ย้อนรอย ‘พระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ’ สมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่โรงละครแห่งชาติ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดการบรรยายเผยแพร่ความรู้ “พิพิธภัณฑ์เสวนา” ครั้งที่ 2 เรื่อง “พระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ”

น.ส.บุหลง ศรีกนก

นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร

วัฒนธรรมเนื่องด้วยการสวรรคตของกษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้นจะเห็นได้จากเจดีย์วัดช้างล้อมซึ่งผู้ที่อยู่ข้างหลังได้สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่พระมหากษัตริย์ คือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แม้จะไม่ทราบว่ามีการถวายพระเพลิงหรือไม่ แต่ก็ได้เห็นวัฒนธรรมเนื่องด้วยการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งมีการค้นพบว่าในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยนั้นมีการจารึกไว้ที่ฐานว่าเป็นการสร้างเพื่ออุทิศกุศลให้แก่พระมหากษัตริย์ คนสุโขทัยมีคติเรื่องวัฒนธรรมพระบรมศพมากมายทั้งถวายด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาหรือการสร้างสาธารณประโยชน์ ที่จารึกฐานพระอิศวร ระบุว่าได้มีการสร้างท่อปู่พระยาร่วงคือท่อส่งน้ำ สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์

ต่อมาสมัยอยุธยา วัดพระราม อยุธยา บ่งบอกให้รู้ว่าได้มีการถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง โดยที่ถวายพระเพลิงได้สร้างเป็นวัดเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สมัยสมเด็จพระอินทราชาส่งพระโอรสไปครองเมืองลูกหลวง พอพระอินทราชาเสด็จสวรรคต ไม่มีกฎมณเฑียรบาลตราไว้ว่าใครจะครองราชย์ต่อ พระโอรสสองพระองค์ถึงพร้อมกันก็ชนช้าง สิ้นพระชนม์บนคอช้างพร้อมกัน ฝ่ายเจ้าสามพระยามาถึงองค์สุดท้ายก็ได้ขึ้นครองราชย์ เราจะพบเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ ตรงจุดที่ชนช้าง ที่เชิงสะพานป่าถ่าน โดยเจ้าสามพระยาได้สร้างวัดราชบูรณะสร้างถวายให้เจ้าอ้ายเจ้ายี่ ในเจดีย์วัดราชบูรณะพบสิ่งของมากมายที่ผู้คนสมัยอยุธยาใส่ลงไปในเจดีย์

ส่วนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นมีรายละเอียดเรื่องพระเมรุมาศในพระราชพงศาวดารไว้มาก แต่พระราชพงศาวดารนั้นน่าจะแต่งขึ้นภายหลังเพื่อฉลองพระราชอิสริยยศ หลักฐานที่พบในอยุธยาพบเพียงว่าสมเด็จพระเอกาทศรสสร้างวัดวรเชษฐารามถวายเป็นพระราชกุศล ส่วนรายละเอียดในพระราชพงศาวดารสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นภายหลัง

Advertisement

หลักฐานเรื่องงานพระเมรุมาศสมัยอยุธยาที่ชัดเจนที่สุด คือ ขบวนงานพระเมรุของสมเด็จพระเพทราชา มีชาวตะวันตกเข้ามาสมัยอยุธยาจ้างให้ช่างเขียนไทยวาดขบวนไว้ จากเริ่มต้นหน้าสุดคือกระบวนรูปสัตว์ต่างๆลากไป เพื่อที่จะไปตั้งรอบพระเมรุเข้ากับคติที่ว่าเป็นรุูปสัตว์ในหิมพานต์ มีการเล่นกายกรรมมากมายสารพัด โขนละคร หุ่นงิ้ว มีต้นกัลปพฤกษ์ มะนาวทิ้งทาน เป็นรูปกระบวนที่ถูกต้องใช้ได้ แต่สิ่งที่ไม่จริงคือรูปสัตว์ลากราชรถเป็นราชสีห์ เราพบว่าหลักฐานสมัยอยุธยาลากราชรถด้วยม้า ในอดีตงานพระเมรุถือเป็นงานรื่นเริงมหรสพของชาวบ้านจึงมีการละเล่นให้ชมมากมาย

สมัยธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้ราชประเพณีของกรุงศรีอยุธยา พระศพตอนแรกฝังที่วัดบางยี่เรือ ภายหลังรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์เรียบร้อย โปรดให้ขุดพระศพขึ้นมาถวายพระเพลิงที่วัดบางยี่เรือนอก คือวัดอินทารามปัจจุบัน

ภาพวาดขบวนงานพระเมรุของสมเด็จพระเพทราชา หลักฐานชัดเจนที่สุดสมัยอยุธยา
หนึ่งในภาพวาดขบวนงานพระเมรุของสมเด็จพระเพทราชา หลักฐานชัดเจนที่สุดสมัยอยุธยา

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ

อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ประเพณีงานพระบรมและเป็นธรรมเนียมสำคัญของบ้านเรามานานมากแล้ว หลักฐานช่วงปลายอยุธยาจะมีความชัดเจนขึ้น เป็นต้นเค้าประเพณีพระบรมศพสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย เมื่อเราเริ่มสร้างกรุงนั้นห่างจากเมื่อสิ้นสมัยอยุธยาเพียง 15 ปี หลายท่านสมัยนั้นคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีอยุธยา เมื่อสร้างกรุงเทพจึงเป็นการพยายามฟื้นประเพณีอยุธยาที่สูญสลายกลับมาอีกครั้ง เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนั้นถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ของอยุธยา

Advertisement

ธรรมเนียมเรื่องงานพระบรมศพก็ถ่ายแบบมาเช่นกัน เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์การบำเพ็ญกุศลเป็นเรื่องของพุทธศาสนาล้วนๆ พิธีกงเต็กเพิ่งเข้ามาสมัยร.3 ซึ่งไม่ใช่งานของหลวง

แต่อย่างไรในสมัยที่เปลี่ยนแปลงย่อมมีความเปลี่ยนแปลงในประเพณี พระเมรุสมัยร.4และอยุธยามีจดหมายเหตุบันทึกไว้ใกล้กันว่ามีความสูง 80-100 เมตร ขณะที่พระปรางค์วัดอรุณสูง 60 เมตร การสร้างพระเมรุใช้เวลาใช้ทรัพยากรมาก วัสดุก่อสร้างก่อนรัชกาลที่5จะใช้วัสดุพื้นบ้านคือไม้ ไม้ซุง กระดาษ ผ้า นำมาจากหัวเมืองต่างๆ ใช้เวลาถึง2-3ปี บางคราวมีงานพระเมรุแล้วจึงมีงานพระศพอื่นต่อท้าย เพราะงานพระเมรุไม่ได้มีบ่อย ระหว่างนั้นมีงานพระศพใหญ่ค้างอยู่ก็มาต่อท้ายโดยลดเครื่องประกอบยศลงไป

พระเมรุสมัยอยุธยาเข้าใจว่าช่วงแรกมีหลายที่ ตอนหลังเข้าใจมีที่ถาวรคือสนามหน้าจักรวรรดิเพราะเป็นพื้นที่ใหญ่ คล้ายสนามหลวง ตอนที่สร้างกรุงเทพแล้วมีสนามหลวงคงจะนึกถึงสนามหน้าจักรวรรดิเช่นกัน พระเมรุต้องใหญ่ มีอาคารประกอบมาก มีมหรสพสารพัดอย่าง จะอยู่นอกเมืองไม่ได้ งานมีต่อเนื่องหลายวัน จึงมีคำติดปากว่า “พระเมรุกลางเมือง” ถ้าเป็นศพอื่นที่ไม่ใช่พระเมรุกลางเมืองจะไม่มีการเผาศพในพระนคร

งานพระบรมศพเจ้านายสำคัญสมัยก่อนชาวบ้านจะไม่ได้เห็น เป็นเรื่องในรั้วในวัง ภายหลังประชาชนมีส่วนร่วมในงานพระบรมศพมากขึ้นเมื่อรัชกาลที่5สวรรคต พระเมรุในหลวงรัชกาลที่5มีการก่อสร้างเร็วมากในเวลา5เดือน โดยเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะเดือนละ2วัน การไว้ทุกข์ครั้งนั้นให้แต่งขาวมาพร้อมดอกไม้ธูปเทียน ขณะที่งานพระบรมศพรัชกาลที่ 8 ยังเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะสัปดาห์ละ3วัน คือ วันอังคาร พฤหัสบดีและอาทิตย์

งานพระบรมศพในสมัยรัชกาลที่9 มีหลายอย่างเพิ่มขึ้นมา เช่นการถวายน้ำสรงหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และประชาชนมีโอกาสมากขึ้นในการเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย แต่ก่อนมีเพียงกระทรวงทบวงกรมและเจ้านายพระองค์สำคัญ ทุกวันนี้มีวันละ4วาระ วาระหนึ่ง44เจ้าภาพ รวมเจ้าภาพทั้งหมดน่าจะถึงราวหนึ่งหมื่นราย อีกเรื่องหนึ่งคือการถวายดอกไม้จันทน์ตามซุ้มรับดอกไม้จันทน์ ก่อนนี้ไม่มีประเพณีตั้งซุ้มรับดอกไม้จันทน์ข้างนอก แต่เริ่มมีตั้งแต่งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ในภาพรวมงานพระบรมศพครั้งนี้มีการปรับหลักต่างๆ บ้างแต่ไม่ได้เสียหลักเดิม การบำเพ็ญพระราชกุศลยังเต็มพระเกียรติยศเช่นเดิม แต่เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะมีกำลังปฏฺิบัติ มีความพร้อมและความสะดวก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image