“มหาอำนาจ”บน “ดอยไตแลง” บทบาทในเวทีเจรจาสันติภาพ”เมียนมา” โดย ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

ผู้ร่วมงานครบ 70 ปีวันชาติไทใหญ่รุมถ่ายภาพ"พลโทเจ้ายอดศึก"ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน

การจัดงานสวนสนามของทหารกองทัพแห่งรัฐฉาน SSA (Shan State Army) ของไทใหญ่ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมานั้น การปรากฏตัวของแขกเข้าร่วมงานกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจและดูแลเป็นพิเศษคือกลุ่มเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากชาติมหาอำนาจทั้งในกรณีของฝั่งตะวันตก เช่น อเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่จากฝั่งเอเชียเอง ดังเช่นในกรณีของจีนนั้น ก่อให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ตัวแทนของกลุ่มประเทศเหล่านี้คือตัวอย่างของแขกผู้มีเกียรติธรรมดาหรือกำลังสะท้อนบทบาทของชาติมหาอำนาจในความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์กันแน่?

สร้างพันธมิตรสู้เชิงอุดมการณ์

โดยนัยภาพรวมทางประวัติศาสตร์บทบาทของชาติมหาอำนาจในความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ของพม่ามีอย่างชัดเจนในยุคสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม การเข้าแทรกแซงในยุคสมัยนั้นมิได้เป็นการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองหรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง หากแต่มุ่งเน้นสร้างพันธมิตรเพื่อการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองแนวร่วมใหญ่ นั่นคือ

กลุ่มแรก คือ ในฝั่งของโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีสายสัมพันธ์พิเศษกับกลุ่มกองกำลังที่ตั้งอยู่ชายแดนไทยพม่า และถูกสร้างให้เป็นแนวร่วมในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ในส่วนนี้นี่เองได้ถูกผนวกรวมกับกลุ่มกองพล 93

Advertisement

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มแนวร่วมกับฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวร่วมกลุ่มนี้จะมีฐานที่ตั้งตลอดแนวชายแดนจีนและเป็นกลุ่มฐานกองกำลังสำคัญที่มีสายสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์พม่าและสายสัมพันธ์พิเศษกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ฉะนั้น ข้อสังเกตประการหนึ่งในยุคนี้นั่นคือ การเข้าร่วมกับการต่อสู้ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น อุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อเอกราชและการแยกตัวออกจากเมียนมานั้น เป็นฐานอุดมการณ์หลักในการจัดตั้งของกองกำลัง

อย่างไรก็ตาม การมีลักษณะของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอื่นเจือปนทั้งในลักษณะของประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์นั้น มีลักษณะเป็นไปทั้งในส่วนของความนิยมชมชอบหรือศรัทธาตามกลุ่มของผู้นำ และส่วนที่สำคัญคือเป็นไปในลักษณะที่ปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการสนับสนุนทางการเมืองและการช่วยเหลือแบบอื่นๆ โดยเฉพาะความมั่นคงจากมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตร เช่น หากอยู่ชายแดนไทยพม่าก็จะกลายเป็นแนวร่วมของโลกเสรีตะวันตก และหากอยู่ใกล้ชายแดนจีนก็จะกลายเป็นแนวร่วมโลกคอมมิวนิสต์ไปโดยปริยาย

Advertisement
ผู้แทนพิเศษจีนกับกลุ่มคะฉิ่น ภาพจาก frontiermyanmar.net
ผู้แทนพิเศษจีนกับกลุ่มคะฉิ่น ภาพจาก frontiermyanmar.net

ทั้งนี้ ภายในของแต่กลุ่มชาติพันธุ์เองมีจัดตั้งกองกำลังที่หลากหลายและส่วนหนึ่งที่แม้ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ก็ยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันตามไปด้วย เช่น ในส่วนของไทยใหญ่เอง ก็ยังมีทั้งฝ่ายที่นิยมคอมมิวนิสต์และโลกเสรีควบคู่กันไปตามที่ฐานตั้งดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

สายสัมพันธ์ยุคหลังสงครามเย็น

การยุติลงของสงครามเย็นนั้นมิได้ส่งผลกระทบต่อการยุติลงของสงครามกลางเมืองในเมียนมาตามไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง การสลายไปของแนวร่วมต่อต้านระหว่างฝั่ง (และฝ่าย) อุดมการณ์ทางการเมืองในระดับโลกของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเกิดขึ้น แต่เพียงเฉพาะในทางปฏิบัติและการได้รับความช่วยเหลือบางส่วนเท่านั้น เช่น การแยกตัวเองออกมาของกลุ่มว้าภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์พม่าล่มสลายลง

อย่างไรก็ตาม ความเกี่ยวพันระหว่างมหาอำนาจกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในเมียนมานั้นยังคงมีอยู่ หากแต่เปลี่ยนผ่านในเชิงอุดมการณ์มาสู่การสร้างความเกี่ยวพันกับประเด็นข้ามชาติที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งในส่วนผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจเองและหลักการสากล เช่น

ในกรณีของฝั่งโลกตะวันตก จะสร้างความเกี่ยวพันในสองส่วนหลัก นั่นคือ การให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบและประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ผ่านทั้งในส่วนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ

ในส่วนของฝั่งจีน จะสร้างความเกี่ยวพันในด้านการให้หลักประกันรับรองการดำรงอยู่ของอดีตกลุ่มชาติพันธุ์แนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งในส่วนของการเป็นหลักประกันด้านการคงกองกำลังผ่านการสร้างอาณาเขตและพรมแดนอย่างไม่เป็นทางการ

กล่าวได้ว่าทั้งสองส่วนนี้ยังเน้นย้ำหลักการด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบางส่วนนั้นก็กลับอ้างอิงบนฐานของความสัมพันธ์กับรัฐพม่าในระดับบนด้วยเช่นกัน หากแต่เป็นการความสมดุลที่เน้นตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น กรณีจีน แม้ว่ามีความสัมพันธ์กับ

รัฐเมียนมาในหลักประกันด้านป้องกันการถูกกดดันจากตะวันตก หากแต่ในระดับล่างก็ยังมีการสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มว้า เพื่อการสร้างแนวร่วมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่

กระทั่งโลกตะวันตก แม้ว่าจะกดดันรัฐเมียนมาในประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน หากแต่ในความสัมพันธ์ระดับล่างกับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังมีการสร้างสายสัมพันธ์ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในประเด็นต่อต้านและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น

รรยากาศผู้แทนชาวต่างประเทศที่ดอยไตแลงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560
รรยากาศผู้แทนชาวต่างประเทศที่ดอยไตแลงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560

“มหาอำนาจ” แก้ปัญหาหรือเพิ่มอุปสรรค?

การพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ให้เปลี่ยนผ่านจาก “สนามรบสู่การเจรจาทางการเมือง” และปรากฏภาพเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 เป็นต้นมานั้น กลิ่นอายของการแสดงท่าทีของชาติมหาอำนาจต่างๆ นั้น ในระยะแรกมิได้ปรากฏชัดออกสู่โลกภายนอกหรือสาธารณชนมากมายนัก

ข้อจำกัดประการหนึ่งนั่นคือ รัฐเมียนมาเองประกาศจุดยืนอยู่สม่ำเสมอในการทำให้ประเด็นความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์เป็นปัญหาภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นของฝ่ายรัฐเมียนมานั้นจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับฝ่ายของกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ

ฝ่ายของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นต้องการให้โลกมหาอำนาจเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหลายลักษณะ ทั้งในกรณีของตัวกลางในการเจรจาหรือพยานในการลงนามใดๆ ในอนาคต เช่น การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งการลงนามสันติภาพที่อาจจะเกิดขึ้น หากพิจารณาในมุมมองของการแก้ไขปัญหาทางด้านชาติพันธุ์แล้ว ในกรณีของเมียนมานั้น ในท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถหลีกหนีการเข้ามามีบทบาทของประเทศมหาอำนาจไปได้ ซึ่งรวมถึงกรณีของรัฐเพื่อนบ้านในกรณีของไทยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มหาอำนาจเองก็ตระหนักในความจำเป็นดังกล่าว การเข้ามามีบทบาทในห้องของการเจรจาสันติภาพนั้นจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น ในกรณีของฝั่งจีนจะเข้ามามีส่วนช่วยเจรจาในการวางท่าทีของกองกำลังตามแนวชายแดนจีนหากมีการปะทะเกิดขึ้น หรือในส่วนของโลกตะวันตก จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนในการเจรจาของกลุ่มการเมืองฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์

 

นักบุญหรือผู้หาผลประโยชน์

สิ่งที่น่าสนใจคือ บทบาทของชาติมหาอำนาจในกระบวนการเจรจาสันติภาพนั้นมิได้ราบเรียบหรือมีลักษณะเป็น “นักบุญ” เสมอไป เนื่องจากยังมีความทาบซ้อนในกรณีของการวางท่าทีที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างแท้จริง หรืออีกนัยหนึ่ง การให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้นย่อมไม่มีอะไรฟรีหรือให้เปล่า ข้อกังขาหลากหลายประการจึงเกิดขึ้น เช่น ในกรณีของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย แม้ว่าได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศที่สนับสนุนการสร้างสันติภาพทั่วโลก หากแต่บทบาทของประเทศเหล่านี้เองก็เกิดความคลุมเครือ กล่าวคือ กลุ่มประเทศนี้เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินสำคัญในการจัดเวทีสันติภาพในรูปแบบต่างๆ หากแต่ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างสายสัมพันธ์กับรัฐเมียนมาในการลงทุนและตักตวงผลประโยชน์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในรัฐอาระกัน เป็นต้น

ในส่วนของฝั่งมหาอำนาจกรณีของจีนกับสหรัฐอเมริกานั้น การวางท่าทีในห้วงยุคหลังสงครามเย็นจนถึงการเจรจาสันติภาพนั้น ข้อกังขาประการหนึ่งนั่นคือ การเข้ามาเกี่ยวพันกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น กำลังสะท้อนภาพการแข่งขันทางการเมืองและความมั่นคงในระดับโลก โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านความมั่นคงให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ หรืออีกนัยหนึ่ง การจัดแบ่งฝ่ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบันนั้นกำลังถูกสร้างให้เกี่ยวเนื่องกับพันธมิตรด้านความมั่นคงในระดับท้องถิ่นของชาติมหาอำนาจ

ทั้งนี้ ผลด้านลบประการหนึ่งนั่นคือ หากแนวร่วมพันธมิตรเหล่านี้ถูกใช้มาต่อรองกับรัฐเมียนมา หรือแม้กระทั่งระหว่างกลุ่มชาติมหาอำนาจด้วยกันเอง ย่อมหมายความว่าปัจจัยในการเจรจาสันติภาพนั้นมิได้เกิดการยินยอมพร้อมใจของฝ่ายรัฐเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น หากแต่ยังต้องเกิดจากการประสานผลประโยชน์ที่ลงตัวของชาติมหาอำนาจด้วย

การเยือนจีนของนางออง ซาน ซูจี ภาพจาก scmp.com
การเยือนจีนของนางออง ซาน ซูจี ภาพจาก scmp.com

ภาพสะท้อน”การปรับตัว”

การปรากฏตัวของฝั่งผู้แทนมหาอำนาจบนเวทีในงานสวนสนามของกลุ่มกองทัพรัฐฉานของไทใหญ่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น จึงเป็นภาพสะท้อนการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เองในการวางท่าทีของหลากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในข้างต้น ซึ่งแต่ละกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นก็จะมีลักษณะในการปรับตัวแตกต่างกันออกไป

กล่าวได้ว่าการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น แม้ว่าการเมืองภายในของเมียนมาเองมีสามก๊กใหญ่ นั่นคือ กองทัพ รัฐบาล และกลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่การแสวงหาแนวร่วมจากภายนอกเพื่อถ่วงดุลหรือแก้ไขปัญหาภายในนั้นกำลังจะกลายเป็นตัวละครหนึ่งที่สำคัญ เมื่อถึงที่สุดแล้ว สถานะของการเจรจาสันติภาพในเมียนมาในขณะนี้นั้น เลยจุดผ่านของข้อถกเถียงว่าจำเป็นต้องมีประเทศที่สามเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพด้วยหรือไม่ไปแล้ว

ทั้งนี้ จุดสนใจที่น่าจับตามากกว่านั่นคือ การแบ่งปันจัดสรรผลประโยชน์ให้ทั่วถึงทั้งภายในและภายนอกจะเป็นไปในลักษณะอย่างไร? จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจเสียมากกว่า

หากกล่าวในลีลาและภาษาของการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์แล้วนี่คือลักษณะหนึ่งของความสัมพันธ์แบบ “ทุนนิยมหยุดยิง” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image