The Warwick Prize… รางวัลวรรณกรรมระดับโลกน้องใหม่ เพื่อนักเขียนหญิง (เท่านั้น)

ภาพจากเว็บไซต์ cbc.ca

ถือเป็นควันหลงวันสตรีสากลที่เพิ่งผ่านมา เพราะกำลังจะมีรางวัลวรรณกรรมระดับโลกซึ่งมอบให้เฉพาะนักเขียนหญิงเท่านั้นเกิดขึ้นอีกรางวัลหนึ่ง และเป็นรางวัลที่นักเขียนหญิงชาวไทยก็น่าจะมีโอกาสไม่น้อย !!

เพราะ มหาวิทยาลัยวอร์วิค (The University of Warwick) เพิ่งประกาศออกมาว่าจะตั้งรางวัล “The Warwick Prize for Women in Translation” ซึ่งจะมอบให้งานเขียนคุณภาพของนักเขียนหญิงจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก โดยงานเขียนที่ส่งเข้าประกวดจะต้องถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและนักแปลจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ และจะมอบรางวัลครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2017 นี้

ถึงบอกว่านักเขียนหญิงชาวไทยก็น่าจะมีโอกาสนี้ไง

จริงๆ รางวัลวรรณกรรมที่มอบให้นักเขียนหญิงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีรางวัลหนึ่งในระดับโลกที่น่าจะรู้จักกันดีอย่าง “The Orange Broadband Prize for Fiction” หรือ “ออเรนจ์ ไพรซ์” ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1996 และจะคัดเลือกนวนิยายของนักเขียนหญิงมามอบรางวัล และเมื่อปี 2005 ก็แยกออกมาเป็นรางวัล “Orange Award for New Writers” สำหรับนักเขียนหญิงหน้าใหม่อีกหนึ่งรางวัล แต่นั่นจะเป็นการพิจารณาเฉพาะนิยายจากที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งต่างจาก The Warwick Prize for Women in Translation ที่พิจารณาวรรณกรรมที่แปลจากภาษาอื่นๆ มาเป็นภาษาอังกฤษ

Advertisement

จุดประสงค์สำคัญของรางวัล The Warwick Prize for Women in Translation คือต้องการเปิดพื้นที่และสร้างความสมดุลทางเพศด้วยวรรณกรรมจากประเทศต่างๆ ที่แปลมา และเพื่อให้นักอ่านที่อ่านภาษาอังกฤษทั่วโลก โดยเฉพาะชาวอังกฤษและไอริช ได้เข้าถึงเรื่องเล่าจากนักเขียนผู้หญิงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นการเปิดมุมมองและทัศนคติใหม่ๆ ในการมองโลกด้วยวรรณกรรมแปล ศาสตราจารย์มิลีน ฟรีลี หัวหน้าภาควิชาการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณคดีเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยวอร์วิค ซึ่งเป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศอังกฤษ (English PEN) ด้วยนั้น อธิบายว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการสนับสนุนวรรณกรรมอย่างมากมายจากองค์กรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็สังเกตเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้อ่านเรื่องเล่าของผู้หญิงในพื้นที่อื่นๆ ของโลกที่ไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ รางวัลนี้นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่นักเขียนทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักอ่านได้เข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงในประเทศต่างๆ ผ่านเรื่องเล่าของพวกเธอ

จากรายงานฉบับล่าสุดของ “เนลสันบุ๊คส์” เปิดเผยว่า ในธุรกิจหนังสือของอังกฤษ มีสัดส่วนของวรรณกรรมแปลเพียง 3.5% แต่มียอดขายโดยรวมคือ 7% ในขณะที่รางวัลที่มอบแก่วรรณกรรมแปลอย่าง “Independent Fiction Prize” ใน 21 ของการมอบรางวัล มีนักเขียนหญิงได้รับรางวัลแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเนลสันบุ๊คส์คาดว่ารางวัล The Warwick Prize for Women in Translation น่าจะทำให้ตลาดหนังสือแปลของอังกฤษโตขึ้น และเรื่องเล่าของนักเขียนหญิงก็จะมีพื้นที่มากขึ้นด้วย

รางวัล The Warwick Prize for Women in Translation จะมอบให้วรรณกรรมหลากประเภท ไม่ใช่เพียงแค่นิยายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทกวี, วรรณกรรมสำหรับเด็ก, วรรณกรรมวัยรุ่น ที่เขียนโดยนักเขียนหญิง ส่วนนักแปลจะหญิงหรือชายก็ได้ โดยเงินรางวัล 1,000 ปอนด์ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือแบ่งระหว่างนักเขียนหญิงกับนักแปล โดยเริ่มรับผลงานตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2017 รายชื่อผู้เข้ารอบจะประกาศในเดือนตุลาคม และประกาศชื่อผู้ชนะในเดือนพฤศจิกายน

Advertisement

งานนักเขียนหญิงไทยเจ๋งๆ ก็มีไม่น้อย น่าจะลองแข่งดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image