พล.อ.ไพบูลย์ เผย 2 ปีที่ผ่านมา เวทีโลกจับตาเมืองไทย เปลี่ยนแนวทางใหม่แก้ปัญหายาเสพติด

“พล.อ.ไพบูลย์” ระบุ 2 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทย ถูกเวทีโลกจับตาการแก้ปัญหาแบบแนวทางใหม่ เผยนโยบายของกรรมาธิการสากล ฉบับที่ 6 ไม่ต่างจากสิ่งที่ไทยพยามทำอยู่ สร้างความรับรู้ของสังคมให้อยู่ยาเสพติด เพราะยาเสพติดไม่มีทางหมดจากโลกนี้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อเปิดตัวรายงานประจำปีของคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด ฉบับที่ 6 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม เช่น นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นางรุธ เดรฟัส ประธานคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด อดีตประธานธิบดีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงยุติธรรม

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า การที่ประธานคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด ได้เลือกประเทศไทยเป็นเวทีในการเปิดตัวรายงานประจำปี ฉบับที่ 6 เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผลักดันเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดมาตลอด และเห็นความมุ่งมั่นเปลี่ยนนโยบายยาเสพติดของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังจนทำให้นโยบายมีความโดดเด่น ทั้งนี้คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวมีศักยภาพในการทำงานทั้งในกลุ่มประเทศยุโรปและลาตินอเมริกา จึงอยากเสนอให้คนในภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสร่วมเป็นกรรมการบ้าง เพื่อให้สมาชิกที่ร่วมต่อสู้เรื่องนโยบายยาเสพติดจะมีความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ต่อสู้มากว่า 2 ปี เป็นสิ่งที่เวทีโลกจับตา และที่ผ่านมา ไทยก็แสดงออกต่อเวทีโลกชัดเจนถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดมาเป็นแนวทางใหม่ สำหรับรายงานฉบับที่ 6 นั้น ไม่แตกต่างกับสิ่งที่ไทยกำลังพยายามทำ

“ที่ผ่านมา ผมเคยถามแล้วว่า เราสามารถทำให้โลกของเราปราศจากยาเสพติดได้จริงหรือ ถ้าจริง ก็ทำไปแบบเก่าที่ทำกันมา 10 ปี หรือ 20 ปี ก็คือการปราบด้วยการเอาคนเข้าคุกเป็นหลายแสนคน แต่ถ้าบอกว่าไม่สามารถทำให้โลกของเราปลอดจากเสพติดได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ประเทศไทยทำสงครามยาเสพติดมากว่า 20 ปี และมีการสร้างการรับรู้ให้กับสังคมว่า คนเสพยาเสพติดเหมือนอาชญากรมาตลอดเวลา 20 ปี อีกทั้ง ส่วนตัวไม่เชื่อว่าโลกนี้จะปลอดยาเสพติด ซึ่งตนก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อตอนที่ตนยังดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ยุติธรรม ว่า เราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะทำให้โลกนี้ปลอดยาเสพติดได้ ดังนั้น มันจึงต้องมีแนวทางใหม่” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า กระทั่งภูมิภาคอาเซียนประกาศว่านโยบายการปราบปรามยาเสพติดล้มเหลว โดยไทยเป็นประเทศที่ผลักดันให้อาเซียนเขียนยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ปี โดยที่การปราบปราม การป้องกัน และการบำบัดยังต้องคงอยู่ แต่ต้องลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดลง กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มี 2-3 มาตรา ที่จะต้องพิจารณาโทษอย่างสมดุล อย่างเป็นจริง อย่างเหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งเราคุยเรื่องนี้กันในกระบวนการยุติธรรม ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเราก็ทำแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันนโยบายยาเสพติดของไทยได้ปรับเปลี่ยนไปมาก เพียงแต่สังคมอาจยังไม่ได้รับรู้ โดยปัจจุบันเรากำลังทำกัญชงให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม แต่ยืนยันว่าไม่ใช่กัญชาแบบสุดโต่ง ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าใครสูบกัญชาและไม่ถูกจับ ซึ่งใครที่ค้าหรือมีกัญชาไว้ในครอบครองก็ยังต้องถูกลงโทษ

“เราพูดถึงกัญชาให้เป็นยาพื้นบ้านในวิถีชีวิต แต่ยังจับกุมผุ้ครอบครองรายใหญ่ เราเป็นแถวหน้าในการรณรงค์ป้องกันเอดส์ เราดูแลเข็มแต่ไม่แจกเข็ม ทำไปเยอะเพียงแต่ไม่ได้สร้างความเข้าใจและเรียนรู้ว่าเราจะเดินไปตามแนวทางนี้ ในอนาคตอยากเห็นยาบ้าให้เหลือ 5 บาท การลดทอนหรือทำให้ถูกกฎหมาย คือการลดอันตรายจากยาเสพติด วันนี้เชื่อว่าสังคมไม่ได้รังเกียจนโยบายแนวนี้ แต่ต้องการความมั่นใจว่านโยบายนี้จะเดินต่อไปอย่างไร ต้องให้มีความชัดเจนและทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะภาพที่ปรากฏยังมัวๆอยู่” องคมนตรี กล่าว

ด้าน นายชาญเชาวน์ กล่าวถึงกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่า มี 4 กรอบ ซึ่งประกอบด้วย 1.เน้นการป้องกันบำบัดฟื้นฟูไม่ให้มีการเสพซ้ำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย ส่วนการปราบปรามเน้นผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิต 2.เร่งพัฒนาระบบบำบัดให้มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงได้อย่างจำเป็น เท่าเทียม และบริการอย่างทั่วถึง 3.นำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตามแนวคิดประชารัฐร่วมใจมาใช้ร่วมกัน โดยการนำผู้เสพมาบำบัด และส่งคืนสู่สังคม และ 4.ใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุกมาใช้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยการกำหนดโทษให้นำพฤติการณ์ผู้กระทำผิดมาประกอบการพิจารณาโทษ

นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังต้องพยายามอย่างหนักเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบสากลของรายงานประจำปีของคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด โดยต้องเร่งทำความเข้าใจเรื่องการลดทอนอาชญากรให้ชัดเจน สิ่งที่เดินหน้าไปแล้วส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกฎหมาย เน้นการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมารวมกันเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยจุดสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือศาลสามารถลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่ระบุในกฎหมายได้

“พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีมาตราสำคัญ คือ 163 ที่ระบุให้การพิจารณาโทษดูที่ความร้ายแรงของการกระทำผิดและพฤติการณ์เป็นรายกรณี ซึ่งศาลสามารถลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดได้ ตนเห็นว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นศาลยุติธรรมจึงเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ฯให้จำเลยต่อสู้คดีได้โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว

นางรุธ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มใช้ทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญา เช่น การปรับร่วมกับการบำบัดทางการแพทย์และมาตรการทางสังคม สำหรับรายงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปนโยบายยาเสพติดแนวทางใหม่ ที่คณะกรรมาธิการเสนอแนะ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับทุกความผิดที่เกี่ยวจ้องกับยาเสพติด 2.รัฐต้องยุติการลงโทษทั้งหมดทั้งทางแพ่ง ละอาญาสำหรับการมียาเสพอันตรายต่อผู้อื่น 3.รัฐต้องดำเนินมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษ 4.ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นต้องเพิกถอนการลงโทษสำหรับการมียาเสพติดในครอบครองตามสนธิสัญญาภายใน้ระบบการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ 5.รัฐต้องศึกษาแม่แบบการควบคุมยาเสพติดผิดกฎหมายทุกประเภท.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image