จับเข่าคุยอจ.จุฬาฯ-เอไอที ไขปัญหา ‘แม้โลกหมุนไว แต่Uberในเมืองไทยถูกจับ’

ไม่ว่าใครจะวิจารณ์หรือมีทฤษฎีวิพากษ์ สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมเสรีอย่างใด สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ถึงข้อดีของระบบนี้คือเรื่องของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะหลักของระบบทุนนิยมคือเรื่องการแข่งขัน สินค้าหรือบริการใดดีกว่า ใหม่กว่า ย่อมทำกำไร และคนนิยมใช้บริการ ส่งผลให้ของเก่าตกยุค หลักคิดแบบนี้ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคลาสสิกเชื่อว่า มันจะทำให้สังคมได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริการและการแข่งขัน คนได้ใช้ของดีขึ้น ในราคาถูกลงนั่นเอง

สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนหลักคิดนี้อาจใช้ไม่ได้นัก หลังปรากฏข่าว ระบบขนส่งรูปใหม่อย่าง Uber และ Grab Taxi ถูกเจ้าหน้าที่ขนส่งล่อซื้อพร้อมจับกุมดำเนินคดี จนเป็นข่าวดัง เรื่องนี้จุดยืนของฝั่งรัฐชัดเจน รมว.คมนาคมยืนยันว่า ไม่มีการใช้ ม.44 ยกเลิกแอพพ์ Uber แต่หากมาวิ่งบนถนน เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

อีกฝากหนึ่งคือสังคม กลับเห็นตรงข้าม ส่วนใหญ่มองว่าบริการสาธารณะของเมืองไทย ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีมาตรฐาน และเมื่อรัฐมีนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการนำประเทศไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ทำไมถึงดำเนินการแบบนี้ กระทั่งมีการล่าชื่อรณรงค์ให้ Uber ถูกกฎหมาย

เรานำปัญหาและข้อถกเถียงนี้ ไปคุยกับ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง เพื่อดูว่าการขนส่งรูปแบบใหม่เหมาะสมกับเมืองหรือไม่อย่างไร หรือมีปัญหาตรงไหน

Advertisement

รศ.ดร.พนิตกล่าวว่า กรณีการไล่จับแท็กซี่อูเบอร์ หรือแกร็บแท็กซี่ในขณะนี้ ต้องเข้าใจโดยแยกเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องพฤตินัยและนิตินัย

โดยในทางนิตินัยการเป็นรถสาธารณะจะต้องมีการจัดการควบคุมโดยรัฐ เพราะคนจะขับรถสาธารณะ ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ต้องมีทักษะและความสามารถในการขับขี่รถสาธารณะ ซึ่งแตกต่างจากการขับรถส่วนบุคคล รวมถึงต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ไม่มีความเสี่ยงต่อบุคคลอื่น นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสุขภาพที่เข้มงวด การได้มาซึ่งใบขับขี่ ต้องมีกำหนดเวลาที่แตกต่างจากปกติ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่แตกต่างด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องมีทะเบียนรถสาธารณะ ซึ่งผูกพันกับการตรวจสภาพ อายุการใช้งาน และการทำประกัน ซึ่งสำคัญมาก เพราะหากรถที่นำมาวิ่งเป็นรถประกันชั้นสามแล้ว หากรถดังกล่าวเป็นฝ่ายผิด คำถามคือใครจะเป็นคนจ่าย นี่คือเหตุผลที่รัฐต้องควบคุม และไม่สามารถเอารถธรรมดามาวิ่งได้ เพราะรถสาธารณะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ

Advertisement

“กรณี Uber ก็ควรมาทำให้ถูกต้อง มีการจดทะเบียนรถและทำใบขับขี่อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ใบขับขี่จะมีราคาแพงกว่า มีวงรอบถี่กว่า ทะเบียนรถแพงกว่า ซึ่งนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ Uber ไม่มาจดทะเบียนรถสาธารณะ อย่าลืมว่าคนที่ขับ Uber ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก หากนำรถมาจดทะเบียนถูกต้องก็จะไม่สามารถแข่งกับแท็กซี่ได้ นี่คือในส่วนนิตินัย” รศ.ดร.พนิตระบุ

และว่า “ขณะที่ส่วนพฤตินัย ปัญหาเกิดจากหน่วยงานของรัฐที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง มาเข้มงวดกับ Uber จนมีคนเปรียบเทียบว่ารัฐเคยเข้มงวดแบบนี้กับแท็กซี่หรือไม่ คำตอบคือไม่เคย หากรัฐทำแบบนี้มาโดยตลอด ก็จะไม่มีใครว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยกตัวอย่างคือรถแดงที่เชียงใหม่ ทั้งทิ้งผู้โดยสาร เหตุชกต่อยทะเลาะวิวาท คำถามคือเคยทำอะไรเขาได้หรือไม่ ที่คนเขาด่ารัฐว่าทำไมมาจับ Uber ก็เพราะว่าคุณไม่เคยไปจับรถอย่างอื่นเลย” รศ.ดร.พนิตระบุ

“วันนี้ Uber มันได้มาตรฐานเพราะคนขับขับเอง แต่หากวันนึงคนนั่ง Uber แล้วถูกจี้ปล้น เมื่อจะตามจับก็จับไม่ได้ ไปพบว่าเคยมีประวัติอาชญากรรมฆ่าข่มขืนมาโดยตลอด หรือรถมีประกันชั้นสามแต่เกิดอุบัติเหตุ หากมีเรื่องต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ถามว่าประชาชนจะด่าใคร ประชาชนก็ด่ารัฐ ที่ทำไมไม่คุม Uber วันนี้ในทางนิตินัยมันผิดอยู่แล้ว แต่ประชาชนเขารู้สึกว่าขณะนี้มันคุ้มค่า เพราะรถใหม่ โทรเรียกก็มีรถมาตลอด 24 ชม. ไม่ต้องปวดหัวกับแท็กซี่ คนขับ Uber ก็ได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องเสียต้นทุนมาก รถก็ดูแลดีเพราะเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป เพราะสมมุติหากวันนึงรถ Uber ประสบอุบัติเหตุ เมื่อผิดเงื่อนไขประกัน ก็อาจไม่มีการจ่ายเงิน คำถามคือคุณจะทำอย่างไร” รศ.ดร.พนิตกล่าวเชิงตั้งคำถาม

23
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ท่านนี้ยังระบุอีกว่า “ผมเชื่อว่าในเชิงโครงสร้างภาครัฐมีความพร้อมที่จะทำให้ Uber ถูกกฎหมาย ก็แค่มาออกใบขับขี่ให้ถูกต้อง เปลี่ยนทะเบียนรถให้ถูกต้อง เพื่อไปทำประกัน มีการตรวจร่างกายคนขับรวมถึงประวัติ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยคนขับ Uber ก็ไม่ได้ขับทั้งวัน อย่าลืมว่า Uber อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะว่ามีบริการที่ดีกว่า ภายใต้ราคาที่เท่ากัน แต่ถ้าบริการดีกว่าและราคาสูงกว่า แน่นอนว่าลูกค้าก็จะลดลง ซึ่งเขาไม่ยอมเจ๊งหรอก เขาถึงไม่ยอมเข้าสู่ระบบไง”

เมื่อถามกรณีหากมีการนำ Uber เข้ามาสู่ระบบอย่างถูกต้องจะเป็นการทำร้ายระบบการขนส่งสาธารณะที่มีอยู่หรือไม่ รศ.ดร.พนิตระบุว่า มันขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐ อย่างประเทศสิงคโปร์รถแท็กซี่จะรับประชาชนตามที่ต่างๆ เหมือนกับที่เราใช้อยู่ขณะนี้ แต่หากเป็น Uber ซึ่งใช้หลักการเดียวกับที่ตนบอกไป ทั้งเรื่องจดทะเบียนและใบขับขี่สาธารณะ จะไปรับตามที่ต่างๆไม่ได้ ต้องไปรับตามที่โทรเรียกอย่างเดียว เขาแบ่งกลุ่มกันชัดเจนและราคาก็ไม่เท่ากัน

“ขณะนี้ Uber บิดเบือนต้นทุนการเป็นรถสาธารณะอยู่ หาก Uber เข้าสู่ระบบ ก็จะมีปัญหาเรื่องต้นทุนทันที เพราะราคาจะแพงขึ้น ซึ่งหากรัฐจะทำให้เขาอยู่ได้ก็ต้องเข้าไปดูเรื่องต้นทุน เช่นการคุยกับบริษัทประกันให้ลดเงินประกัน เป็นต้น”

รศ.ดร.พนิตระบุอีกว่า “เหตุที่คนไทยชอบการขนส่งแบบ Uber หรือ Grab Taxi เพราะรัฐไม่เข้มงวดกับรถแท็กซี่ธรรมดา ตั้งแต่ปัญหาไม่รับผู้โดยสารชาวไทย การเลือกรับชาวต่างชาติ เพื่อหวังได้ทิปจากร้านต่างๆ ของคนไทยกันเอง การที่ชาวต่างชาตินิยมจ่ายเงินแบบเหมามากกว่ากดมิเตอร์ หากไม่อยากอยู่กับปัญหาแบบนี้ไปตลอดก็ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ เช่นรถแท็กซี่จะมีอู่และส่งรถตามกะ โดยช่วงเวลาใกล้หมดกะ หากผู้โดยสารเรียกรถแท็กซี่ให้ไปส่งเพื่อนที่ไกล ห่างจากอู่มากๆ ถามว่าแท็กซี่เขาจะไปส่งไหม ก็ไม่ไปส่ง ฉะนั้นสิ่งที่โลกเขาทำคือการจัดโซน ที่หากขับข้ามโซนเมื่อไหร่ก็จะต้องได้เงินเพิ่ม ชดเชยการขับรถเปล่ากลับมา”

ทั้งนี้ในส่วนของ Uber เองในต่างประเทศก็ยังมีที่ถูกกฎหมายอย่างที่สิงคโปร์ หรืออย่างเดนมาร์กก็ยังผิดกฎหมายอยู่ ส่วนจะเกิดที่ประเทศไทยหรือไม่นั้น ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะอย่างมาก คนไทยพร้อมที่จะใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ แต่หากรัฐไทยยังเป็นแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่เคยมีการดำเนินการ หรือเข้มงวดกับสิ่งที่อยู่ใต้กฎหมาย จนคนเบื่อ เมื่อมีบริการที่ดีกว่าแต่นอกกฎหมาย คนก็ไปใช้ จนกลายเป็นความขัดแย้ง

“สังคมมองว่าอะไรที่อยู่กับรัฐ ซึ่งควรจะมีมาตรฐานที่ดี กลับกลายเป็นเรื่องแย่ แต่ภาคเอกชนทำแล้วดีกลับผิดกฎหมาย ซึ่งที่ถูกภาครัฐต้องทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชน เพราะในบางเรื่องเอกชนทำไม่ได้เนื่องจากต้นทุนสูง แต่นี่คือรัฐไทย” รศ.ดร.พนิตเน้นย้ำ
กรณีเชียงใหม่ รศ.ดร.พนิตเห็นว่ารัฐคุมรถแดงไม่ได้ โดยส่วนตัวเห็นว่าหากรถแดงไม่ได้โก่งราคา ก็ถือเป็นการบริการที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะการวิ่งเส้นทางที่ถูกกำหนดอาจเสี่ยงต่อปัญหาขาดทุน จึงต้องวิ่งไปตามเป้าหมายต่างๆ จนอยู่ได้ทุกวันนี้ แต่ตอนหลัง กลับมีปัญหาเรื่องราคาและมาเฟีย จนรายได้น้อย เมื่อคนเบื่อและมีบริการอย่าง Uber เข้ามา คนก็รู้สึกว่ามันดีกว่า

 

ด้าน ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ โดยระบุว่า หากระบบขนส่งสาธารณะดีพอ คนก็คงจะไม่ไปใช้ Uber เพราะ Uber แพงกว่า โดยหากมองในกรอบ Uber ก็ติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งยังคงเป็นการบริการที่ผิดกฎหมายอยู่ ตั้งแต่การใช้รถผิดประเภท การเก็บค่าโดยสารไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (แต่รถแดงก็ไม่ได้มีมาตรฐาน) และผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องเครดิตการ์ด ซึ่งตนมองเป็นเรื่องตลก ทั้งหมดนี้คือการมองในกรอบ แต่ในความจริงประชาชนไม่ได้มองในกรอบ ประชาชนเขาเลือกสิ่งที่อยากได้และคิดว่าดี ฉะนั้นจึงมองว่า หากจะมองนอกกรอบ ควรดูว่าการบริการดังกล่าวมันดีกับประชาชนจริงไหม มันเป็นเหตุเป็นผล หรือมีข้อด้อยตรงไหน ก็ไปแก้ไขตรงนั้น

ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ขยายความระบุว่า “ผมคิดว่าโลกเรามันหมุนเร็ว หากจะขีดกรอบเฉพาะข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันจะไม่ทันการเปลี่ยนแปลง เพราะเทคโนโลยีการขนส่งเปลี่ยนเร็ว อีก 5-10 ปีอาจเข้าสู่บริการของรถที่ไร้คนขับ ตอนนี้ Google หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ก็มาพัฒนากัน ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้มันเกิดแน่ เพราะมันไม่ได้ยาก ถ้าเราไม่แก้กฎระเบียบกันเลย แล้วมัวแต่มองเรื่องผิดหรือไม่ผิดกฎหมายอย่างเดียว ผมคิดว่ามันไม่ make sense”

อจ.ท่านดังกล่าวระบุอีกว่า “ประเด็นที่อยากให้รัฐมองคือ รัฐมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีกับประชาชนไหม ถ้ามันติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย หรือระเบียบใดๆ ก็ควรไปแก้กฎหมาย หรือออกเป็นข้อยกเว้น มีการเข้าไปตรวจสอบหรือติดตามก็ว่ากันไป ความเห็นของผมคือควรปล่อยให้มี เพราะเรากำลังพูดเรื่องนวัตกรรม ไทยแลนด์ 4.0 ถ้าเรื่องแค่นี้แก้ปัญหาไม่ได้ อีกหน่อยก็จะเกิดปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ตามมา เพราะโลกมันพัฒนาไปเรื่อยๆ”

กรณีหากปล่อยให้มีแล้วจะทำลายระบบขนส่งแบบเก่า ทำให้คนในระบบเดิมว่างงานนั้น ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ระบุว่า “มันเป็นเรื่องของกลไกตลาด ผมมองว่ามันไม่พังหรอก เพราะแท็กซี่ที่เป็นอยู่ ก็เป็นไปตามกลไกตลาด ถ้าผู้โดยสารน้อยมันก็ลดลงไปเอง หากมีผู้โดยสารเยอะ คนก็มาจดทะเบียนเพิ่ม ทั้งนี้ผู้โดยสารก็จะชั่งน้ำหนักระหว่างคุณภาพกับราคา อย่างตนเองบางครั้งก็ใช้บริการ Uber เพราะนัดมารับได้ แต่วันไหนประชุมเสร็จ ไม่ได้รีบกลับบ้าน ผมก็เลือกออปชั่นที่ถูกกว่านี้ อย่างภรรยาตนก็รู้สึกปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำเมื่อใช้ Uber มากกว่าแท็กซี่ธรรมดาที่แม้จดทะเบียนถูกต้อง แต่ใครมาขับก็ได้ไม่ยาก หากเกิดปัญหาก็อาจตามตัวได้ยาก ขณะที่ Uber เองกลับมีบันทึกอยู่ในระบบ ซึ่งควรมีการออกกฎระเบียบให้รัฐมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ”

24
ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

ผศ.ดร.สุรเชษฐ์เชื่อว่า โดยระบบขนส่งแบบ Uber ไม่ได้ทำลายระบบขนส่ง แต่เป็นการขนส่งรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่ Mass Transit แต่เป็นรูปแบบ Paratransit แบบเดียวกับแท็กซี่ ซึ่ง Uber เอง ขณะนี้ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของหลายประเทศ แต่ก็มีบางประเทศมีปัญหาที่คล้ายกับบ้านเราเช่นไต้หวัน ขณะที่สิงคโปร์ยอมให้ใช้ ส่วนตัวเห็นว่าหากประเทศไทยมีวิสัยทัศน์และอยากสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ต้องพยายามให้เกิดสิ่งพวกนี้ แล้วมันจะเกิดการแข่งขัน เป็นกลไกตามธรรมชาติ ว่าอะไรที่ดีกว่าคนก็จะไปใช้เยอะ อะไรที่ไม่ปรับก็จะตาย

เมื่อถามกรณีมีข่าวการใช้ ม.44 ปิดแอพพ์ไปเลยนั้น ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ระบุว่า “ส่วนตัวมองว่าไม่สมควร แต่หากจะใช้เห็นว่าควรใช้เพื่ออนุญาตด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอกหากเราจะสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลอีโคโนมี การพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ ผมคิดว่าควรดูสิงคโปร์ คิดว่าผู้นำสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์”

“หลักในการขนส่งสาธารณะในเชิงวิชาการและความนิยมในระดับสากล คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง Uber คือระบบขนส่งสาธารณะแบบหนึ่ง แต่เป็นแบบเล็ก ไม่ใช่แบบใหญ่ การมีก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะเกิดการ share drive คือสมมุติคุณขับรถยนต์ส่วนตัววันละ 3-4 ชม. อีก 20 ชม.คุณจอดไว้เฉยๆ นี่คือการสูญเสียทางเศรษฐกิจ การ share drive ก็ทำให้เราไม่ต้องเสียพื้นที่ เช่นที่จอด มีการใช้รถร่วมกันถือเป็นรูปแบบการขนส่งสาธารณะรูปแบบหนึ่ง ที่ผมใช้คำว่าเป็นเส้นเลือดฝอย เพราะจะทำเส้นเลือดใหญ่ไปทุกที่ เป็นไปไม่ได้ มันต้องมีเส้นเลือดฝอยมารองรับ โดยตราบใดที่มันช่วยลดปริมาณการใช้รถส่วนตัวได้ถือเป็นเรื่องที่ดี” ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ระบุ

กรณีเชียงใหม่นั้น ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ระบุว่า “กรณีรถแดง ถามว่ากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายหรือไม่ รถแดงถูกต้อง 100% หรือเปล่า จริงๆ เมืองต้องมีเส้นเลือดใหญ่คือระบบขนส่งอย่างรถไฟฟ้า และมีระบบรองคือ รถบัสขนาดใหญ่-เล็ก แต่เส้นเลือดฝอยก็คือการขนส่งรูปแบบแท็กซี่ ผมคิดว่ามันดีกว่าการเสี่ยงชีวิตบนมอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย อย่างต่างประเทศก็ไม่มี หรือแม้แต่รถตู้แบบบ้านเราเอง ต่างประเทศก็ไม่มี เพราะมันออกแบบมาให้ขนของ”

ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ให้ข้อคิดว่า “คุณภาพการขนส่งของไทยอยู่ในระดับที่แย่มาก ต้องบูรณาการอย่างมาก ตั้งแต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดระบบขนส่งสาธารณะ นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนโวยวายเวลารัฐจับ Uber ณ วันนี้ ประชาชนเหมือนไม่มีทางเลือก เพราะรัฐลงทุนแต่ระบบถนน แต่ลงทุนระบบขนส่งสาธารณะน้อยมาก อย่างบีอาร์ที ก็ยังจะมีแนวคิดไปยกเลิก แล้วถามว่าถนนไม่ขาดทุนหรือ ถนนก่อสร้างให้ฟรีๆ โดยใช้ภาษีงบประมาณตั้งเยอะแยะไปลงทุนก็ไม่เห็นมีใครโวย”

ในส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ระบุว่า “ประเทศเราควรมีหน่วยงานหลักที่ดูแลระบบขนส่งภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แยกกันไปตามหน่วยงาน จริงๆ เรื่องขนส่งเป็นเรื่องของรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลควรกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่ท้องถิ่นควรมีอำนาจในการบริหารจัดการขนส่งในเมืองของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกเมืองด้วยซ้ำ อย่างเชียงใหม่อาจจะเหมาะสมกับรถแดง ก็จะต้องมีการบริหารว่าจะทำอย่างไรให้รถแดงดีขึ้น จึงต้องมีการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพราะกระทรวงคมนาคมหน่วยเดียวไม่มีทางดูแลได้ทั่วถึง อย่างส่วนกลางจะไปวางแผนให้เชียงใหม่ ก็ถามว่าคุณเข้าใจความต้องการของคนเชียงใหม่หรือ เข้าใจทิศทางการเติบโตเมืองเชียงใหม่หรือไม่ ส่วนที่จะมีการหวาดกลัวเรื่องการคอร์รัปชั่นหากมีการกระจายอำนาจก็ต้องไปแก้ตรงนั้น ไม่ใช่การรวมทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้ต้องเร่งทำอย่างรวดเร็ว ไม่งั้นก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ หน่วยงานรัฐก็มุ่งมั่นสร้างถนน ประชาชนก็มุ่งมั่นกู้หนี้ยืมสินหารถส่วนตัวมาใช้ เพราะรัฐเอาเงินไปสร้างถนน ไม่ได้เอามาช่วยพัฒนาขนส่งสาธารณะ”

“ทั้งนี้ ทางออกของกรณี Uber คือรัฐต้องเข้าไปคุย เพื่อให้มีข้อมูลของคนขับ หากคุณไม่ยอมทำตาม ก็ต้องยุติธุรกิจไป” ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image