เปิดสถิติ ‘ผู้หญิง’ ถูกคุมคามทางเพศบนระบบขนส่ง ทั้งลวนลาม อนาจาร ใช้อวัยวะถูไถ โชว์ของลับ

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 ภายใต้แคมเปญ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” (Safe Cities for Women) ชูประเด็นหยุดการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ

น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่าง กันยายนถึงตุลาคม 2559 โดยสำรวจจากผู้หญิงที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,500 คน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตและพักอาศัยในกรุงเทพฯ นานกว่า 10 ปี พบว่า ประเภทขนส่งสาธารณะที่ใช้บริการมากที่สุด คือ รถโดยสารประจำทาง รองลงมาเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถไฟฟ้าและรถสองแถวหรือรถตู้ เมื่อถามถึงสถานการณ์การเดินทางที่ผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ คำตอบที่พบมากที่สุด คือ เดินเข้าซอยคนเดียว 26% เดินทางตอนเช้ามืดหรือตอนกลางคืน 25% นั่งรถแท็กซี่ 16% รองลงมาคือรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถสองแถว เรือ รถไฟ 13.5% และซ้อนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 10%

“มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 36% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เคยถูกคุกคามทางเพศ ขณะเดินทางหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่พบมากสุด คือพูดแซว พูดลามก 26% รองลงมาคือการผิวปากใส่ 18% ลวนลามด้วยสายตา 18% แตะเนื้อต้องตัวหรือใช้อวัยวะถูไถ 17% โชว์อวัยวะเพศหรือสำเร็จความใคร่ให้ดู 7% สะกดรอยตาม 7% และโชว์คลิปโป๊หรือแอบถ่าย 6% แต่ที่น่าตกใจคือ มีคำตอบจากผู้หญิงที่ตอบแบบสำรวจ 1.6% ระบุว่าเคยถูกทำอนาจารหรือข่มขืน” นางสาววราภรณ์กล่าวและว่า

S__1327142

Advertisement

น.ส.วราภรณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อถูกคุกคามทางเพศ กลุ่มตัวอย่าง 38% ตอบโต้ด้วยการนิ่ง หรือชักสีหน้าไม่พอใจ หรือพยายามหลีกหนี ส่วน 21% ตอบโต้ด้วยการโวยวาย พูดเสียงดัง ตะโกนด่า ขณะที่ 16% เลือกที่จะเฉยเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทั้งนี้ มีเพียง 14% ของผู้ประสบเหตุ ที่เลือกแจ้งเหตุไปยังหน่วยบริการที่รับผิดชอบ และมีเพียง 12% ที่แจ้งตำรวจ

“สาเหตุที่ไม่ได้แจ้งเหตุ ส่วนใหญ่ตอบว่าอาย กลัวคนไม่เชื่อ กลัวถูกมองไม่ดี บางส่วนระบุว่าไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้ และไม่รู้จะไปแจ้งเหตุกับใคร และอีกส่วนมองว่า ถึงแม้จะแจ้งเหตุ แต่เจ้าหน้าที่หรือตำรวจก็คงช่วยอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่า หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีระบบป้องกันหรือติดตามเอาผิดผู้กระทำการคุกคามทางเพศอย่างจริงจัง ผู้กระทำก็จะย่ามใจ เกิดการกระทำซ้ำเป็นวงจร และทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ขอให้สังคมไม่นิ่งเฉย ช่วยกันร่วมเฝ้าระวังและเป็นหูเป็นตา” น.ส.วราภรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image