แพร่จัดประกวด อนุรักษ์ควายล้านนา ส่งเสริมเลี้ยงควายไทย

วันที่ 30 มีนาคม นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.แพร่ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมควายไทยล้านนา ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2560” ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ เฉลิมพระเกียรติ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งมีผู้เลี้ยงควายในภาคเหนือและภาคต่างๆ ส่งควายไทยเข้าประกวดและโชว์ในงานมากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมปศุสัตว์ สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย เกษตรกรเครือข่ายสนใจเลี้ยงควายในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดงานอนุรักษ์ มหกรรมควายไทยล้านนา ครั้งที่ 2 มีการประกาดควายประเภทต่างๆ ตั้งแต่ลูกควาย แม่ควาย และ ควายเพศผู้ ซึ่งมีการแบ่งประเภทควายไทยล้านนา เป็นสายเลือดท้องถิ่นจริงๆ รวมทั้งประเภททั่วไปคือการเปิดให้มีการประกวดควายที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยที่มีร่างกายขนาดใหญ่ เป็นการพัฒนาสายเลือดที่เป็นเอกลักษณ์ควายไทย โดยไม่มีสายเลือดควายต่างประเทศมาปะปน ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงควายไทย จากทั่วประเทศส่งเข้ามาประกวดและโชว์นับ 1,000 ตัว ในจำนวนนี้ควายที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มีมูลค่าตัวละนับ 1,000,000 บาทขึ้นไป

นายวัฒนา กล่าวว่า จ.แพร่มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์พันธุ์ควายของภาคเหนือเนื่องจากมีเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านแม่ทราย อ.ร้องกวางจ.แพร่ และเกษตรกรในอำเภอต่างๆ ก็นิยมเลี้ยงด้วยเช่นกันรวมทั้งชาวแพร่ยังนิยมบริโภคเนื้อควายมากกว่าเนื้อวัว ซึ่งจังหวัดพร้อมที่จะสนับสนุนให้ด้านบุคลากรและงบประมาณทำให้จังหวัดแพร่เป็นแหล่งอนุรักษ์ควายไทยล้านนาต่อไป

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ควายไทยนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงกันมานานในอดีต แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงจนไม่เพียงพอในตลาดบริโภค ซึ่งควายไทยนับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีสายพันธุ์ดีกว่าที่อื่นๆ ของโลก แต่นักปศุสัตว์ไทยในอดีตให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศมากกว่า ปัจจุบันควายไทยได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่ตลาดต้องการสูงด้วยคุณสมบัติที่ดีของเนื้อและควายยังสามารถนำไปใช้งานได้ด้วย ในฐานะของสภาเกษตรกร ต้องบอกว่าควายไทยเป็นสัตว์เศรษฐกิจดั้งเดิมนานมาก เป็นสัตว์ที่คนไทยคุ้นเคย บริโภคง่ายเลี้ยงง่าย และที่สำคัญเป็นพันธุกรรมท้องถิ่นที่ดี ซึ่งอนาคตควายจะสามารถสร้างเศรษฐกิจได้เนื่องจากในจีนและเวียดนามให้ความสนใจนำเข้าควายไทยเป็นจำนวนมาก จนไม่เพียงพอในปัจจุบัน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้สำคัญมากที่จะต้องส่งเสริมการเลี้ยงควายให้อยู่กับสังคมไทยต่อไปและพัฒนาให้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการพัฒนาเป็นนวัตกรรมของชาติเพื่อการสร้างเศรษฐกิจใหม่ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image