่า”?
แล้วไง?
ผมว่าหากทางผู้สร้างละครทีวีเรื่องนี้ชี้แจงไปก็คงทำความเข้าใจกันได้ไม่ยาก
แต่ที่ยากคือ”อคติและมายาคติ”ที่เรามีต่อเพื่อนบ้านต่างหาก เพราะมันฝังลึกและถูกตอกย้ำอยู่เสมอ
พม่าจึงถูกมองว่าเป็นศัตรูผู้รุกราน(เพราะเขาชนะเรา)
ในขณะที่เพื่อนบ้านอื่นๆ(ที่เราชนะเขา)ถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์ ไว้ใจไม่ได้ ฯ
การผลิตซ้ำ”อคติและมายาคติ”นี้จึงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอโดยเฉพาะผ่านสื่อมวลชน
แต่ที่แปลกมากๆก็คือ ไม่มีละครทีวีไทยทำแบบ”เพลิงพระนาง” คือเอาความฟอนเฟะ ร้ายกาจ อ่อนแอ ฯ ของราชสำนักสยามในอดีตมาตีแผ่บ้าง
จะมีก็แต่”ศรีสุดาจันทร์” ที่ถูกกล่าวหาว่าร้ายสุดๆ นี่ก็”อคติและมายาคติ”เหมือนกัน
ใน”อวิชชาประวัติศาสตร์”นั้น มักจะมองว่าเราดีกว่าเขา/คนอื่น ชายดีกว่าหญิง ชนชั้นสูงดีกว่าชนชั้นล่าง
ทั้ง”ศรีสุดาจันทร์”และ”พระนางศุภยาลัต”ต่างก็ตกเป็นเหยื่อของ”อวิชชาประวัติศาสตร์นี้เช่นกัน
เลิก”อวิชชาประวัติศาสตร์”กันเถอะครับ แล้วมาเรียน”วิชชาประวัติศาสตร์”กันดีกว่า
เผื่อว่าจะมีละครเรื่อง”เพลิงพระนาย”บ้าง”

pl

pl1

ทั้งนี้ตุ๊กตา-จิตรลดา ดิษยนันท์ ผู้จัดเรื่อง ‘เพลิงพระนาง’ เคยให้สัมภาษณกับ มติชนออนไลน์ ไว้ว่า ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของเมืองสมมุติที่จินตนาการขึ้นมา จึงไม่มีอะไรผิด อะไรถูก เป็นการดีไซน์ใหม่ ทั้งฉากและเครื่องแต่งกายเพราะไม่ได้ต้องการให้เป็นชนชาติใด ส่วนยุคสมัยแม้จะเป็นพีเรียดแต่ไม่ได้บอกว่ายุคไหน พ.ศ.อะไร ทุกอย่างอยู่ที่เราจินตนาการ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image