โรงไฟฟ้าหงสา ไฟฟ้าถ่านหินลาวส่งขายไทย โดย ธีรภัทร เจริญสุข

ข้อเรียกร้องต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่เป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งความกังวลหลักอยู่ที่เรื่องมลภาวะทางอากาศ และความเสี่ยงในการขนส่งทางเรือที่จะกระทบต่อสภาพแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าชนิดอื่น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยได้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งก่อสร้างอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-ลาว คือ โรงไฟฟ้าหงสา โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,878 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าหงสาตั้งอยู่ในเขตเมืองหงสาและเมืองเงิน แขวงไซยะบุรี ห่างจากเขตชายแดนเชื่อมต่อประเทศไทยที่จังหวัดน่านเพียง 23 กิโลเมตร ใช้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งขุดจากเหมืองถ่านหินที่อยู่ใกล้เคียงและอาศัยน้ำจากแม่น้ำเหืองเข้าหล่อเย็นและถ่ายเทความร้อน พื้นที่ทั้งหมดได้รับสัมปทานเป็นเวลา 25 ปี

โรงไฟฟ้าหงสา ลงทุนโดยกลุ่มราชบุรีโฮลดิงส์ และบ้านปูเพาเวอร์ ฝ่ายละ 40% และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20% เท่ากับในทางปฏิบัติแล้ว โรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าไทยที่อาศัยทรัพยากรและพื้นที่ของ สปป.ลาว โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 1,437 เมกะวัตต์ ส่งออกเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ใช้ในประเทศลาวเพียง 100 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือเล็กน้อยใช้ทำงานในสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า

การขายไฟฟ้าดังกล่าวฝ่ายสายไฟแรงสูงเข้าสู่ประเทศไทยด้วยระบบเสาส่งทางไกล 67 กิโลเมตรเข้าสู่อำเภอสองแคว จังหวัดน่านและสู่ตัวเมืองน่าน ทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคเหนือของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ลดสภาพไฟดับและไฟตกในพื้นที่ตัวเมืองใกล้เคียง และส่งกำลังไฟฟ้าเข้าสู่ชนบท และยังทำให้รัฐบาลลาวได้รับส่วนแบ่งทั้งจากสัมปทานและการขายไฟฟ้าปีละกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงสร้างงานให้ชุมชนโดยรอบและวิศวกร คนงานชาวไทยที่เข้าไปทำงาน รวมถึงเมื่อหมดสัญญาสัมปทานจะกลายเป็นของลาวเองด้วย

Advertisement

ข้อได้เปรียบของโรงไฟฟ้าหงสาที่แตกต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่มีแผนจัดสร้าง คือไม่มีการขนส่งถ่านหินจากนอกพื้นที่ ใช้ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองข้างโรงไฟฟ้า จึงตัดมลภาวะด้านฝุ่นและความเสี่ยงของการขนส่งออกโดยสิ้นเชิง ชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าถูกย้ายออกไปและชดเชยให้ แม้ว่าจะยังมีการประท้วงและร้องเรียนถึงการชดเชยที่ไม่เพียงพอและย้ายไปอย่างไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขตามลำดับ ในส่วนของมลภาวะทางอากาศนั้นยังไม่ปรากฏความรุนแรงหรือผลกระทบในทางอากาศและแหล่งน้ำ ซึ่งยังต้องติดตามผลต่อไป โดยอายุการใช้งานของเหมืองและโรงไฟฟ้า กำหนดไว้เป็นเวลา 25 ปี

ตัวอย่างของโรงไฟฟ้าหงสา มิใช่คำตอบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นปลอดภัยและจำเป็น แต่รายละเอียดที่เกี่ยวข้องนั้นชี้ว่า โรงไฟฟ้าที่ดีต้องทำงานโดยจำกัดผลเสียให้อยู่ในขอบเขตที่รับได้ จัดหาแหล่งเชื้อเพลิงได้ภายในท้องถิ่นเพื่อลดโอกาสเสี่ยงด้านมลภาวะและการขนส่ง รวมถึงตอบสนองไฟฟ้าให้กับพื้นที่รอบข้าง

ความต้องการทางพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้ามีแต่จะทวีเพิ่มขึ้นตามลำดับ การจัดสรรพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงต้องสร้างสมดุลในหลายด้าน รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง โดยหากเป็นธุรกิจของไทยไปลงทุนแล้วก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน และช่วงสร้างมิตรภาพความมั่นคงทางพลังงานแบบได้ผลดีทั้งสองฝ่าย

ผู้ที่ต้องการชมชุมชนบริเวณเมืองหงสา สามารถเดินทางได้จากจังหวัดน่านจะสะดวกที่สุด โดยผ่านด่านชายแดนเข้าไปไม่ลึกนัก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง หรือสามารถเดินทางลงจากเมืองหลวงพระบางในเวลาราว 4 ชั่วโมง ส่วนการเข้าชมโรงไฟฟ้านั้นสงวนไว้กับการดูงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือนักลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image