น่านปลื้ม “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ชมซ่อมแหล่งน้ำ 663 โครงการ เดินหน้าพัฒนาอาชีพ-ตลาดครบวงจร

วันที่ 27 มีนาคม ที่ห้องประชุมเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ศาลากลางจังหวัดน่าน นายพิภัช ประจันเขตต์ ปลัดจังหวัดน่าน เป็นประธานประชุมโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง เสริมฝาย อ่างเก็บน้ำ การส่งน้ำด้วยระบบท่อ ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนา ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท จ.น่าน โดยมีปลัดฝ่ายปกครองอำเภอต่าง ผู้แทนป่าไม้ องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วม โดยนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะที่ปรึกษาร่วมชี้แจง ถึงความเป็นมาของโครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว 663 โครงการเมื่อปี 2557 – 2558 ที่ผ่านมา

 

การประชุมครั้งนี้ เป็นการต่อยอดตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ในแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการ ขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการใหม่ปี 2560 นี้จะใช้งบประมาณและแนวทางเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มดำเนินการพื้นที่นอกเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่โครงการของปิดทองหลังพระฯ ภายในวันที่ 7 เมษายนนี้ ในโอกาสที่รัฐบาลให้ จ.น่าน เป็นต้นแบบพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Advertisement

นายจำเริญ กล่าวว่า จ.น่านเป็นต้นกำเนิดหรือต้นแบบของปิดทองหลังพระฯ จึงใช้รูปแบบของน่านไปพัฒนาแหล่งน้ำที่ จ.อุดรธานี ภาคใต้ที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และอีกหลายจังหวัด โดยกรอบวงเงินทำโครงการนี้มาได้ 200 ล้านบาท ทำไป 663 โครงการ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.07 แสนไร่ ใช้งบประมาณไปเพียง 133 ล้านบาท จึงเหลืออยู่ 67 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.นายประวิทย์ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเคยมาดูพื้นที่แล้วชื่นชม ขณะที่ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานสถาบันปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับแต่งตั้งจากพล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้เป็นกรรมการดังกล่าวและรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฟังในที่ประชุมแล้วมาตรวจเยี่ยม ชื่นชมการซ่อมแซมของหลวงให้กลับมาใช้งานได้ ทำในเวลารวดเร็วมาก จึงสั่งให้ทั่วประเทศทำแนวนี้ และปัจจุบันโครงการเหล่านี้ได้ปรับไปเป็นของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ที่ 1 แต่จากการที่เราดูแลจ.น่านมาตลอด หากไปขอโครงการตามขั้นตอนจะล่าช้า ผู้ใหญ่ปิดทองฯ จึงตั้งงบประมาณหาวัสดุอุปกรณ์มาให้เอง ชาวบ้านสละแรงงาน และตอบโจทย์สำคัญคือโครงการไหนถ้าไม่มีผลประโยชน์คุ้มค่า เราไม่ทำ เมื่อได้น้ำแล้วจะตั้งกลุ่มบริหารจัดการอย่างไร เพื่อใช้ดูแลรักษาระบบน้ำ เช่น จ.อุดรธานี ติดมิเตอร์เก็บค่าน้ำคิวละ 1 บาท

 

“ล่าสุด วันที่ 23 ธันวาคม 2559 นายกรัฐมนตรี และคณะมาตรวจเยี่ยมที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนำเสนองานให้รับทราบ และสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านทำทั้งจังหวัดเลย จึงนัดม.ร.ว.ดิศนัดดามาคุยกันอีกหลายรอบ เคลียร์ทุกเรื่องและพื้นที่เพื่อคิกออฟ โดยโครงการที่อยู่นอกหรือไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติทำและอนุมัติได้เลย ไปถามกรมชลประทาน 21 โครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ยังไม่ได้ต่อน้ำให้ชุมชนได้ใช้ ส่วนที่อยู่ในเขตป่าต้องร่วมกับกรมป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ ให้หัวหน้าหน่วยป่าไม้แต่ละพื้นที่เป็นผู้เสนอโครงการ คุยกับอธิบดีแล้วไม่มีปัญหา ใช้กฎหมายหรือตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายจำเริญกล่าวและว่า จึงเป็นโครงการที่หาน้ำให้คนน่านได้มีใช้เพราะน้ำคือสิ่งมีชีวิต ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งใน 663 โครงการที่ผ่านมา 1 ปี สำรวจพบยังใช้งานได้ดี 605 โครงการ เหลืออีก 58 โครงการต้องซ่อมแซมตามยุทธศาสตร์ สำหรับที่จะต่อยอดหรือของใหม่ไม่ซ้ำโครงการเดิม เช่นวางท่อน้ำเพิ่มจากโครงการเดิม และมีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ถือเป็นโครงการใหม่อยู่ในพื้นที่เดิม จะมีอยู่ 140 โครงการ หลังจากนั้นอยากให้สำรวจข้อมูลว่าพื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำต่างๆนั้น นำไปทำอะไรบ้าง ขาดเหลืออะไรปิดทองหลังพระฯจะประสานบูรณาการลงไป

Advertisement

รายงานข่าวกล่าวว่า จ.น่านได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตรมาต่อยอดขยายผล โครงการซ่อมแซมปรับปรุงแหล่งน้ำ ส่งเสริมอาชีพและการตลาด 470 โครงการ ด้วยนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ 34 แปลง 11 ชนิดพืช เกษตรกร 30 ราย เช่น ลำไย ข้าว เกษตรจังหวัดเป็นเลขานุการ ต้องการให้เน้นหาตลาดก่อนจะส่งเสริมการปลูก รวมถึงร่วมมือกับเอกชนโครงการเกษตรอินทรีย์ ขณะที่นายธนากร รัชตานนท์ ผู้จัดการอาวุโสปิดทองหลังพระฯ ชี้แจงล่าสุดผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือสยามแม็คโคร พร้อมยินดีจะมาถ่ายทอดการบรรจุภัณฑ์และทำคุณภาพสินค้า ในพื้นที่โครงการซ่อมแซมเหมืองฝายดังกล่าว เพราะพืชสดหรือผักผลไม้ที่ตลาดต้องการ ยังมีอีกหลาย 100 ชนิดให้เลือกปลูก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ผูกขาด ถ้าเกษตรกรมีตลาดอื่นที่ได้ดีกว่าก็สามารถขายให้รายอื่นได้ มีตัวอย่างครบวงจรจากกลุ่มมะนาวบ้านยอด อ.สองแคว จ.น่านก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาส่งเสริมความรู้ เกี่ยวกับบริหารการเงินของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image