คอลัมน์ไฮไลต์โลก: บทวิพากษ์เลกกิ้งในสังคมอเมริกัน

ภาพเอเอฟพี

ถูกวิจารณ์อื้ออึงในโลกออนไลน์ กรณี ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส สายการบินชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ห้ามเด็กผู้หญิง 2 คนขึ้นเครื่องบิน เหตุเพราะเด็กใส่เลกกิ้งหรือกางเกงที่มีลักษณะแนบเนื้อ ส่วนเด็กผู้หญิงอีกคนที่เจอมาตรการเดียวกัน ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องหลังจากเธอยอมเปลี่ยนไปนุ่งอย่างอื่นแทนเลกกิ้ง

หลังตกเป็นเป้าโดนถล่มหนัก ทางสายการบินก็ออกมาชี้แจงว่า เหตุที่เด็กหญิงทั้ง 2 คนถูกห้ามขึ้นเครื่อง เพราะพวกเธอต้องปฏิบัติตามระเบียบด้านการแต่งกายของทางสายการบิน เนื่องจากเด็กหญิงทั้งสองคนนี้เป็นผู้โดยสารที่ใช้สิทธิพิเศษของพนักงานหรือญาติของพนักงานในสายการบินนี้ที่จะได้รับบัตรโดยสารฟรีหรือในราคาพิเศษ ดังนั้นพวกเธอจะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เหมาะสมของบริษัท ซึ่งจะไม่มีผลปฏิบัติต่อผู้โดยสารโดยทั่วไป

ย้อนไปดูระเบียบการแต่งกายของสายการบินนี้ที่ใช้กับพนักงานและญาติของพนักงาน ซึ่งใช้สิทธิโดยสารฟรี มีข้อกำหนดหนึ่งที่ห้ามสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปที่เนื้อผ้าทำจากไลคราหรือสแปนเด็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง หรือชุดเดรส

ฮีเธอร์ พูล พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและผู้เขียนกฎเหล็กของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่า ทางสายการบินมีระเบียบการแต่งกายของพนักงานที่จะใช้สิทธิโดยสารฟรีอยู่แล้ว ในฐานะที่พวกเขาถือเป็นตัวแทนบริษัท “ผู้ชายก็มีระเบียบเรื่องการแต่งกาย แต่นี่เป็นเรื่องของการใส่อะไรที่มันลำลองเกินไป เราไม่สามารถให้คีบรองเท้าแตะหรือนุ่งสั้นได้”

Advertisement

กรณีนี้ไม่ได้เป็นประเด็นโต้เถียงใหม่อะไรในสังคมอเมริกัน หากแต่มีการถกเถียงกันมาหลายครั้งแล้ว ที่ฟากหนึ่งบอกว่า เลกกิ้ง เป็นทางเลือกที่ใส่สบายมากกว่ากางเกงยีนส์ แต่อีกฟากมองว่ามันรัดรูป ไม่เหมาะสม และดูอนาจารเสียมากกว่า

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว อลัน ซอร์เรนติโน หนุ่มชาวรัฐโรดไอส์แลนด์ เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง เรียกร้องให้ผู้หญิงที่อายุเลย 20 ปีไปแล้ว เลิกใส่เลกกิ้งหรือการเกงโยคะ โดยหนุ่มซอร์เรนติโนบอกว่า มันเหมือนมินิสเกิร์ต ที่เด็กๆ หรือสาวๆวัยขบเผาะใส่ก็ดูน่ารัก แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ใส่มันดูประหลาดและรบกวนสายตาผู้อื่นในที่สาธารณะมากกว่า

เสียงเรียกร้องของซอร์เรนติโนจุดกระแสประท้วงขึ้นตามมาในทันที โดยมีผู้หญิงหลายร้อยคนในทุกช่วงวัยรวมตัวกันใส่เลกกิ้งออกมาเดินประท้วงไปทั่วเมืองบาร์ริงตัน ในรัฐโรดไอส์แลนด์

Advertisement

เจมี บี หนึ่งในผู้ร่วมจัดประท้วงดังกล่าว บอกกับบีบีซีว่า ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับเลกกิ้งหรือกางเกงโยคะ แต่ตัวเธอและผู้คนอีกจำนวนมากมองว่าเป็นเรื่องของหลักการ ที่ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมคนเราจะต้องมาบอกคนอื่นว่าควรจะแต่งตัวอย่างไร?

อีกกรณีเป็นข้อถกเถียงถึงการใส่เลกกิ้งในหลายโรงเรียนของสหรัฐ เช่นในโรงเรียนเลกวูด ซิตี รัฐโอไฮโอ ที่เมื่อปีที่แล้ว มีเสียงเรียกร้องให้ทบทวนระเบียบการแต่งกายของทางโรงเรียน ที่เด็กๆมองว่าล้าสมัยและเป็นการกีดกันทางเพศ โดยมีกฎห้ามใส่เลกกิ้งหรือกางเกงโยคะ แต่จะอนุโลมให้ใส่ได้ก็ต่อเมื่อเด็กสวมเสื้อยาวปิดคลุมสะโพก

ในปี 2015 นักศึกษาในวิทยาลัยเคปคอด เทคนิคคอล ในรัฐแมสซาชูเซตส์ วางแผนประท้วงระเบียบการแต่งกายที่ห้ามใส่กางเกงโยคะหรือเลกกิ้งโดยไม่สวมกระโปรงหรือกางเกงขาสั้นทับ แต่ก็ถูกฝ่ายบริหารของโรงเรียนโต้แย้งกลับว่ากฎระเบียบที่มีก็เพื่อเป็นการทำให้นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมตัวเองในการก้าวสู่โลกของการทำงาน ที่พนักงานจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม

ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร เชื่อว่า กาละเทศะและความเหมาะสมกับสถานที่ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงถึง ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image