ไทบ้าน เดอะซีรีส์ โดย ปราปต์ บุนปาน

เปิดปี 2560 มาได้สามเดือน

มีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมจากกระแส “ปากต่อปาก” อย่างเงียบๆ

นั่นก็คือ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”

ถึงแม้หนังเรื่องนี้คงจะมีรายได้ในขั้นสุดท้ายไม่ถึงหลักร้อยหรือพันล้านบาท

Advertisement

ทว่า รายได้รวมที่น่าจะถึงหลักสิบล้าน จากการตั้งต้นเข้าฉายในภาคอีสาน ก่อนจะขยับเข้ามาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง”

ก็นับเป็นผลกำไรอันสวยงาม หากเทียบกับเงินลงทุนเพียง 2 ล้านกว่าบาท

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ “สุรศักดิ์ ป้องศร” คนหนุ่มจากจังหวัดศรีสะเกษ

Advertisement

โดยได้ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” นักธุรกิจใหญ่แถบอีสานใต้ และอดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นนายทุน

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” อาจไม่ใช่นวัตกรรมแปลกใหม่สำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเสียทีเดียว

เพราะก่อนหน้านี้ หนังเรื่อง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” ผลงานของคนทำหนังรุ่นใหม่จากภาคอีสานอีกกลุ่มหนึ่ง ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ “ป่าล้อมเมือง” ทำนองเดียวกันมาแล้ว เมื่อปี 2557

ขณะเดียวกัน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังมีหนังไทยฟอร์มเล็กๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกผลิตขึ้น โดยมีคนดูในระดับภูมิภาคเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” เบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นสำคัญของ “หนังอินดี้อีสาน” ที่เข้ามาตีตลาด “กรุงเทพกรุงไทย” ได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากจะอยู่ที่แรงงานอีสานพลัดถิ่นจำนวนมหาศาลในเมืองหลวง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมสำคัญของหนังเหล่านี้แล้ว

ยังอยู่ที่เนื้อหา ซึ่งมักพูดถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจอิทธิพลจากภายนอก ด้วย “อารมณ์ขัน” (ขณะที่หนังของภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้ อาจเน้นย้ำเรื่องรากเหง้า จิตวิญญาณ วัฒนธรรมของท้องถิ่น)

พื้นที่หลักพื้นที่เดียวในหนัง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” คือ หมู่บ้านชนบทเล็กๆ แห่งหนึ่ง

หมู่บ้านแห่งนี้ถูกเชื่อมโยงด้วยสายสัมพันธ์ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” (และสถานีอนามัย) ที่หลายคนคุ้นเคย

ทว่า ในโครงสร้างเก่าๆ กลับมีองค์ประกอบใหม่ๆ ดำรงอยู่ ทั้งการมีฝรั่งเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน การมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์สื่อสารและบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน การใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและไลน์ คู่ขนานไปกับระบบสื่อสารด้วยเสียงตามสายแบบเดิม

หรือการที่คนรุ่นใหม่ๆ ในหมู่บ้านมีวัฒนธรรมการบริโภคไม่ต่างจากหนุ่มสาวในเมือง (ขาดเพียงกำลังทรัพย์ที่จะเข้าถึงสินค้าจำพวกนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ) การที่พวกเขาครุ่นคิดถึงวิธีการทำนาในแบบใหม่ๆ รวมถึงความใฝ่ฝันที่อยากจะเปิด “เซเว่น อีเลฟเว่น” ในชุมชน

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” เลือกพูดถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ผ่านเสียงหัวเราะมากกว่าความวิตกกังวล

ที่สำคัญ สายสัมพันธ์ความรัก (ซึ่งก่อให้เกิดทั้งเสียงเฮฮาและน้ำตา) ของตัวละครหนุ่มสาวในหนังก็มีมิติชวนให้ขบคิดอยู่พอสมควร

คงมีไม่กี่ครั้ง ที่เราจะได้ดูหนัง-ละคร ซึ่งมีพระเอกเป็นไอ้หนุ่มไทบ้าน จบการศึกษาแค่มัธยม ยังไม่มีงานประจำเป็นหลักแหล่ง แต่สามารถ “ใช้สิทธิเลือกได้” ว่าเขาจะคบหากับใคร

ระหว่าง “คุณครูสาวสวย” กับ “คุณหมอสาวสวย” ที่เป็นตัวแทนของ “คนเมือง” (อาจไม่ใช่คนกรุงเทพฯ) และตัวแทนของ “อำนาจรัฐ” ด้วยกันทั้งคู่

คงมีไม่กี่ครั้ง ที่เราจะได้ดูหนัง-ละคร ซึ่งตัวละครผู้หญิงคนเมือง มีการศึกษา ตัดสินใจแยกทางกับ “นายตำรวจ” อนาคตไกล เพื่อไปคบหากับไอ้หนุ่มไทบ้านข้างต้น

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” อาจกำลังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการปรองดองหรือปรับประสานต่อรองทางวัฒนธรรมบางอย่าง

ที่ดำเนินไปล่วงหน้าก่อนกระบวนการปรองดองทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image