สองโคริยาประชาธิปไตย: ใครเป็นใครในการชุมนุมกรณีทุจริตของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (1)

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันที่มีความสำคัญมากๆ ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเกาหลีใต้ เพราะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษากรณีรัฐสภามีมติให้ถอดถอนประธานาธิบดีปักคึนฮเยออกจากตำแหน่ง โดยผลออกมาคือ มีมติ 8:0 ให้ถอดถอน ถือเป็นรายแรกตั้งแต่มีประเทศมา ที่ถูกถอดถอนโดยรัฐสภาและรับรองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อสิ้นสุดการอ่านคำพิพากษา ก็เกิดความโกลาหลเล็กน้อยจากกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีที่เรียกเป็นภาษาเกาหลีกันว่า “พักซาโม” (ย่อมาจาก 박근혜 사랑하는 사람들의 모임 แปลตรงตัวก็คือ การรวมกลุ่มของคนรักประธานาธิบดีปัก) มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 2 ราย จากการปีนขึ้นไปบนรถบัสของตำรวจ และพลัดตกลงมา ขณะที่ฝ่ายขับไล่ก็มีการเฉลิมฉลองชัยชนะกันไปเมื่อคืนวานนี้

ผู้เขียนคิดว่า นี่คือโอกาสที่ดีที่จะชวนให้ผู้อ่านชาวไทยรู้จัก “สองโคริยาประชาธิปไตย” (เลียนแบบมาจากแนวคิด “สองนคราประชาธิปไตย” ของท่านอาจารย์เอนกนะครับ)

คิดว่า หลายท่านคงทราบเรื่องราวเชิงเหตุการณ์ที่คนสนิทประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพร่างทรงหรือหมอดูใช้ตำแหน่งของประธานาธิบดีเข้าไปแสวงหาประโยชน์และสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากกลุ่มทุนใหญ่ ไม่นับเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบของประธานาธิบดี แทรกแซงสื่อ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีเหตุการณ์เรือเซวอลล่ม และอื่น ๆ

Advertisement

ศาลรัฐธรรมนูญท่านเห็นว่า การกระทำเหล่านี้ แม้จะไม่ได้เป็นผู้สั่งการโดยตรง แต่การที่คนรอบตัวสามารถใช้ “ตำแหน่งหน้าที่” ของประธานาธิบดีในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาประโยชน์จนเกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น ถือว่า ประธานาธิบดี “บกพร่อง” ต่อหน้าที่ โดยเฉพาะหน้าที่ของการ “พิทักษ์หลักการแห่งรัฐธรรมนูญ” ที่สำคัญยังเป็นการ “ทรยศหักหลังประชาชน” อีกด้วย!

19

อย่างไรก็ดี ข้อเขียนนี้ไม่ได้จะมาขยายความความผิดของประธานาธิบดีครับ แต่เราจะมาทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเกาหลีตอนนี้ เดี๋ยวนี้จากประสบการณ์ภาคสนามของผู้เขียนในการเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทุกวันเสาร์ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการชุมนุมว่า คนที่ออกมานี่เขาเป็นพวกไหนกัน แล้วความคิดแบบไหนกันหนอ…ที่เชื้อเชิญให้พวกเขาออกมา

Advertisement

หลายท่านก็คงทราบอีกเช่นกันว่า เกาหลีมีสองเกาหลีคือเหนือกับใต้ เป็นผลจากการกำหนดของมหาอำนาจเมื่อสงครามเกาหลีสิ้นสุด อย่างไรก็ดี นักวิชาการคนสำคัญ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัมแชบง ผู้อำนวยการสถาบันอาซันเพื่อนโยบายศึกษาเสนอว่า มันไม่ได้แต่เหนือใต้นะ มันมีความขัดแย้ง “ใต้-ใต้” ด้วย และควาขัดแย้งใต้-ใต้นั่นก็คือ ความขัดแย้งของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า อนุรักษนิยม/ฝ่ายขวา (보수/우파) และฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ก้าวหน้า/ฝ่ายซ้าย (진보/좌파)

สรุปง่าย ๆ เลย ฝ่ายขวาเนี่ยคือพวกที่เชื่อว่า ในช่วงสร้างชาติสร้างประเทศ เกาหลีใต้ยอมสละต้นทุนทุกรูปแบบเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แม้จะปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร และสหรัฐอเมริกามีบทบาทในการค้ำประกันความมั่นคงให้ประเทศมาตั้งแต่หลังสงคราม

ส่วนฝ่ายซ้าย ก็คิดกลับกันในแง่ที่ว่า เผด็จการทหารนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้รับใช้ที่ดีของสหรัฐอเมริกา และสหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้สนับสนุนเผด็จการทหารตัวยง

ในด้านการต่างประเทศ นักวิชาการ นักการเมืองที่ประกาศตนชัดเจนเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมมักจะมีแนวโน้มสนับสนุนการเป็นพันธมิตรสหรัฐอเมริกา การสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่น และที่สำคัญคือ มองเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามเพราะมีนิวเคลียร์ และมองว่า เกาหลีเหนือกำลังจะล่มสลาย ฉะนั้น ต้องดำเนินนโยบายคว่ำบาตรอย่างเข้มข้น

21

ส่วนฝ่ายซ้ายนั้นมักจะประกอบด้วย บรรดาผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง หรือแม้แต่นักการเมืองเองมักจะวิพากษ์บทบาทของสหรัฐอเมริกา และปัญหาที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้น เช่น กรณีฐานทัพและกรณีสังหารเด็กหญิงชาวเกาหลีสองคนในอุบัติการณ์ไฮเวย์ 56 ที่เมืองยังจูเมื่อค.ศ. 2002 และยังมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนจีนมากกว่าด้วย

แน่นอนครับว่า คนเหล่านี้ ไม่ส่งเสริมความร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีความเชื่อว่า การจัดการกับเกาหลีเหนือต้องใช้การพัวพันสร้างสรรค์ ใช้ความร่วมมือนำมากกว่าสร้างความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของอดีตประธานาธิบดีคิมแทจุงผู้ล่วงลับที่เขาริเริ่นโยบายตะวันทอแสง หรือ Sunshine Policy ไว้นั่นเอง

ชุดความคิดเหล่านี้สำคัญมาก เพราะมันสะท้อนลงมาในการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายครับ เริ่มจากฝ่ายแรกก่อนนะครับ ผู้เขียนขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า “ขบวนการดวงเทียนจรัสแสง” (Candlelight Vigil/촛불 집회) ซึ่งปรากฏวิธีการประท้วงเช่นนี้อยู่หลายประเทศในโลก

แต่สำหรับเกาหลีใต้ ขบวนการนี้เริ่มใช้เทียนในการชุมนุมประท้วงการสังหารเด็กหญิงชาวเกาหลีเมื่อ ค.ศ. 2002 ที่กล่าวไปข้างบน สำหรับความมุ่งประสงค์ของขบวนการดวงเทียนจรัสแสงที่ออกมาเคลื่อนไหวในคราวนี้ มีประเด็นหลัก 3 เรื่อง ได้แก่

1. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองการถอดถอนประธานาธิบดีที่ผ่านการลงคะแนนเสียงจากรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 ที่ผ่านมา

2. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาจำคุกประธานาธิบดี คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รักษาการประธานาธิบดี นายฮวังคโยอาน เลขาธิการประธานาธิบดี นายคิมคีชุน และผู้บริหารกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งมีหลักฐานชี้ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีทุจริต (นายอีแชยง ประธานกรรมการบริหารซัมซ็องอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในผู้เกี่ยวข้องถูกจับแล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา)

3. เสนอให้มีกระบวนการตรวสอบความจริงโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีเรือเซวอลล่มเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2014 ว่า ประธานาธิบดีมีภารกิจอะไรจึงหายไป 7 ชั่วโมง ไม่มีการสั่งการโดยฉับพลันจากฝ่ายรัฐบาลและผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ ทำให้มีผู้โดยสารที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและลูกเรือเสียชีวิตราว 300 คน (ข่าวกระแสหนึ่งบอกเราว่า ประธานาธิบดีไปทำ “เบบี้เฟซ” โดยปลอมชื่อเป็นนางเอกซีรีส์ ใช้ชื่อว่า “คิลลาอิม”)

24

นอกจากประเด็นหลักสามข้อข้างต้นแล้ว ในการเคลื่อนไหวของขบวนการดวงเทียนจรัสแสงยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการต่างประเทศ เช่น การคัดค้านข้อเสนอติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธหรือ THAAD ที่เมืองซ็องจู จังหวัดคย็องซังเหนือ ด้วยเหตุผลที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงว่า จีนไม่พอใจและได้ลดระดับการนำสินค้าเข้า โดยเฉพาะสินค้าวัฒนธรรมทั้งหลาย เกาหลีใต้มีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพิงความคล่องตัวทางเศรษฐกิจจากจีน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ประเด็นหญิงบำรุงขวัญ (Comfort Women/위안부) ซึ่งขบวนการดังกล่าวสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มหญิงบำรุงขวัญที่ยังมีชีวิตอยู่ และสนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์สาวน้อยแห่งสันติภาพ (평화의 소녀상) ในสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ สถานกงสุลญี่ปุ่นประจำนครปูซาน เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติชาวเกาหลีใต้ถึงการกระทำเลวร้ายที่ทหารญี่ปุ่นได้ปฏิบัติในอดีต ตามมุมมองของเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ขึ้นอีกครั้ง

ที่น่าสนใจคือ นอกจากประเด็นหลัก ๆ ในการเมืองและการต่างประเทศเกาหลีใต้ที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป พื้นที่บริเวณจัตุรัสควังฮวามุน (หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าเซจงมหาราชและอนุสาวรีย์นายพลอีชุนชิน) นั้น ยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ได้แก่ กลุ่มสหภาพแรงงานนิคมอุตสาหกรรมแคซ็อง ซึ่งประธานาธิบดีมีคำสั่งปิด ทำให้แรงงานเหล่านี้ตกงานและขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงได้นำสินค้าที่ผลิตจากบริเวณดังกล่าว เช่น ถุงเท้า เสื้อกล้าม ชุดชั้นใน มาจำหน่ายในพื้นที่ชุมนุมในราคาถูก (1,500-5,000 วอน หรือประมาณ 45-150 บาท)

อีกกรณีคือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ Oxy ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำความชื้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นครอบครัวและเด็ก จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ Korea Times พบว่า ประชาชนจำนวน 235 คนมีอาการติดเชื้อในปอดหลังจากใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

ไม่ใช่แค่กิจกรรมทางการที่จัดกันเป็นปกติ ถ้าท่านได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนจัตุรัสควังฮวามุนในช่วงนี้สักครั้ง ท่านจะเห็นการรณรงค์อย่างเข้มข้นในการรวบรวมรายชื่อนำเสนอรัฐบาลให้มีการติดตามผลการดำเนินการค้นหาผู้ประสบภัยจากกรณีเซวอล โดยมีการสื่อสารทั้งกับชาวเกาหลีและชาวต่างชาติในเวลาเดียวกัน

การจัดกิจกรรมขับร้องเพลงเปิดหมวก การเต้นระบำซ็อนมุลโนรีและการขับร้องเพลงพื้นบ้านพันโซรีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะเพลงของฝ่ายซ้าย (ซึ่งมีอยู่เพลงหนึ่งที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วและนำมาขับร้องบ่อยครั้งในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน) การจัดแสดงผลงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ที่นำเสนอภาพวาดและภาพถ่ายเสียดสีการเมืองเกาหลีใต้อย่างไม่เกรงใจผู้มีอำนาจ

25

ที่น่าสนใจคือ กิจกรรมร่วมสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาจัดให้สมกับความที่ประเทศนี้เป็นบ้านเมือง 4.0…

มีการแจกริบบิ้นสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวกรณีเซวอล การแนะนำแอพพลิเคชันและเฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มผู้สนับสนุนขบวนการดวงเทียนจรัสแสง และการรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งน่าสนใจว่า ผู้รับบริจาคจะถือถังรับบริจาคเดินไปทั่วบริเวณ และมีคนเกาหลีจำนวนไม่น้อยที่กล้าหยิบเงินจำนวนตั้งแต่ 1,000 วอนไปจนถึง 50,000 วอนใส่ถังรับบริจาค

โดยไม่มีความกังวลแม้แต่น้อยว่า เจ้าหน้าที่จะแอบหยิบเงินไป เงินรายได้เหล่านี้ได้กลับคืนมาเป็นดอกผลของการชุมนุมในแต่ละครั้งด้วย

สำหรับกิจกรรมเวทีแต่ละสัปดาห์ จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป มีตั้งแต่ศิลปินที่มีชื่อเสียงมาขับร้องเพลงจนเป็นภาพคอนเสิร์ตดังที่ปรากฏตามสื่อ ผู้เขียนประทับใจมาก เพราะได้ร่วมฟังร่วมฝึกภาษาไปด้วย จนมีอยู่ครั้งหนึ่งคือ สัปดาห์ที่ 4 ช็อนอินกว็อน นักร้องเพลงเพื่อชีวิตและเพลงประกอบละครชื่อดังของเกาหลีมานำร้องเพลงชาติเกาหลี (애국가) ร่วมกัน นั่นเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้เขียนได้ร่วมร้องเพลงชาติเกาหลีร่วมกับคนเกาหลีครั้งแรกในวาระที่สำคัญของบ้านเมืองเช่นนี้ ก็อดปลื้มใจไม่ได้ทีเดียว

นอกจากนักร้องอาชีพแล้ว กลุ่มญาติของผู้ประสบภัยจะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นพระเอกในแต่ละครั้ง โดยมีอาสาสมัครเข้าไปฝึกการขับร้องประสานเสียง ซึ่งด้านหนึ่งก็คือการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจของผู้สูญเสียไปพร้อมกับการสร้างความตระหนักรู้ของคนในสังคมไปด้วย ที่น่าสนใจคือ ในช่วงแรกของการชุมนุม (ก่อนการลงมติถอดถอนประธานาธิบดีในเดือนธันวาคม) จะมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายขึ้นเวทีปราศรัย โดยเฉพาะนักเรียนจากโรงเรียนทันว็อน (Danwon High School) ในเมืองอันซัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือเซวอลมากที่สุด

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดในช่วงเวลา 20 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตอนต่อไป ผู้เขียนจะเก็บเรื่องราวของฝ่ายผู้สนับสนุนมาเล่าบ้าง พร้อมกับชวนผู้อ่านถอดบทเรียนจากเกาหลีใต้กันนะครับ ก่อนจาก ขอฝากภาพเหตุการณ์จริงจากพยานประวัติศาสตร์คนนี้ไว้ให้ท่านผู้อ่านด้วยครับ

26

27

Choi Kyunghee_04

Choi Kyunghee_09

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image