ตั้ง’มาลิณี’อธิการมรภ.บุรีรัมย์สะดุด ศาลปค.ทุเลาบังคับคดี ชี้เกษียณขัดกฎหมาย มรภ.’เชียงใหม่-สารคาม’ฟ้องด้วย

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการแต่งตั้งอธิการบดี มรภ.จากผู้เกษียณอายุราชการโดยระบุว่าสามารถกระทำได้ และชอบด้วยกฎหมายนั้นว่า เข้าใจว่าที่ ทปอ.มรภ.ออกแถลงการณ์เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการเสนอรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการ เพราะขณะนี้มีหลายแห่งอยู่ระหว่างการสรรหาอธิการบดี และมีสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีมติเสนอรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณฯ ได้แก่ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.ร้อยเอ็ด มรภ.สงขลา มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.นครสวรรค์ และ มรภ.บุรีรัมย์ โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อมีช่วงอายุระหว่าง 63-69 ปี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการสรรหาและแต่งตั้งผู้เกษียณฯให้ดำรงตำแหน่งบริหารอื่นๆ อีก อาทิ คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก ศูนย์ สถาบัน เป็นต้น

ประธาน ทปสท.กล่าวว่า การแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณฯขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ร้องเรียนต่อประธานองคมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา และการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ร้องเรียนต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดยมีใจความว่า การตั้งผู้เกษียณฯให้ดำรงตำแหน่งบริหารขัดกับกฎหมายชัดเจน เนื่องจากมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พ.ศ.2547 ระบุตรงกันว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมาตรา 17(13) แห่ง พ.ร.บ.มทร. พ.ศ.2548 และมาตรา 18(13) และตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามอบหมาย…” ดังนั้นการแต่งตั้งอธิการบดีและผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการของ มรภ.และ มทร.จึงต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถแต่งตั้งจากคนนอกหรือคนที่เกษียณฯได้ ซึ่งก็เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมา และศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า “การแต่งตั้งอธิการบดีนอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 26 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.มทร. พ.ศ.2548 แล้ว บุคคลนั้นย่อมจะต้องมีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ด้วย” นอกจากนี้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 30 วรรคท้าย ยังระบุ “ให้เลขาธิการ กกอ.เป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดี และข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา” อีกด้วย ดังนั้นการแต่งตั้งอธิการบดีและผู้บริหารที่ไม่ใช่ทั้งข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานอกจากขัดกับกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบกับการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเลขาธิการ กกอ. เคยมีหนังสือสอบข้อหารือของหลายสถาบันทั้งเรื่องการกำหนดอัตราเงินเดือน การลา การสอบวินัยอธิการบดีที่เป็นผู้เกษียณฯว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

“ทั้งที่ พ.ร.บ.มรภ. พ.ร.บ.มทร. และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. ระบุชัดให้ทั้งสองสถาบันเป็นส่วนราชการสังกัด สกอ. ในทางกลับกันเลขาธิการ กกอ.กลับเป็นผู้นำรายบุคคลซึ่งมิชอบด้วยกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นอธิการบดี” นายรัฐกรณ์กล่าว และว่า หลังร้องเรียนแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตอบหนังสือกลับมาว่าได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว และได้ส่งให้ สกอ.ดำเนินการ แต่ตนยังไม่ได้รับการตอบกลับจาก สกอ.ถึงความคืบหน้าว่าดำเนินการอย่างไร

ประธาน ทปสท.กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ทปสท.ซึ่งประกอบด้วยประธานสภาคณาจารย์ และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ประธานสภาคณาจารย์ และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง และประธานสภาคณาจารย์ และข้าราชการสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้มีการหารือเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณฯมาโดยตลอด โดยมีการนำประเด็น มทร.อีสาน มทร.ศรีวิชัย และ มรภ.บุรีรัมย์ มาหารือ เนื่องจากทั้ง มทร.และ มรภ.ใช้กฎหมายที่มีสาระเหมือนกัน ต่างกันเพียงเรียงมาตรา ฉะนั้นที่ ทปอ.มรภ.ระบุว่าการตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณฯชอบด้วยกฎหมาย คงต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งตอนนี้มีหลายแห่งที่กำลังฟ้องศาลปกครอง เท่าที่ทราบมี มรภ.เชียงใหม่ซึ่งได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อปลายปี 2559 และล่าสุด มรภ.มหาสารคาม ก็ได้ฟ้องศาลปกครองขอนแก่นเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ มทร.อีสาน ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ให้ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น คือให้เพิกถอนคำสั่งสภา มทร.อีสาน ที่แต่งตั้งนายวินิจ โชติสว่าง ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี เนื่องจากไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ส่วน มทร.ศรีวิชัย ศาลปกครองสงขลาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ให้เพิกถอนคำสั่งนายกสภา มทร.ศรีวิชัย ที่แต่งตั้งนายประชีพ ชูพันธ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ออกคำสั่ง แต่มาในชั้นศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เนื่องจากนายประชีพได้ลาออกจากการรักษาการอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ส่วน มรภ.บุรีรัมย์ เมื่อเร็วๆ นี้ นายปัญญา เจริญพจน์ ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ได้ฟ้องนายกสภา และสภา ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เนื่องจากเสนอนางมาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 มีนาคม 2560 ขึ้นโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ทุเลาการบังคับมติที่ประชุมสภา วาระพิจารณาเลือกอธิการบดี และประกาศเรื่องผลการเลือกอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ลงวันที่ 30 มกราคม 2560 ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้เหตุผลว่า “แม้ พ.ร.บ.มรภ.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุของอธิการบดี แต่มาตรา 18 และมาตรา 65/2 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้มาตรา 19 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจะพ้นจากราชการในสิ้นปีงบประมาณ หากจำเป็นต้องต่อเวลาราชการ จะดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ประเภทผู้บริหารและงานบริหารอื่นตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) กำหนดมิได้ ดังนั้นตำแหน่งอธิการบดีจึงต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และจะต้องยังไม่เกษียณ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image