ปัญหาของเด็กต้อง’ถาม’เด็ก-กับโครงการ’เด็กและเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคม’ ทางออกเยาวชนไทยยุค’4.0′

ปัญหาด้านเด็กและเยาวชนของเมืองไทยหมักหมมมายาวนาน แม้มีหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนพยายามเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็มีทั้งถูกบ้าง-ผิดบ้าง หนึ่งในเงื่อนปมสำคัญไม่พ้นผู้ใหญ่จะเป็นผู้คิดและตัดสินใจ ขณะเดียวกันเด็กๆ เองแทบไม่มีเวทีให้แสดงออกว่าปัญหาที่ประสบอยู่จริงๆ แล้วคืออะไร และต้องการอะไร หรือกรณีที่เด็กๆ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงออก พยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่หลายครั้งถูกผู้ใหญ่บางส่วนมองในแง่ลบ กระนั้นก็ตามเยาวชนจำนวนไม่น้อยพยายามออกมาส่งเสียงไปถึงผู้ใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพียงแต่ไม่มี ‘เวที’ ให้แสดงออกเท่านั้นเอง

นี่เองจึงเป็นที่มาของโครงการ “เด็กและเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคม” โดยมูลนิธิส่งเสริมเพื่อเด็กและเยาวชน สถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน สามารถออกแบบกระบวนการพัฒนาข้อเสนอและรูปแบบการสื่อสารเพื่อส่งเสียงโดยเด็กและเยาวชนไปสู่การสร้างพลเมืองเข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการสื่อสารทางสังคมแบบมีส่วนร่วม เน้นเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อต่อยอดในการพัฒนากระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะโดยเด็กและเยาวชน และนำไปสู่การบูรณาการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

IMG_7239

น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย. กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า เวลาพูดถึงปัญหาของเด็กและเยาวชน มักจะมีแต่ผู้ใหญ่เป็นคนกล่าวถึงว่าเด็กกลุ่มต่างๆ มีปัญหาอะไรบ้าง เสนองานวิจัยและนำเสนอในเชิงของปัญหามากมาย แต่เราไม่เคยได้ยินว่าเด็กๆ เยาวชนในสังคมที่ถูกกล่าวถึงเขาคิดอย่างไร จึงควรให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะในยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นยุคดิจิทัลที่มีเครื่องมือการเข้าถึงสื่อและใช้สื่ออย่างกว้างขวาง แต่ที่ผ่านมาเราอาจมองว่าเขาใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม แต่จริงๆ แล้วในมิติของการส่งเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เราต้องเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนเขามีพลัง สามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเองได้ สามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน หรือพัฒนาสังคมของเราได้

Advertisement

ผู้จัดการ สสย.กล่าวอีกว่า ถ้าเรามีความเชื่อและมีจุดยืนที่เชื่อในพลังของเด็กและเยาวชน เราจะมองเขาในอีกมิติหนึ่ง เพราะทำงานกับเด็กและเยาวชน อย่ามองว่าเขาเป็นเหยื่อของปัญหา หรือเป็นผู้ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ หรือดูแลจากผู้ใหญ่ จากภาครัฐ แต่เราให้เขามีโอกาส มีเครื่องมือให้ก้าวออกมาด้วยตัวเขาเอง และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมของเขาให้ดีขึ้น

“สื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ มีพื้นที่ มีความภูมิใจในการสื่อสารถึงเรื่องราวและอัตลักษณ์ของเขา ซึ่งสังคมจะต้องรู้จักเขา เรียนรู้จากเขา เพราะมันมีความงดงามของความแตกต่าง ซึ่งเขาสามารถต่อสู้ ฝ่าฟัน และมีความภูมิใจที่สามารถฝ่าฟันปัญหาจนสามารถหลุดพ้นมายืน ณ จุดนี้ได้ และเด็กๆ ควรจะได้เป็นผู้สื่อสารด้วยตัวของเขาเองผ่านสื่อที่มีความเหมาะสมและสร้างสรรค์” น.ส.เข็มพรกล่าว

Advertisement

ในส่วนของเยาวชนอย่างนายฤทธิ์พันธ์ วิจิตรพร อดีตหัวหน้าแก๊งเอราวัณ เชียงใหม่ แก๊งมอเตอร์ไซค์ที่มีสมาชิกกว่า 200 คัน กล่าวว่า ในอดีตเคยผิดพลาดในชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวและตัวเอง เพราะครอบครัวตั้งความหวังไว้สูง อยากให้เรียนหมอ แต่คิดว่าไม่ใช่ทางที่ต้องการ จึงประชดด้วยการไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ ทำให้ช่วง ม.ปลายต้องเปลี่ยนที่เรียนถึง 7 แห่ง และไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่คิดว่าจะให้คำปรึกษาและแนะนำเราได้ ถึงแม้จะเป็นคำแนะนำที่ให้เดินทางผิด แต่ก็เกิดความสบายใจ เข้าไปอยู่ในแก๊งมอเตอร์ไซค์ ต้องพัวพันกับยาเสพติด ทะเลาะวิวาท ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด

“หลังจากที่ใช้ชีวิตไปผิดทางอยู่นานถึง 6 ปี จนวันหนึ่งก็กลับมาคิดว่าเกิดมาทำเรื่องไม่ดีได้อย่างเดียวหรือ ทำไมชีวิตต้องมาเจอกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กไม่มีอนาคต คิดว่าถ้าปล่อยต่อไปอนาคตคงต้องขอทานเขากินแน่ๆ เลยทดลองไปนั่งขอทานที่สะพานลอย ได้เงินมา 25 บาท ไปซื้อข้าวกิน ซึ่งข้าวมื้อนั้นรู้สึกว่าอร่อยที่สุดในชีวิต และได้มีโอกาสอ่านหนังสือธรรมะ จึงตั้งใจว่าลองเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อจะได้มีอนาคตที่ดี” นายฤทธิ์พันธ์กล่าว และว่า ตอนนี้เปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมด เดินหน้าทำงานเพื่อสังคมมากว่า 4 ปีแล้ว ไปเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้น้องๆ รู้ถึงผลเสียของเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เพราะเด็กทุกคนต้องเจอ ไปแนะนำทางที่จะทำให้เขาหลุดพ้นสิ่งเหล่านี้ให้ได้ จนได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่ คนดีศรีเชียงใหม่ และทูตความดีแห่งประเทศไทย จากสมเด็จพระเทพฯ

นายฤทธิ์พันธ์กล่าวต่อว่า ทางแก้ไม่ให้เยาวชนเดินทางผิด คือต้องปลูกฝังค่านิยม และปูพื้นฐานตั้งแต่เด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วความผิดพลาดทั้งหลายนั้นจะโทษเด็กฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะไม่มีใครเกิดมาแล้วจะเป็นคนเลวเลย ต้องเจอสิ่งที่หล่อหลอมเขาให้เป็นคนไม่ดี จากสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเมื่อเด็กทำอะไรผิดพลาดก็จะส่งเด็กไปอบรม แต่ไม่เห็นเอาผู้ใหญ่ที่มีส่วนทำให้เด็กทำผิดพลาดไปอบรมเลย ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต้องเอาผู้ปกครองไปอบรมให้เข้าใจปัญหาของเด็กด้วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะจูนกันไม่ได้ พูดกันไม่เข้าใจ แม้แต่ในครอบครัวก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ภาษาคนยุคพ่อแม่ ถือว่าเป็นคนโบราณสำหรับเด็กยุคใหม่ สื่อสารกันคนละภาษา วัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย พ่อแม่ไม่ยอมปรับให้ทันยุคสมัยก็จะเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกัน จึงอยากให้ผู้ใหญ่ปรับตัวและฟังความเห็นของเด็กด้วย

ด้านนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนจากเผ่าลาหู่ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนต้นกล้า จ.เชียงราย กล่าวในฐานะตัวแทนของ 19 ชนเผ่า ซึ่งปัญหาของเด็กชนเผ่านั้นมีปัญหาหลักๆ อยู่ 4 เรื่อง คือ ด้านการศึกษา สถานะส่วนบุคคล เรื่องการสื่อสาร และด้านความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่เด็กชนเผ่าอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ต้องทำตามที่เขากำหนดอย่างเดียว แต่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา อยากเผยแพร่ ในสิ่งที่เราเป็นและอยากให้เขารับรู้เหมือนกัน

“เรื่องสถานะส่วนบุคคล ต้องยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายแดนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสถานะส่วนบุคคล ผมเองขณะนี้ก็ยังไม่มีสถานะบุคคล ทั้งที่เกิดในประเทศไทย เมื่อไม่มีสัญชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตทางอำเภอ เวลาจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้สิทธิเหมือนคนไทย ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง ส่วนแรงจูงใจในการเรียนสูงๆ ก็ไม่มี เนื่องจากจบมาสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้าทำงานในหน่วยงานของราชการได้ จึงอยากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย” นายชัยภูมิกล่าว
ขณะที่นายอาเมร มามะมูนา หัวหน้าวิชาการโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม อ.ปะนาแระ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่ บางส่วนต้องเป็นเด็กกำพร้าจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับการนำเสนอข่าวเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็มีผลกระทบต่อจิตใจของเด็กๆ เกิดความหวาดระแวงต่อบุคคลภายนอก เพราะการนำเสนอข่าวความรุนแรงทำให้บุคคลภายนอกมองว่าคนในพื้นที่นั้นมีปัญหา

“เมื่อคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่จะเกิดความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าอีกฝ่ายจะมาทำอะไรที่ไม่ดีหรือไม่ ทางออกของเรื่องดังกล่าว อยากให้การนำเสนอข่าวสารนั้นโดยมีความเข้าใจความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และบริบทของคนในพื้นที่เป็นหลัก” นายอาเมร กล่าวในท้ายที่สุด

ทั้งหมดนี้คือ ‘เสียง’ บางส่วนของเยาวชนที่ต้องการสื่อไปถึง ‘ผู้ใหญ่’ ว่า จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร และควรจะร่วมมือกัน หรืออย่างน้อยฟังเสียงของเยาวชนเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image