หลักนิติธรรมคืออะไร ? โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

แฟ้มภาพ

เมื่อตอนที่ผู้เขียนเรียนหนังสือระดับปริญญาตรีเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้บรรยายในชั้นเรียนรัฐศาสตร์เบื้องต้นว่า มนุษย์เรามีความไม่แน่นอนเป็นธรรมชาติแบบว่ามีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายและสามารถที่จะเปลี่ยนใจได้วันละหลายครั้ง จึงจะยึดเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีหลักการที่มีเหตุผลที่ถูกต้อง มีความเสมอภาคและยุติธรรมเป็นกฎหมาย และยึดถือเอากฎหมายเยี่ยงนี้เป็นหลักในการตัดสินปัญหานานาประการในสังคมซึ่งเรียกว่า “หลักนิติธรรม (rule of law)”

แต่กฎหมายที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ถูกต้อง มีความลำเอียง และไม่ยุติธรรมก็มีนะครับ และก็มีมากเสียด้วย เช่น กฎหมายรับรองการมีทาส กฎหมายที่ใช้อำนาจเป็นธรรม กฎหมายที่ปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบุรุษเช่น โสเครติส, จอห์น ล็อค, มหาตมะ คานธี, ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ฯลฯ ปฏิเสธที่จะยอมรับกฎหมายเหล่านี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขาดหลักนิติธรรมนั่นเอง

ครับ ! เมื่อผู้เขียนได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายเมื่อครั้งนั้นก็สรุปกับตัวเองง่ายๆ ว่า ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากกฎหมายอะไรที่ไม่ดีเช่นที่ยกตัวอย่างมานั้นก็จะคัดค้านและไม่ยอมปฏิบัติตามเท่านั้น และก็ไม่ได้เฉลียวใจที่จะแสวงหา “หลักนิติธรรม” ที่เป็นรูปธรรมจริงๆ จังๆ สักทีว่ามีอะไรบ้าง

ครั้นเมื่อสัก 15-20 ปีที่แล้วก็ชักได้ยินคำว่าหลักนิติธรรมอ้างกันบ่อยขึ้น นอกจากนี้ก็ได้ยินคำว่า “นิติรัฐ” ดังขึ้นมาคู่กับคำว่านิติธรรม เมื่อไปศึกษาค้นคว้าจึงทราบว่า คำว่า “นิติรัฐ” มาจากภาษาเยอรมันว่า (Rechtsstaat) ซึ่งบรรดาประเทศที่อยู่บนภาคพื้นทวีปยุโรป อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ฯลฯ เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย โดยมีกฎหมายโรมัน (Jus Civile) เป็นแม่แบบ คือการบริหารปกครองรัฐหรือสังคมซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่

Advertisement

เป็น “การปกครอง” โดยกฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจของผู้ปกครอง

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบนั้นจะอ้างถึงหลัก “นิติธรรม” หรือ Rule of Law

ซึ่งโดยสรุปก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นแหละคือ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ในการบริหารประเทศ

Advertisement

อีทีนี้ เรื่องหลักนิติธรรมได้เกิดเป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ขึ้นมาเมื่อได้มีการอ้างถึงหลักนิติธรรมเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ของไทย (เนื่องจากประเทศไทยมีการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญบ่อย) โดยในหมวดหนึ่ง บททั่วไปซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มีข้อความดังนี้ คือ

“มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นี้จัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในระหว่าง พ.ศ.2549-2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550

ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ

เนื่องจากมีการลงประชามติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงมีคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่า “หลักนิติธรรม” นั้นคืออะไร ? จึงมีคณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติที่มี ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ เป็นประธาน ได้สรุปหลักนิติธรรมให้ประชาชนทราบ ดังนี้ครับ

หลักนิติธรรมหมายถึง “หลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย ที่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่ฝ่าฝืนขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรม และหลักนิติธรรมนี้จะถูกล่วงละเมิดไม่ได้” ผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรมคือ ใช้บังคับไม่ได้

“สาระสำคัญของหลักนิติธรรม ได้แก่

1.หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

2.กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ

3.กฎหมายต้องมีการประกาศใช้ให้ประชาชนทราบ

4.กฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป

5.เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจได้ ภายใต้การให้อำนาจโดยกฎหมาย

6.ห้ามยกเว้นความรับผิดให้แก่การกระทำในอนาคต”

ชัดแล้วนะครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพก็สามารถที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานในการร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างสบายใจแล้วนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image