อจ.หมอ’มวล.’จ่อออกเพิ่ม หลัง’ไขก๊อก’แล้ว 8 ราย เผยอึดอัด’ฝ่ายบริหาร’ พบเรื่องไม่ชอบมาพากล ปัดเกี่ยว’เงินเดือน’น้อย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ปกครองร้องเรียนว่ามีอาจารย์แพทย์ซึ่งเป็นอาจารย์ทุน จำนวน 8 คน ของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ลาออกไปทำงานที่บริษัทเอกชนซึ่งเกรงว่าจะกระทบต่อการเรียนการสอนของนักศึกษา ซึ่งล่าสุดนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. พร้อมด้วย นพ.ปรัชญะพันธุ์ เพชรช่วย คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มวล. แถลงข่าวระบุว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ละคนมีอายุการทำงานมากกว่า 30 ปี และทุกคนคืนทุนหมด เหตุผลหลักที่ต้องลาออกเนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และการลาออกดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยนั้นว่า ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย อธิการบดีต้องแก้ปัญหา เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ จะมีสถานะเป็นนิติบุคคล หากมีปัญหาการจัดการเรียนการสอน ก็ต้องแก้ไขเอง ไม่ต้องให้มาถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ทุกเรื่อง ส่วนผู้ที่เป็นอาจารย์แพทย์ขอลาออกเพื่อไปทำงานกับบริษัทเอกชน จะถือว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่นั้นคงตอบอะไรไม่ได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องรายงานให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบ ส่วนอาจารย์แพทย์ทั้ง 8 คนที่ลาออกไปทำงานกับบริษัทเอกชนนั้นไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ ทุกคนมีความคิด มีคุณธรรมจริยธรรมของตนเอง

แหล่งข่าวจาก มวล.ระบุว่ากรณีที่นายสมบัติ อธิการบดี มวล.ได้เปิดแถลงข่าวพร้อมเชิญคณาจารย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์กว่า 20 คนมาร่วมด้วย มีกระแสวิจารณ์ว่าสร้างความกดดันให้กับคณาจารย์ที่เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วยรวมทั้งนักศึกษา ซึ่งนอกจากการลาออกของอาจารย์แพทย์ 8 คนแล้วยังมีแนวโน้มว่าอาจจะมีอาจารย์เตรียมจะลาออกอีก จากปัญหาความไม่ชอบมาพากลภายในองค์กร ไม่ใช่เพราะว่าอยากกลับบ้าน เนื่องจากอาจารย์แพทย์เหล่านี้สอนลูกศิษย์มาหลายรุ่น ย่อมทราบดีว่าสามัญสำนึกของความเป็นครูอยู่ตรงไหน แต่ที่ทนไม่ได้เพราะไม่อยากมีปัญหาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องในหลายกรณี อย่างเรื่องที่อาจารย์หลายคนเคยท้วงติงกับวุฒิการศึกษาของหัวหน้าฝ่ายบางคนที่มีวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับวิชาที่สอน แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังนิ่งเฉยไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างรถพยาบาลที่ไม่สามารถท้วงติงอะไรได้สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์แพทย์ลาออก

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. กล่าวว่า ยังยืนยันเหมือนเดิมการลาออกเป็นสิทธิส่วนบุคคลของอาจารย์ ส่วนเรื่องที่กังขาว่ามีการทุจริตก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ ซึ่งได้ตั้งกรรมการสอบสวนก็ไม่มีหลักฐานเป็นเพียงเขาเล่าว่า ทั้งนี้ ตนตั้งใจเข้ามาทำงานและเข้าใจว่ามีหลายส่วนจับตามองอยู่ โดยเฉพาะงบประมาณก่อสร้างศูนย์แพทย์ที่ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 4 งวด ทางผู้รับเหมาก่อสร้างยืนยันว่าศูนย์แพทย์จะสร้างเสร็จในปี 2562 และใช้เวลาตกแต่งภายในอีก 1 ปี จากนั้นกลางปี 2563 จะเปิดให้บริการได้ ส่วนเรื่องสัญญาถมดินที่มีปัญหานั้นเป็นอดีตแล้วไม่ขอพูดถึง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาทางกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจจะดูแลแพทย์และอาจารย์แพทย์ให้ดี จะวางมาตรการในการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ

Advertisement

นพ.ปรัชญะพันธุ์ เพชรช่วย คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มวล. กล่าวว่า นักศึกษาแพทย์ 84 คน เรียกร้องที่จะมาร่วมแถลงข่าวเนื่องจากถูกอ้างว่าเป็นคนให้ข่าว ทุกคนยืนยันว่าไม่ได้ให้ข่าว ลูกของตนทุกคนรู้จักดี รู้ว่าใครอยู่ที่ไหน ผู้ปกครองทำงานอะไร และที่สำคัญครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่ใน 5 จังหวัดใต้เท่านั้น ยืนยันว่าตนไม่ได้กดดันนักศึกษาแต่อย่างใด ส่วนอาจารย์แพทย์ 8 คนที่ลาออกนั้นตนไม่ทราบว่าใครจะมาจ่ายเงินจำนวนเท่าไรและมีการชดใช้ทุนกี่ล้านบาท

“ผมเองก็อยากให้มีใครมาซื้อตัวบ้างก็น่าจะดี เพราะมีค่าตัวเป็นหลักล้าน แต่ผมคงไม่ไปไหน บ้านผมอยู่ใต้ ผมก็ต้องสอนหนังสือที่ภาคใต้ และการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยก็เป็นคนใต้ พูดใต้ได้ทำให้เข้าใจคนใต้ได้และง่ายต่อการรักษา” นพ.ปรัชญะพันธุ์กล่าว

นายเอ (นามสมมุติ) ผู้ปกครองนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งกล่าวว่า ไม่อยากให้อาจารย์มากดดันลูกหลานของตน ส่วนการลาออกของอาจารย์แพทย์เท่าที่ทราบยังมีอาจารย์อีกหลายคนกำลังเตรียมยื่นลาออก ไม่ใช่เพราะได้เงินค่าจ้างน้อย แต่เพราะทนระบบภายในองค์กรไม่ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากอาจารย์ยังมากดดันนักศึกษาจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องการบริหารภายใน นักศึกษาไม่เกี่ยวข้องด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image