ความสัมพันธ์ราชวงศ์ ไทย-ญี่ปุ่น และการถวายอำลา ‘รัชกาลที่ 9’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณนี บรมบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ในการพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 15 ธันวาคม 2507

ในช่วงเย็นของวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ธงชาติญี่ปุ่นโบกสะบัดตลอดเส้นทางโดยรอบพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องด้วยการเสด็จฯของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ทั้งสองพระองค์ประทับรถยนต์พระที่นั่งโรลส์-รอยซ์สีครีม เสด็จเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และโค้งคำนับเป็นเวลาหลายวินาที ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดแสดงความเสียพระราชหฤทัย ก่อนเสด็จออกจากอาคารสำนักราชเลขาธิการไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายการต้อนรับ ทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์ และทรงถวายของขวัญแด่ทั้งสองพระองค์

นับเป็นภาพที่ตราตรึงใจพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

ในค่ำคืนเดียวกัน ฯพณฯ นายฮัตสุฮิสะ ทากาชิมะโฆษกประจำพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ แถลงข่าวที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ก่อนหน้าที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯเยือนประเทศไทย ได้เสด็จเยือนฯเวียดนามในฐานะพระราชอาคันตุกะ จากเดิมทรงวางแผนเสด็จฯเยือนประเทศเวียดนามประเทศเดียว แต่เนื่องจากพระราชไมตรีระหว่างทั้ง 2 พระองค์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่มีมาอย่างยาวนาน จึงทรงยืดระยะเวลาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 1 วัน เพื่อถวายราชสักการะพระบรมศพ

ฉายในวันพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารเจ้าชายอากิฮิโตะ และเจ้าหญิงมิชิโกะ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 15 ธันวาคม 2507
ฉายในวันพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารเจ้าชายอากิฮิโตะ และเจ้าหญิงมิชิโกะ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 15 ธันวาคม 2507

‘ราวกับพี่ชายที่แสนดี’

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2559 อันเป็นห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงของปวงชนชาวไทย สำนักพระราชวังอิมพีเรียลของญี่ปุ่นแถลงว่า เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงไว้ทุกข์แสดงความอาลัยเป็นเวลา 3 วัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายชิกะโอะ คะวะอิ เลขาธิการสำนักพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เพื่อส่งสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย

หลังจากนั้น ในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระองค์ทรงตอบคำถามผ่านทางจดหมาย ซึ่งส่งผ่านสมาคมผู้สื่อข่าวประจำสำนักพระราชวังของญี่ปุ่น นอกจากทรงตอบคำถามเรื่องพระราชประสงค์ในการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิและเรื่องทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นแล้ว พระองค์ยังทรงเขียนข้อความระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ว่า

Advertisement

“ในค่ำคืนวันที่ 13 ตุลาคม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวที่น่าเสียใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจากไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษามากกว่าข้าพเจ้า 6-7 ปี และทรงให้ความกรุณาใส่ใจดูแลข้าพเจ้ามาโดยตลอดราวกับพี่ชายที่แสนดี นับตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ราว 20 ปี ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้รับทราบข่าวการประชวรของพระองค์และคาดหวังว่าจะมีโอกาสเข้าเฝ้าฯพระองค์อีกครั้ง ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ไทยทุกพระองค์ และปวงชนชาวไทย”

กระทั่งทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถวายราชสักการะเป็นครั้งสุดท้าย ในวันที่ 5 มีนาคม 2560

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น ทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะและทรงโค้งคำนับเป็นเวลาหลายวินาที
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น ทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะและทรงโค้งคำนับเป็นเวลาหลายวินาที
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์ และทรงถวายของขวัญ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์ และทรงถวายของขวัญ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ

แนบแน่น ยาวนาน

สายสัมพันธ์แห่ง 2 ราชวงศ์

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีมาอย่างยาวนานกว่า 600 ปี โดยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมาแล้ว 130 ปี สำหรับทั้งสองพระราชวงศ์ มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่น โดยในรัชกาลที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2506 ในครั้งนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชบิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และพระราชวงศ์ รวมถึงประชาชนชาวญี่ปุ่นถวายการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากประเทศไทยอย่างอบอุ่น

สื่อญี่ปุ่นหลายแห่งในขณะนั้น รายงานว่า แม้เป็นการเสด็จฯเยือนครั้งแรกของพระองค์ แต่ทรงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และเสวยอาหารญี่ปุ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ต่อมาในปี 2507 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ในขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ “เจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร” เสด็จฯเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ

พร้อมสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศ “เจ้าหญิงมิชิโกะพระชายา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

ความสัมพันธ์ยิ่งแนบแน่นมากยิ่งขึ้น เจ้าชายอากิฮิโตะมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเป็นนักวิจัยด้านมีนวิทยา หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับปลา ได้ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปียจำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ.2508 จึงทรงทดลองเลี้ยงไว้ที่บ่อปลาสวนจิตรลดา และพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

ต่อมาได้พระราชทานพันธุ์ปลาแก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้แก่ราษฎร พร้อมปล่อยลงตามแหล่งน้ำต่างๆ ทุกหนแห่ง ทุกภูมิภาค

ปัจจุบัน ปลานิลกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนคู่ครัวไทยที่หาซื้อรับประทานได้ง่าย รวมทั้งเป็นปลาน้ำจืดเพื่อการส่งออกที่มีศักยภาพสูง มีการผลิตไม่น้อยกว่า 2 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวไทยและประเทศไทยเป็นอย่างมาก

การเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อพ.ศ.2506 ฉายร่วมกับสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต สมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ แห่งญี่ปุ่น และเจ้าชายทากามัทสุ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม
การเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อพ.ศ.2506 ฉายร่วมกับสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต สมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ แห่งญี่ปุ่น และเจ้าชายทากามัทสุ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม

สองพระประมุขแห่งเอเชีย

ต่อมาในปี 2534 หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เสด็จฯเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในฐานะพระประมุขแห่งญี่ปุ่น

กระทั่งปี 2549 ทั้งสองพระองค์เสด็จฯเยือนประเทศไทยอีกครั้ง ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถวายการต้อนรับ

นอกเหนือจากการเสด็จฯเยือนอย่างเป็นทางการแล้ว สมาชิกทั้งสองราชวงศ์ต่างเสด็จฯเยือนไทยและญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง ระหว่างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

ฉายในการพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณืเรือนต้น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พ.ศ. 2507
ฉายในการพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณืเรือนต้น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พ.ศ. 2507

ประชาชนไทย-ญี่ปุ่น

ไม่เพียงความสัมพันธ์ระดับพระราชวงศ์ทั้งสองเท่านั้น ในภาคประชาชน ทั้งคนไทยและญี่ปุ่นก็มีความสัมพันธ์อันดีตลอดมา โดยในปี 2558 สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงจำนวนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยราว 6.4 หมื่นคน ด้านบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในไทยอยู่ระหว่าง 4,000-5,000 แห่ง นอกจากนี้ ไทยยังคงติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวญี่ปุ่นมาโดยตลอด เช่นเดียวกับคนไทยที่มีประเทศญี่ปุ่นเป็นสถานที่เที่ยวในฝัน ยิ่งล่าสุด เมื่อมีการยกเลิกวีซ่า นักท่องเที่ยวไทยก็รีบแพคกระเป๋าไปญี่ปุ่นกันอย่างมหาศาล ยังไม่นับร้านอาหารญี่ปุ่นที่แทบทุกหัวระแหงในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศไทย

จากสถิติขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า ในปี 2559 ชาวไทยเดินทางไปญี่ปุ่น 901,400 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.1%

ส่วนนักศึกษาไทยที่เดินทางไปเรียนต่อยังประเทศญี่ปุ่น จากสถิติคนต่างด้าวพำนักในประเทศญี่ปุ่น ของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น มียอดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 จำนวน 4,261 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.95%

ด้านคนญี่ปุ่นที่เดินทางมายังประเทศไทย จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อ พ.ศ.2559 มีจำนวน 1,439,629 คน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26.3%

ยืนยันสายสัมพันธ์ในเชิงบวกที่นับวันก็ยิ่งแน่นแฟ้น เป็นมิตร และใกล้ชิดกันมากขึ้นในทุกขณะ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรสวนโทบิฮิโนะ (สวนนารา) และพระราชทานอาหารให้กวาง 31 พฤษภาคม 2506
ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรสวนโทบิฮิโนะ (สวนนารา) และพระราชทานอาหารให้กวาง 31 พฤษภาคม 2506

การเสด็จฯเยือนระหว่างราชวงศ์ไทยและญี่ปุ่น

ระหว่างรัชกาลที่ 9 จนถึงปัจจุบัน

– พฤษภาคม 2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะพระราชอาคันตุกะ

– ธันวาคม 2507 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร เจ้าชายอากิฮิโตะและเจ้าหญิงมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ.2506

– กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งรัชสมัยโชวะ

– พฤศจิกายน พ.ศ.2533(ค.ศ.1990) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น

– กันยายน 2534 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ

– มิถุนายน 2549 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯเยือนประเทศไทยเพื่อทรงร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

– มีนาคม 2560 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พร้อมด้วย สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯเยือนประเทศไทยเพื่อถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ภาพส่วนหนึ่งจากหนังสือนิทรรศการพิเศษ การแสดงภาพถ่ายพระราชวงศ์ไทยและพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เนื่องในมหาสมัยมงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจะมีพระชนมายุ 90 พรรษาบริบูรณ์ และการพระราชพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น 16 ตุลาคม-17 พฤศจิกายน 2533 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image