ปัจจัยน่าห่วง โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

วันก่อนผลสำรวจดุสิตโพล บอกว่า ข่าว 5 ข่าวที่ประชาชนสนใจมากที่สุด 5 ข่าว ได้แก่ ธรรมกาย, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, ปรองดอง, กม.ควบคุมสื่อ และกรณี 7 สนช.

ทั้ง 5 ข่าว ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่อง คนละข่าวกัน แต่ที่จริงก็คือเรื่องเดียวกัน

เพราะทั้งหมดเป็นผลจาก “การเมือง” ในช่วง ปฏิรูป-เคลียร์พื้นที่ จัดภูมิทัศน์การเมืองใหม่ก่อนเลือกตั้ง นั่นเอง

จากปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตอนนี้เพิ่มเรื่อง “ปรองดอง” เข้ามา กลายเป็น “ปรองดองก่อนเลือกตั้ง” เข้ามาอีก

Advertisement

ส่วน “เลือกตั้ง” กระแสพูดถึงเริ่มแผ่วๆ และคาดหมายว่าจะต้องขยับไปปี 2561 ช่วงกลางๆ ปลายๆ

ทางนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ได้ส่งเสียงทักท้วงอะไรมากนัก จะมีบ้างที่เรียกร้องเชิงหลักการว่า การกลับสู่การเมืองปกติ จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

กลายเป็นว่า ตอนนี้ ทั้งผู้กุมอำนาจ และทางฝ่ายพรรคการเมือง นักการเมือง เห็นคล้ายๆ กันว่า การเลือกตั้งกลายเป็นเรื่อง “ยาก” ไปแล้ว

Advertisement

เข้าใจได้ว่า ทางฝ่ายผู้กุมอำนาจเอง แม้ว่าได้จัดการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ กำหนดวิธีการเลือกตั้ง การสรรหานายกฯ การตั้งรัฐบาล อำนาจและบทบาทของวุฒิสภา, สภาผู้แทนฯ, องค์กรอิสระ ฯลฯ ไปจนถึงการตีกรอบการทำงานของรัฐบาล และนักการเมืองเอาไว้อย่างเข้มข้น

เพื่อจะใช้กฎหมายเหล่านี้ กำหนดการเมืองหลังเลือกตั้ง ให้เป็นไปในแนวทางที่เชื่อว่า ทำให้บ้านเมืองสงบสุข

แต่การเลือกตั้งทั่วไปเป็นเรื่องใหญ่ การคิดฝันให้ผลเลือกตั้งออกมาที่ตั้งเป้าเอาไว้นั้นคิดได้ แต่จะออกมาเป็นจริงตามที่วาดฝันไว้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตรงนี้อาจจะเป็นที่มา ที่ทำให้อยากจะทอดเวลาต่อไปอีกสักระยะ เพื่อรอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้ผลเลือกตั้งเป็นไปตามที่คิดไว้

ส่วนทางพรรคการเมืองเอง คงเกาะติด จนรู้อยู่แล้วว่า ด้วยผลของกฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงเป้าหมายของกลุ่มอำนาจที่จะไม่ยอม “เสียของ”

จะทำให้การเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีสิทธิเจอมาตรการต่างๆ ตลอดเวลา

แม้ว่าได้เป็นรัฐบาล ก็จะเจอสภาพความยากลำบากในการบริหารงาน เพราะกับดักของข้อกฎหมายต่างๆ

เลยเกิดอาการเบื่อๆ อยากๆ ยอมนั่งรอนอนรอ ให้รัฐบาลและ คสช.บริหารงานไปตามแนวทางที่ตั้งใจ

เอาให้หายอยากกันไปข้าง ให้รู้ชัดๆ ไปเลยว่า “อำนาจพิเศษ” จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้แค่ไหน

การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มๆ จะได้ไม่ต้องมีข้อขัดแย้งมาก

บรรยากาศการเมืองก็คงจะซึมๆ รอๆ ไปอย่างนี้อีกระยะใหญ่ๆ

แต่การเมืองก็คงจะไม่สามารถยืน เดิน หรืออยู่ด้วยตัวเองได้ หากต้องสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ

ในระยะนี้คือ “เศรษฐกิจ” หากไม่แข็งแกร่งพอจะโอบอุ้มประเทศให้เดินไปในลักษณะนี้ได้

ก็จะกลายเป็น “ปัจจัย” หักล้าง “การเมือง” แบบที่กำลังคิดกันอยู่นี้ได้ง่ายๆ

แต่ถ้าตรงกันข้าม เกิดฟื้นตัว ดีดกลับมาจริงๆ ก็เป็นหนังอีกเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image