สร้างบ้านแปงเมือง งานบุกเบิก ไม่ใช่ตำรา แต่เสมือนคัมภีร์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไม่ใช่ตำรา แต่คุณค่าเสมือนคัมภีร์ บอกความเป็นมาของผู้คนและบ้านเมืองทั่วทุกภาคในไทย โดยมีบางส่วนต่อเนื่องถึงเพื่อนบ้านด้วย (ขอแนะนำให้รีบซื้อไปอ่าน หรือซื้อไปเก็บก่อนแล้วอ่านทีหลังก็ได้)

คือ หนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560)

เนื้อหาสาระหลักของเล่มนี้ เคยฟังคำบรรยายในห้องเรียนจาก อ.ศรีศักร เป็นอาจารย์ประจำ ตั้งแต่ปีแรกที่ผมเป็นนักเรียนโบราณคดี (ม. ศิลปากร) พ.ศ. 2507 จากนั้น ขรรค์ชัย บุนปาน กับผมเคยฟังนอกห้องเรียน เมื่อติดสอยห้อยตามไปสำรวจแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีเกือบทั่วประเทศ

ยุคนั้นไม่มีนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนทางประวัติศาสตร์โบราณคดี บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ขึ้นเหนือล่องใต้ สำรวจหาหลักฐานอย่างสมบุกสมบัน เพราะถนนหนทางและที่กินอยู่หลับนอนไม่สะดวกปลอดภัย ตลอดจนทุนทรัพย์ไม่อุ่นหนาฝาคั่งอย่างทุกวันนี้ ทุกครั้งต้องอาศัยนอนวัดวาอารามกับโรงเรียนท้องถิ่นตามมีตามเกิด

Advertisement

ครั้งนั้น เมื่อเสนองานวิชาการออกไป ซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานใหม่ที่นักปราชญ์ฝรั่งเศสและอื่นๆ ยังไม่เคยพบ ยังไม่เคยอธิบาย บรรดานักประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยของทางการยุคนั้นจึงรวมกันต้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หัวชนฝาต่องานวิชาการของ อ. ศรีศักร แต่คนพวกนั้นไม่เคยเขียนงานวิชาการที่มีข้อเสนอเหนือกว่าอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หากทำด้วยปากหรือดีแต่พูดกล่าวหานินทาว่าร้ายลับหลัง

นักวิชาการก้าวหน้าหลายคนบอกว่าที่เป็นเช่นนั้นมีเหตุจาก อ. ศรีศักร เป็นผู้เคลื่อนย้าย “อำนาจสถาปนาความจริง” หลุดมือจากโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะแบบอาณานิคม ไปสู่มานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบสากล

หลัง 14 ตุลาคม 2516 เพดานความคิดอันคับแคบทางประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย ถูกระเบิดเปิดเปิงพังทลายไปด้วยงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ส่งผลให้นักวิชาการไทยต่างสาขาพากันทบทวนแล้วพิจารณาใหม่ เกี่ยวกับความเป็นมาของความเป็นไทยและสังคมไทย

Advertisement

งานบุกเบิกของ อ. ศรีศักร ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการนานาชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยเฉพาะญี่ปุ่นขอลิขสิทธิ์งานวิชาการของ อ.ศรีศักร ไปเผยแพร่ทั่วโลกผ่านสื่อสมัยใหม่

นักวิชาการโบราณคดีไทยของทางการ ทั้งในมหาวิทยาลัยและในกรมศิลปากร ที่เคยต่อต้านตั้งแต่แรก ค่อยๆ หรี่เสียงแล้วเงียบไป แล้วเริ่มอ้างอิงงานวิชาการของ อ.ศรีศักร อย่างเงียบๆ แต่หนาตาขึ้น

สร้างบ้านแปงเมือง ชื่อหนังสือเล่มใหม่ของ อ.ศรีศักร ผมเพิ่งอ่านครั้งแรกหลังพิมพ์เสร็จเป็นเล่ม เมื่อต้นมีนาคม 2560 นี้เอง อ่านแล้วก็รู้ว่า ไม่ใช่ตำรา แต่เป็นคัมภีร์ ที่ผมรับใส่สำนึกมาเต็มๆ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน (ตามที่เล่ามา) แล้วใช้เป็นแนวทางในการทำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม รายเดือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 รวมทั้งใช้เป็นแนวทางเขียนของตัวเองจนบัดนี้ถึงบัดหน้า

เพราะผมไม่ฉลาดดังเคยบอกทุกครั้งมาแต่ไหนแต่ไร จึงต้องพึ่งพาอาศัยงานของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นแนว แล้วเกาะติด เพราะถ้าปล่อยมือเมื่อไรตกน้ำจมหายตายหยังเขียด

 

อ่าน ไม่เห็นคนไทย ในประวัติศาสตร์ไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image