แผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 เชื่อมโยงโครงข่าย ขยายเมืองสู่ปริมณฑล

 

นับตั้งแต่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะ 20 ปี ระหว่าง พ.ศ.2553-2572 หรือ M-MAP เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางของหน่วยงานต่างๆ กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันการเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้ามีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้วทั้งหมด 5 สายทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-แบริ่ง รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ประกอบด้วยสถานีที่ให้บริการทั้งสิ้น 77 สถานี ระยะทางรวม 107.8 กิโลเมตร และอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก 5 สายทาง

ในปี 2560 นี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ให้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 สายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จะเร่งดำเนินการให้ประกวดราคาได้ภายในปีนี้เช่นกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของประชาชน การขยายตัวของภาคธุรกิจ และการพัฒนาเมืองที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาตามแผน M-MAP และเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ศูนย์กลางเมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ต้องมีการวางแผนการพัฒนาก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 เพื่อเป็นโครงข่ายระบบรอง (Feeder) กับรถไฟฟ้าสายหลักทั้ง 10 เส้นทาง และเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางไปรอบทิศทางของกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับรองรับการเดินทางของประชาชนจากพื้นที่ย่อยโดยรอบสู่ศูนย์กลางเมืองเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดการใช้ประโยชน์โครงข่ายระบบรางสายหลักให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

กระทรวงคมนาคมได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า เพื่อศึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าในการลงทุน

โดยเบื้องต้นในแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 ได้กำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนาและบูรณาการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครเชื่อมจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดในภูมิภาคประกอบด้วยการใช้รถไฟฟ้าในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้วัสดุในประเทศและการพัฒนาบุคลากร ลดต้นทุนในการลงทุนระบบ และการเป็นรถไฟฟ้าเพื่อคนทุกกลุ่มที่จะรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวก รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองบริวารต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเติบโตของเมือง โดยบูรณาการร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

Advertisement

สำหรับแนวทางการศึกษาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย

1.ทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการ ตามแผนแม่บทการขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งประสานแผนงาน ความก้าวหน้า การดำเนินงานของแต่ละโครงการในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ และทบทวนความเหมาะสมของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง และรูปแบบการพัฒนา โครงการที่ได้กำหนดไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง

2.วิเคราะห์โครงข่ายคมนาคมและความต้องการเดินทางในเขตเมือง พร้อมวางแนวคิดการเชื่อมโยงและบูรณาการระบบขนส่งสาธารณะและการพัฒนาเมือง

3.วางกรอบแนวคิด และจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2

4.ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชน

ในส่วนของแผนการดำเนินงาน มีขั้นตอนและกรอบระยะเวลา ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นจะดำเนินการวางกรอบแนวคิด ในช่วงเดือนเมษายน 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้ได้ M-MAP 2 Concept Design พร้อมทั้งดำเนินการวิเคราะห์ความต้องการในการเดินทาง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนเมษายน 2561 จากนั้นจะดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมของสายทางและการเชื่อมโยงพื้นที่ รวมทั้งพิจารณานโยบายของระบบรางและขนส่งมวลชน เพื่อจัดทำแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 ถึงเดือนธันวาคม 2562 และนำเสนอขออนุมัติแผนแม่บท ได้ภายในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 จะเน้นไปที่โครงข่ายย่อยเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด และการออกแบบโครงข่ายที่คำนึงถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่สถานี ให้เกิดการเชื่อมต่อเข้าถึงพื้นที่ธุรกิจ ย่านการค้า อีกทั้งยังให้ความสำคัญในเรื่องการวางแผนเมืองหรือสร้างเมืองใหม่ ควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างเมืองไปพร้อมกับระบบรถไฟด้วย

นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะได้เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการให้บริการของโครงข่ายรถไฟฟ้า สนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ลดปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากบริเวณชานเมืองเข้ามายังพื้นที่ใจกลางเมือง และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเมืองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image