ชวนชมนิทรรศการ The Illumination 2017 นำผลงานของ ‘ในหลวงร.9’ มารังสรรค์เป็น 20 ภาพแรงบันดาลใจ

เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นเพื่อน้อมถวายความอาลัย และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทว่ากลับแตกต่างด้วยวิธีรังสรรค์อย่างน่าสนใจ ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ในคอนเซ็ปท์ “The Illumination ความสว่างที่ส่องแสงนำทาง” จัดโดย เดช เดอะ ลีโอเบอร์เนทท์ กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท สยามสินธร จำกัด ณ อาคารสินธร ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ

โดยนิทรรศการแบ่งเป็น 20 ผลงานภาพ ได้แรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในแง่มุมต่างๆ ที่ยิ่งเห็น ยิ่งศึกษา ยิ่งเกิดปัญญา เสมือนได้เข้าไปค้นพบความสว่าง และแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต โดยภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ทุกภาพใช้วัสดุธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องตามแนวพระราชดำริ ดังนี้

 

Advertisement

 

ภาพเพียร

ภาพวาดจากต้นข้าว ฟางข้าว เมล็ดข้าว โดย ปิติ พงศ์เรขนานนท์, ปณต เที่ยงแช่ม, คัดนานต์ บุณยรังสฤษฏ์ อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า แนวคิดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2504 ว่า

Advertisement

“…ข้าวต้องปลูกไปเรื่อยๆ เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูกต่อไป…” ผลงานนี้จึงเริ่มต้นจากเหตุผลที่ว่า เราทำไม่ได้ ทำไม่เป็น แต่เราต้องเริ่มลงมือทำ เอาข้าวมาทำกระดาษ ตลอดการทำงานชิ้นนี้ เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ เราทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ เราผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เรากลับได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในใจ ผลลัพธ์ของความเพียร เป็นความเพียรพยายามในชั่วเวลาเล็กๆ ที่เทียบไม่ได้เลยกับความเพียรที่พระองค์ทำเพื่อพวกเรามาทั้งชีวิต “ภาพเพียร” นำข้าวไทยสายพันธุ์ต่างๆ มาทำเป็นกระดาษให้เกิดเฉดสีที่ต่างกัน

 

 

เส้นทางเกลือ

ภาพวาดจากเกลือ โดย ภารุจ ดาวราย, นุวดี เกตุเรืองโรจน์, นเรศ ลิมาภรณ์วณิชย์, ศรายุทธ ตั้งพงศ์ศิรประภา อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า เริ่มจากความไม่เข้าใจเรื่องเส้นทางเกลือ ยังคิดว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังแถบอีสาน เพื่อเอาไอโอดีนไปพระราชทานแก่คนที่นั่น แต่พอได้ศึกษาทำความเข้าใจจึงรู้ว่าเป็นการพลิกวิธีคิดผสมไอโอดีนลงในแหล่งผลิตเกลือ แล้วให้เกลือเหล่านั้น เดินทางไปสู่คนทั่วพื้นที่อีสานด้วยตัวเกลือเอง อะไรทำให้พระองค์ท่านทรงคิดได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ อะไรทำให้คนอย่างพวกเรา คิดไม่ได้ บางทีเราคงต้องขยันคิดให้มากกว่านี้ภาพเขียน “เส้นทางเกลือ” นี้ เป็นการนำเม็ดเกลือจากจังหวัดสมุทรสาคร แหล่งผลิตเกลือต้นทางของประเทศ มาใช้เทคนิคการเกลี่ยบนกระดาษสีน้ำทะเล ให้ภาพฟองคลื่นที่ยิ่งใหญ่ อันหมายถึงพลังความคิดที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์

 

 

สัมผัส

ภาพวาดจากสีของผลส้ม ทำขึ้นโดย สิริน วรรณวลี, ณธีพัฒน์ จาตุรนต์รัศมี, ปิติ พงศ์เรขนานนท์, สกลวัฒน์ ภู่ประเสริฐ อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า เกิดจากในค่ำคืนหนึ่ง หลังความโศกเศร้าอย่างที่สุด ผมเปิดทีวีทิ้งไว้อย่างว่างเปล่า เพียงเพื่อให้เวลาผ่านไป ในทีวีฉายเรื่องพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระองค์ท่าน แต่เรื่องที่ทำให้ผมสะดุด และต้องหันมาครุ่นคิด คือพระเมตตาของพระองค์ท่านที่มีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน ในวันที่ผู้ป่วยโรคเรื้อนอยู่ในหลืบที่ต่ำสุดของสังคม ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและเป็นที่รังเกียจจากคนอื่น แม้แต่ถูกขับไล่…ถูกส่งไปอยู่ในนิคมโรคเรื้อน สถานที่แม้แต่ชาวบ้านที่มีพื้นที่ติดกัน ยังไม่ยอมให้ถนนตัดผ่านด้วยความรังเกียจ

พระองค์เสด็จไปยังนิคมโรคเรื้อน ท่ามกลางคำทัดทานของข้าราชบริพาร ส้มจากนิคมโรคเรื้อนแพร่งขาหยั่ง ส้มที่ไม่เคยมีใครกล้ากิน ส้มที่ทุกคนเคยรังเกียจ เมื่อรู้ที่มา ถูกคั้นและระบายออกมา จำลองเหตุการณ์ที่แสงสว่างสาดส่อง ลงมายังจุดที่ต่ำสุดในวันนั้นอย่างเท่าเทียม สิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ เปลี่ยนมุมมองในการมองผู้คนของผม เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง พนักงานในห้าง แม่ค้าในตลาด แม่ค้าข้าวแกง เด็กเสิร์ฟ แท็กซี่ คนขับมอเตอร์ไซค์ คนขายพวงมาลัย ทุกคนล้วนเท่ากัน เราไม่ได้ดีกว่า หรือเหนือกว่าใครเลย พระองค์ท่านทรงแสดงออกให้เราเห็นถึงความเกื้อกูลกัน ความเมตตาต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยแท้จริง

 

 

ร่มเงาแห่งความเพียร

ผลงานที่ทำมาจากการทับสีของพันธุ์ไม้ที่ทรงปลูกในสถานที่ต่างๆ โดย เธียรจุฑาณ์ รุกขวิบูลย์, กนกพร ศิริเสรี, ศิริวรรณ อนันต์ณัฐศิริ, ธนพงษ์ องอาจโยธิน, ปรีดี อัศวพานิชพันธ์ , เอกวิทย์ เชพานุเคราะห์, เมศิกานต์ ศรศรีวิวัฒน์, นิธิธัช หิรัณยปรีชากุล, วิลาวัณย์ สงวนวงษ์, ประธาน อุดมทรัพย์วงศ์ อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า ต้นไม้ของ “พ่อ” มีอยู่ที่ไหนบ้าง? ตอนเริ่มทำงานชิ้นนี้ นี่คือคำถามแรกที่เราอยากรู้คำตอบ แค่เปิดมือถือ เข้ากูเกิ้ล ก็รู้คำตอบในเสี้ยววินาที เร็วจนไม่ทันรู้สึกว่าต้องรออะไร แต่ในคำถามเดียวกัน มันบอกอะไรบางอย่างที่ทำให้เราฉุกคิดมากกว่าต้นไม้ใหญ่ของ “พ่อ” ที่ผ่านเวลาจนแตกกิ่งก้าน ให้ร่มเงากับทุกสิ่ง ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในร่มเงานั้น

เราเห็นความเพียรของพระองค์ที่ทรงใช้เวลาหลายสิบปีกับการปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ใด ร่มเงาที่ถึงจะใช้เวลา แต่มันก็เห็นผล ย้อนกลับมาดูตัวเอง หลายสิ่งง่ายและเร็วจนน่ากลัว เร็วจนบางครั้งก็รอไม่เป็น เร่งรีบจนลืมไปว่า ทุกสิ่งล้วนมีเวลาของตัวเองสำหรับความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงต้นไม้ แต่ยังหมายถึงชีวิต อย่าได้กลัวล้มเหลว ถ้ามีความเพียรพยายาม อย่าได้กลัวว่าจะช้ากว่าใคร ถ้าอดทนรออย่างแน่วแน่ในจุดหมาย ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง งานภาพ “ร่มเงาแห่งความเพียร” ชิ้นนี้ จึงอยากสะท้อนแนวคิดของสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ด้วยการบรรจงวางชิ้นส่วนเล็กๆ จากดอกไม้

ใบไม้

ผลงานที่ทำมาจากต้นไม้พันธุ์เดียวกับที่พระองค์ทรงปลูก ร้อยเรียงทีละชิ้นๆ ใช้เวลาในการทับให้สีจากธรรมชาติเกิดเป็นภาพของพระองค์ ผู้ทรงมีความเพียรจนถึงความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าไว้แข็งแรงจากข้างใน ภาพวาดด้วยน้ำนมจิตรลดา กลิ่นสละ ทำขึ้นโดย วรรณา ตันตราภิรมย์, ปัญญาภรณ์ ศรีปทุมวราภรณ์, อิทธิกร วงศ์ศรีศุภกุล อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า

เพิ่งรู้ว่านมเป็นของกินเล่นได้ แล้วก็อร่อยมากด้วย ก็ตอนได้กินนมอัดเม็ดสวนดุสิตครั้งแรก นมแสนอร่อยที่ถูกปากลูกเด็กเล็กแดง ไม่เว้นผู้ใหญ่อย่างเรา และยังอร่อยไกลไปถึงเมืองนอกเมืองนา ใครต่อใครต่างก็เรียกหา แต่ทำไมถึงไม่ยอมผลิตเพิ่มทั้งๆ ที่มีความพร้อม? ก็เพราะพระราชประสงค์ที่แท้จริงของในหลวงนั้นไม่ต้องการทำเพื่อหวังผลกำไร แต่ทรงทำโรงนมให้เป็นตัวอย่าง สร้างอาชีพให้เกษตรกรโคนมไทยแข็งแรง และยืนบนขาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ทุกครั้งที่ได้กินนมเม็ดเล็กๆ นี้ จึงอิ่มไปถึงหัวใจ เพราะได้รู้ว่าไม่ใช่แค่เราที่แข็งแรงอยู่คนเดียว

 

 

ทรงทำ

ผลงานที่นำสีของดิน ส่วนหนึ่งใช้ดินจากโครงการชั่งหัวมัน โดย สราวุฒิ องค์ไชย, อนุชา จิรอมรพงศ์, นวพล นวลแจ่ม, เชิดศักดิ์ สิทธินันทวัฒน์ อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า ทำไม่ได้ หมดหวัง เป็นไปไม่ได้ ยังไม่พร้อม ไม่มีใครช่วย อย่าไปทำเลย สารพัดข้ออ้างที่มักเกิดขึ้นในความคิดของเราเมื่อเริ่มต้นจะทำอะไรยากๆ สักอย่าง แต่ท่านทรงทำให้เราเห็น เริ่มต้นจาก…ไม่มีอะไรเลย…โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เริ่มจากทรงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีดินไม่ดี แห้งแล้ง ติดปัญหาเรื่องน้ำ เพื่อที่จะทรงทำให้เห็นว่า ทำได้ ทรงทำผืนดินที่นี่ให้เป็นแม่บทในการทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตร เพียงเวลาไม่นานด้วยความร่วมมือร่วมแรงของชาวบ้าน ในที่สุดดินที่ว่าไม่ดี ก็เต็มไปด้วย พริก มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวไร่ ข้าวโพด สารพัด ที่ทั้งพอกินและเหลือขาย เมื่อได้อ่าน ได้ไปดูโครงการชั่งหัวมันจริงๆ ได้เกิดความรู้สึกทึ่งในพระองค์ท่าน ทำให้ได้ย้อนกลับมาถามตัวเอง ก่อนจะพูดว่า ทำไม่ได้ เราลองทำแล้วหรือยัง

ค่าของแกลบ 

ผลงานภาพวาดจากแกลบเผา โดย สิริน วรรณวลี, นพวรรณ เงินพุ่ม, วิธาร พิมพา อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า ใครจะคิดว่า “แกลบ” เปลือกข้าวที่ไร้ราคาจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานมูลค่ามหาศาลได้ แต่พระองค์ทรงคิด…และมีพระราชดำริให้นำแกลบที่เหลือจากโรงสีข้าวในวังสวนจิตรลดา มาผลิตเป็นถ่านแกลบอัดแท่ง กลายเป็นพลังงานทดแทนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สำหรับเรา พระองค์จึงไม่ได้ทรงสร้างเพียงพลังงานทดแทน แต่ยังทรงนำทางให้เห็นว่า…ไม่มีสิ่งใดไร้ค่าในสายตาพระองค์ท่าน พระองค์ทรงใช้ทุกสิ่งอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น ดินสอที่ทรงใช้จนกุดสั้น หลอดยาสีพระทนต์ที่ลีบแบน หรือแม้แต่ ฉลองพระบาทที่ทรงส่งซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นทำให้เราต้องย้อนกลับมามองว่า…แล้วเราล่ะ ใช้สิ่งของทุกอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยังภาพ “ค่าของแกลบ” เป็นการนำถ่านแกลบอัดแท่งมาบดละเอียด ใช้แทนสี ผสมน้ำแล้ววาด

รสชาติของความสุข

ผลงานภาพวาดจากสีของผลไม้ จากร้านของโครงการหลวง โดย สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ, สกลวัฒน์ ภู่ประเสริฐ, พงศธร แซ่โล้, กนกวรรณ ชนาธิปกุล อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า เราเชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้จัก โครงการหลวง โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงช่วยเหลือชาวเขาที่ยากจน ให้เลิกปลูกฝิ่น ด้วยการหาพันธุ์ผักผลไม้เมืองหนาว มาให้ปลูกทดแทน ถึงเรื่องนี้จะเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่เรายังคงได้เห็นพระเมตตาของพระองค์ออกดอก ออกผล อยู่บนยอดดอย สำหรับพวกเรา ทุกครั้งที่กินผักผลไม้ของโครงการหลวง คือความสุขที่ได้รู้ว่า คนที่ปลูกอยู่บนยอดดอยก็มีความสุข แล้วยิ่งสุขไปกว่า ที่รู้สึกว่าได้สืบสานปณิธานของพระองค์

 

 

ปัญหายากแก้ง่าย

ผลงานภาพวาดจากหญ้าแฝก โดย อริยวรรต จันทราทิพย์, ศรุติ ยั่งเจริญ, วรางค์รัตน์ รัตนบำรุง, นรารัตน์ โอภาสประยูร, ปิยะวัฒน์ ไชยบูรณ์ภัทรกุล, ภทรอร พูลสวัสดิ์ อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า หากท้อในการแก้ปัญหาให้ลองมองไปที่ “หญ้าแฝก” ต้นหญ้าที่หลายคนคงเคยได้ยินผ่านหู ว่ามันดี มันช่วยดินได้ แต่หากลองมองให้ลึกลงไป หญ้าแฝกคือตัวอย่างของการแก้ปัญหาที่ง่ายมาก “อะไรที่ทำให้พระองค์ท่าน ทรงแก้ปัญหายากๆ ด้วยวิธีที่ง่ายขนาดนี้” ปัญหาใหญ่ขนาดดินทั้งผืน ที่ดินเสื่อมโทรม ดินถล่ม น้ำท่วม ยังแก้ได้แค่ปลูกหญ้า ไม่ต้องใช้เงินมหาศาล ไม่ต้องขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือจริงๆ แล้ววิธีการแก้ของทุกปัญหา ไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก แต่ควรจะง่ายเท่าหญ้าแฝกนี่ล่ะภาพสีน้ำ “ปัญหายากแก้ง่าย” นี้

โดยเราได้ใช้ทุกส่วนของใบหญ้าแฝก จากโครงการในพระราชดำริ อ.เขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี โดยเราสกัดสีจากใบหญ้า แล้วใช้รากและใบเป็นพู่กันในการวาด

 

 

ขุนเขา

ภาพวาดจากเมล็ดกาแฟ โดย ชาญยุทธ บุณยเกตุ, สกล คณาวุฒิกานต์, จุฑามาศ อุดมลาภสกุล, จักรพงศ์ เกิดทองคำ, พนัส จั่นสังข์ อธิบายถึงแนวคิดของภาพว่า พระองค์เคยมีพระราชกระแสรับสั่งให้ชาวเขาที่นิยมปลูกฝิ่นหันมาปลูกกาแฟ ต่อมาเมื่อครั้งพระองค์เสด็จเยี่ยมเยือนชาวเขา ทรงทราบว่ากาแฟที่ชาวเขานำไปปลูก เหลือรอดเพียงต้นเดียว แต่พระองค์ก็ไม่ทรงหมดหวัง หรือย่อท้อ กลับมองว่าเป็นความก้าวหน้าของชาวเขา จึงเสด็จขึ้นเขาด้วยพระบาท กว่า 6 ชั่วโมง เพื่อไปทอดพระเนตรกาแฟต้นนั้นด้วยพระองค์เอง และให้คำแนะนำวิธีการดูแล พร้อมพระราชทานเมล็ดกาแฟ ให้ชาวเขานำไปปลูกต่อไป หลังจากนั้นกาแฟก็กลายเป็นผลผลิตหลัก ที่ทำให้ชาวเขามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่งคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าเป็นเรา ก็คงตัดใจไปตั้งแต่กาแฟเหลือแค่ต้นเดียวแล้ว…แต่พระองค์ไม่ บางทีถ้าเรามุ่งมั่น ทุ่มเท และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ได้สักเสี้ยวหนึ่งของพระองค์ ชีวิตของเราคงจะดีขึ้นไม่น้อย ภาพ “ขุนเขา” เป็นการนำเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวง มาวาดด้วยเทคนิคสีน้ำ และโรยด้วยผงกาแฟ ให้เป็นขุนเขามากมายที่สลับซับซ้อน สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคของพระองค์ ที่ไม่เคยทรงย่อท้อ

 

แข็งแรงจากข้างใน วาดจากนมจิตรลดา ตัวอย่างการเริ่มต้นทำงานโดยที่ไม่หวังสิ่งใด แต่กาลเวลากลับให้ผลตอบแทนเกินคุ้มค่า

 

สนใจเข้าชมฟรีระหว่างวันที่ 16 มีนาคม – 16 พฤษภาคม ณ ลานกิจกรรม อาคารสินธร ทาวเวอร์ ถนนวิทยุ

 

 


 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image