ชี้ปี2560จ่อทุบสถิติร้อนสุดอีก ขั้วโลกเหนือเจอคลื่นความร้อนแล้ว3ครั้งทั้งที่เป็นฤดูหนาว

REUTERS/David Gray

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มีนาคมระบุว่า สภาพอากาศและภูมิอากาศสุดโต่ง ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนในแถบอาร์กติกหรือพื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในปีนี้ หลังจากปี 2559 ที่ผ่านมาทำสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุด และเกิดปรากฏการณ์ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ดับเบิลยูเอ็มโอเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้เกิดสถิติตัวเลขที่น่าตกใจหลายเรื่องเมื่อปีที่แล้วยังดำเนินต่อไป และดูเหมือนจะไม่ลดความรุนแรงลงเลย

“ตอนนี้เราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน” นายเดวิด คาร์สัน ผู้อำนวยการโครงการวิจัยภูมิอากาศโลก ระบุในรายงาน และว่า แม้จะไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโย ซึ่งมักทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้นทุกๆ 4 หรือ 5 ปี แต่ปี 2560 จะเป็นปีที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั่วทั้งดาวเคราะห์ดวงนี้ที่ท้าทายความเข้าใจเรื่องระบบสภาพอากาศของเรา

รายงานประจำปีของดับเบิลยูเอ็มโอในเรื่องสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลกฉบับนี้ยืนยันตัวเลขที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา โดยเมื่อปีที่แล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอยู่ที่สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 1.1 องศาเซลเซียส (1.98 องศาฟาเรนไฮต์) และสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของปี 2558 อันเป็นปีที่ร้อนที่สุดก่อนหน้านี้ 0.06 องศาเซลเซียส

Advertisement

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่า อุณภูมิเฉลี่ยบนผิวน้ำทะเลทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วยังสูงที่สุด ระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมากด้วย โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น

นายเพตเทอรี ทาอาลัส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอ็มโอระบุว่า จากการที่ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นจนทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นได้ว่า อิทธิพลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบภูมิอากาศเริ่มปรากฏเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าตกใจมากกว่าตัวเลขของปี 2559 คือข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนว่า แนวโน้มทุกอย่างกำลังดำเนินต่อไป โดยดับเบิลยูเอ็มโอระบุเป็นข้อสังเกตว่า ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เกิดคลื่นความร้อนบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยมีพายุจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่พัดเอาอากาศร้อนชื้นเข้ามายังพื้นที่บริเวณดังกล่าวด้วย

Advertisement

“นี่หมายความว่าในช่วงเวลาที่หนาวเย็นที่สุดของฤดูหนาวแถบอาร์กติกซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำในมหาสมุทรจะก่อตัวเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง ยังมีวันที่อุณหภูมิสูงจนใกล้เคียงจุดที่น้ำแข็งหลอมละลาย” รายงานระบุ และว่า นอกจากนี้ระดับน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกบริเวณขั้วโลกใต้ยังเหลือน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย ซึ่งดับเบิลยูเอ็มโอชี้ว่า รายงานแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหมุนเวียนของชั้นบรรยากาศในวงกว้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image