“วิทยา สุริยะวงค์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พลิกโฉม “เรือนจำ” สู่ยุคใหม่

ช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในงานราชทัณฑ์อย่างเห็นได้ชัด

ภาพเรือนจำในสายตาคนทั่วไปคือความแออัด ไม่สะอาด และกิจการภายในเรือนจำที่เป็นสีเทา ทั้งที่สถานที่นี้คือที่คุมขังเพื่อเปลี่ยนแปลงและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ให้กลับไปอยู่ในสังคมอีกครั้งได้

การทำงานอย่างหนักช่วงที่ผ่านมา ทำให้สังคมเริ่มคาดหวังได้ว่าภาพเรือนจำที่คนคาดหวังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้

หลังการเข้ารับตำแหน่ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ราวปีเศษ ผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน

Advertisement

วิทยา สุริยะวงค์

ชายร่างใหญ่ รุ่มรวยรอยยิ้มและอารมณ์ขัน

มาพร้อมโรดแมปการพัฒนากรมราชทัณฑ์ ซึ่งทำสำเร็จแล้วในระดับหนึ่งคือการสะสางปัญหาเก่า บุกจับกุมตรวจค้นโทรศัพท์-ยาเสพติด จัดระเบียบทั้งเรือนจำและผู้ต้องขัง

ก้าวต่อไปคือการแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ หนึ่งในนั้นคือเรือนจำโครงสร้างเบา ที่เริ่มทำโครงการนำร่องไปแล้ว

ยังเหลืออีกหลายโครงการที่ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อพลิกฟื้นกรมราชทัณฑ์ให้ได้รับความเชื่อมั่น

วิทยา เป็นคนเชียงใหม่ เรียนจบทางด้านอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย แล้วเข้าทำงานที่กรมราชทัณฑ์ในปี 2525 ตำแหน่งก็ก้าวหน้าไปตามลำดับ แล้วก็ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน

“ผมเป็นคนมี Passion มีความฝัน จึงใส่จิตวิญญาณลงไปในการทำงาน จะไม่คิดแค่ว่ามาทำงาน ดังนั้น ทุกองค์กรที่ผมรับผิดชอบ ผมจะทำให้เป็นองค์กรที่มีชีวิต เดินหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ผมคิดเสมอว่าการได้ทำงานคือโอกาสของชีวิต เพราะเกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสอย่างนี้อีกหรือไม่ในชีวิต”

เขากล่าวออกมาอย่างมุ่งมั่น

เมื่อถามถึงชีวิตส่วนตัว วิทยาบอกว่า เขาเป็นคนไม่ชอบเด่นดังในสังคม ชอบอยู่เรียบๆ ง่ายๆ ไม่ชอบอยู่ในสปอตไลต์

“ผมไม่ชอบมีชื่อเสียงในทางส่วนตัว แต่ถ้าเรื่องราชการ ชื่อเสียงของหน่วยงาน ผมยินดีมาก ผมมีความมุ่งหวังที่จะทำให้กรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นกรมที่เรารักและเริ่มทำงาน ที่นี่ได้เดินไปในทางที่ควรจะเป็น ผมสำนึกในคุณูปการของกรมราชทัณฑ์ที่มอบให้แก่ผมและครอบครัว หากเราให้ความรักกับองค์กร องค์กรก็ให้ความรักกับเรา ถ้าเราให้ชีวิตกับองค์กร องค์กรก็ให้ชีวิตเรา”

และนี่คือความคิดของเขา ที่มุ่งจะพลิกโฉมหน้ากรมราชทัณฑ์สู่ยุคใหม่

มองปัญหาคนล้นคุกอย่างไร?

เรือน จำตั้งขึ้นมาคู่กับสังคมทุกสังคม เพื่อปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ทุกสังคมก็จะต้องมีกลไกนี้ไว้ เป็นโครงสร้างหลัก เพื่อจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีตำรวจ มีศาล และมีราชทัณฑ์ กลไกในการจัดการความขัดแย้งในแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไปตามนโยบายอาญา (Penal Policy) เช่น ประเทศญี่ปุ่นประชากร 120 ล้านคน มีนักโทษไม่เกิน 5 หมื่นคน ขณะที่ไทยมีประชากร 67 ล้านคน แต่มีผู้ต้องขัง 3 แสน 3 หมื่นคน

วิวัฒนาการของเรือนจำ

อย่าคิดว่าเรือนจำมีไว้แค่ขังคนหรือเอาคนไปทรมานเพื่อให้เกิดความทุกข์ยากและจะ ได้เข็ดหลาบ จริงๆ แล้วเรือนจำมีไว้ปล่อยคน เพราะไม่มีที่ใดในโลกที่จะขังคนไว้จนตาย ผู้ต้องขังที่เข้ามา เข้ามาเพื่อรับการอบรมขัดเกลา ปรับพฤติกรรม โดยมีความคาดหวังว่า ออกไปแล้วจะไม่กระทำผิดอีก

กรมราชทัณฑ์รับความคาดหวังของสังคมมาก็ ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เรือนจำเป็นสถาบันหลักในการส่งคืนคนดี ไปเป็นกำลังในการสร้างชาติต่อไป

หลัก การนี้พูดง่าย แต่ทำยากมาก เพราะเป็นการทำงานกับมนุษย์ ที่มีภูมิหลังแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเข้ามาอยู่รวมกัน คงไม่มีสูตรสำเร็จที่จะทำให้คนเหล่านี้ผ่านกระบวนการแล้วกลายเป็นคนดีได้ ทั้งหมด แม้แต่เรือนจำ วัด หรือสถาบันทางศาสนาต่างๆ ก็ยังทำได้ไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เรือนจำก็เช่นกัน เราก็ต้องพยายามปรับกระบวนการทำงาน ทั้งการควบคุม การแก้ไข ให้มีประสิทธิภาพและตรงตามความคาดหวัง

เรือนจำไทยปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม

เรือน จำแต่ละประเทศจะสะท้อนภาพความต้องการของแต่ละสังคม สังคมที่เจริญแล้วในแถบยุโรปเหนือ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูง นโยบายอาญาเป็นไปในเชิงผ่อนปรน ไม่เน้นเอาคนเข้ามาในเรือนจำมาก สภาพภายในเรือนจำก็ดี มีโปรแกรมการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยที่มีประสิทธิภาพ แต่ของไทย กรมราชทัณฑ์อยู่ในสภาพตั้งรับ งานด้านนโยบายอาญาในภาพใหญ่ก็ไม่มีการกำหนดหรือพูดคุยกันให้ชัด ผลก็คือ เรามีนักโทษล้นเรือนจำ กรมราชทัณฑ์มีความจุปกติตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ประมาณ 110,000 คน ความจุเต็มที่ 200,000 คน ความจุเต็มที่หมายถึงว่า ลดขนาดที่นอนลงครึ่งหนึ่ง จะต้องนอนเบียดกัน แต่ตอนนี้เรามีผู้ต้องขัง 300,000 คน ซึ่งเกินกว่าที่จะนอนเบียดกันได้ แล้วยังมีปัญหาทางการบริหารภายในต่างๆ มากมาย เรือนจำจึงอยู่ในสภาพที่ลำบาก ต้องเน้นการปรับปรุงหลายด้านหลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นที่มาของโรดแมป 10 ด้าน และ Quick-win Projects ทุกๆ 1 ปี

เรือนจำโครงสร้างเบาเป็นหนึ่งใน Quick-win Projects ปีที่ 2

ทุกเรื่องมีปัญหามากมาย แต่การทำงานโดยโรดแมปและ Quick-win Projects จะทำให้เราเดินทางสู่เป้าหมายอย่างเป็นระบบ

เรือนจำโครงสร้างเบามีต้นแบบจากที่อื่นไหม?

โครงการ เรือนจำโครงสร้างเบาไม่มีต้นแบบ แต่คิดถึงฟังก์ชั่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ควบคุมคน มีห้องน้ำ มีโรงกิจกรรม มีที่นอนที่ถูกสุขอนามัยพอสมควร ไม่ได้นอนโรงแรมหรู อยู่กันตามสภาพที่อยู่ได้ ไม่ใช่สัตว์ เราจำกัดเพียงแค่เสรีภาพทางการใช้ชีวิต เพื่อให้คนเหล่านี้สำนึกและคิดได้

มี การทำโครงการนำร่องที่ทัณฑสถานเปิดบ้านเนินสูง จ.ปราจีนบุรี ไปแล้ว ทดลองใช้ ผลปรากฏว่าดีในระดับหนึ่ง เพราะการทำงานกับมนุษย์ไม่มีสูตรสำเร็จที่ลงตัว ไม่สามารถไปซื้อแฟรนไชส์แล้วร่างตามโมเดลได้ ต้องมองกลับไปที่สาเหตุและการกระทำ

ความผิด คือไม่มีใครรู้ ทำอย่างไรเมื่อเขาพ้นโทษแล้วเขาจะไม่ไปทำผิดอีก

โมเดลเรือนจำโครงสร้างเบาที่ปราจีนบุรีพร้อมขยายหรือยัง?

เป็นหนึ่งในโมเดลที่เราหาอยู่ เราใช้โมเดลการฝึกทหารใหม่ นอกจากนี้ยังมีโมเดลลูกเสือ โมเดลวิวัฒน์พลเมือง โมเดลพัฒนาจิตใจ หลายๆ โมเดลรวมกันเป็นภาพใหญ่ โดยมีเป้าหมายคือลดการกระทำผิดซ้ำ เพื่อตอบโจทย์สังคมปลอดภัยที่ไม่ใช่แค่การปราบปรามโทรศัพท์มือถือ และยาเสพติด

ที่ผ่านมา เราได้ทำ 5 ก้าวย่าง 1.การควบคุมปราบปรามยาเสพติด 2.การจัดระเบียบเรือนจำ 3.การฝึกวินัยผู้ต้องขัง 4.การพัฒนาจิตใจด้วยหลักสูตร “สัคคสาสมาธิ” 5.การสร้างการยอมรับจากสังคม

จากนั้นเราก็จัดระบบบริหาร จัดการเรือนจำ Quick-win เฟส 2 นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก ตามโรดแมป 10 ด้าน เพื่อนำราชทัณฑ์ไทยสู่มาตรฐานสากล เราทำตั้งแต่ปราบปรามยาเสพติด ด้านการควบคุมต้องจัดระบบความหนาแน่นของนักโทษ พัฒนาบริหารเรือนจำ เอาคนมาขัง 3 แสนคนไม่ใช่ขังเฉยๆ ต้องสร้างรายได้ให้กับรัฐ พัฒนาการฝึกอาชีพ แล้วไม่ใช่เอาคนมาขังแล้วปล่อยไว้ ต้องเอาคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อนำไปสู่มาตรฐาน ยังมีเรื่องการพัฒนาบุคลากร ตัวผู้คุมต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ ป้องกันและปราบปรามทุจริตก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำทั้งหมดแล้วจะทำให้เรือนจำได้รับการพัฒนา เรือนจำโครงสร้างเบาเป็นส่วนเล็กส่วนหนึ่งในหลายส่วนที่เราทำ

การปราบปรามยาเสพติด ผลออกมาน่าพอใจ?

ตอนนี้เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่ต้องเน้นการรักษาไว้ให้อยู่ เรายังต้องจัดชุดออกตรวจจู่โจม สุ่มจับต่อไป ไม่ย่อหย่อน เพื่อจะได้ก้าวเข้าสู่การพัฒนาระบบบริหารจัดการเรือนจำ-ผู้ต้องขัง พัฒนาฐานข้อมูล และอื่นๆ ต่อไป

ปัญหามือถือและยาเสพติดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ทุกอย่างเป็นเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สังคมภายนอกไม่ผิดกฎหมาย ซื้อหาได้ทั่วไป แต่ในบริเวณเรือนจำ กลายเป็นความผิด และมีโทษจำคุก 5 ปี นักโทษอยากได้โทรศัพท์ติดต่อกับญาติเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ตอนหลังมีการนำไปใช้สั่งค้ายาเสพติดด้วย อันนี้เรายอมรับไม่ได้ เพราะวงจรยาเสพติดข้างนอกไม่โดนตัดขาด ถือว่าล้มเหลวในการปราบปราม

ที่ผ่านมาเราลงโทษเจ้าหน้าที่ ย้ายผู้บัญชาการ จัดชุดออกตรวจ ควบคู่ไปกับการสะสางเรือนจำให้สะอาด เป็นระเบียบ ตรวจค้นง่าย ถือว่าเราประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังทำอยู่ต่อไป เพราะเผลอไม่ได้

แล้วการจัดการผู้คุมเรือนจำ?

กรมราชทัณฑ์เป็นกรมที่ลงโทษเจ้าหน้าที่สูงที่สุดเลย ดำเนินคดีด้วย ผู้คุมกลายเป็นนักโทษก็มาก แต่ก็ต้องทำต่อไป รวมทั้งการส่งเสริมมาตรการเชิงบวก แทนที่จะมาลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ไขได้

วิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์02

โครงการคืนคนดีสู่สังคม สามารถชี้วัดได้ไหมว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำลดลง?

จำนวน ผู้กระทำผิดซ้ำนี่วัดยาก เพราะไม่รู้ ปล่อยออกไปจากเรือนจำแล้วก็เป็นเสรีชน ถ้าจะวัดก็ต้องดูว่า ถูกจับเข้ามามากน้อยเพียงใด และที่ไม่โดนจับก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้กระทำผิด เขาอาจจะทำผิดแล้วไม่โดนจับก็ได้ กรมราชทัณฑ์จึงใช้วัดจากตัวเลข ผู้เคยต้องโทษที่อยู่ในเรือนจำก็มีประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้แปลว่าถูกต้องนะครับ ผมบอกเสมอว่า การทำงานกับมนุษย์ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องเอาอันนี้อันนั้นแล้วจะใช้ได้ เพียงแต่เราได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง

ทำงานในส่วนที่มีปัญหาเยอะ หนักใจบ้างไหม?

ไม่ ผมเป็นคนมีความสุขกับการทำงานนะ ชีวิตผมเรียบง่าย เช้ามาทำงาน เลิกงานก็กลับไปพักผ่อน

ผมมองว่าอดีตก็คืออดีต จะไปคิดถึงมันทำไมว่าเหนื่อยยากมากเลยที่ผ่านมา มันไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น เรามีความสุขระหว่างทางไม่ดีกว่าหรือ เหมือนเราปีนภูเขาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วหันมองลงมาข้างล่าง โห..มาไกลมาก ทำได้อย่างไรเนี่ย แต่คงไม่ไปมองและจดจำเอาว่า ตรงนั้นตรงนี้ เวลานั้น เวลานี้ ลำบากยากแค้นเสียเหลือเกิน ผมจะไม่คิดและไม่พูดเรื่องนี้ แต่จะมุ่งไปข้างหน้า มุ่งไปสู่ชีวิตที่มีความสุข

ผมชอบอยู่ที่ทำงาน เป็น Workaholic ชอบเสพงาน เสาร์-อาทิตย์บางทีก็เปิดห้องทำงาน ชอบนอนที่ทำงาน ตอนหลังลูกน้องบอกว่า อย่านอนเลยท่าน ท่านไม่ใช่พัศดีประจำกรม (หัวเราะ)

ไม่ค่อยเครียด?

(หัวเราะ) ชีวิตที่ผ่านมาผมก็เรียนรู้ความผิดหวัง และพัฒนาให้เกิดความทนทาน เปรียบเหมือนวัคซีนที่จะทำให้เราสามารถรับภาระและแก้ปัญหาที่หนักยิ่งไปกว่า นี้ได้อีกเรื่อยไป เรื่องบางเรื่องที่เราคิดว่าใหญ่สมัยเด็ก ถ้าตอนนี้หันกลับไปมองก็เป็นเรื่องที่ไร้สาระสิ้นดี ตอนนี้เลยกลายเป็น “I feel no pain” หยิกก็ไม่เจ็บ

เมื่อก่อนโดนลูกศรดอกเดียวก็เจ็บแล้ว ตอนนี้สิบดอกก็ทนได้ ไม่ได้แปลว่าเก่ง เวลาผ่านไปทำให้เราทนทาน เครียดเป็นบางเรื่อง ถ้าตอบว่าไม่เครียด สบายมาก คงไม่จริง

จัดการความเครียดยังไง?

ชอบ ขับรถครับ เมื่อก่อนผมชอบขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะคือการสัมผัสลมแห่งเสรีภาพที่ผ่านเข้ามาปะทะกับตัวเรา ชอบออกเดินทางไปเรื่อยๆ ชอบขี่ออกจากบ้าน ไปเขาใหญ่ ตอนเย็นก็กลับ อยากจอดก็จอด อยากไปก็ไป ไปคนเดียว ผมเคยชอบเดินป่า แบบ Hiking เดินไปเรื่อย ดูนกดูไม้ ตั้งเต็นท์แล้วก็กลับ แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว ผมก็ยังมีเต็นท์อยู่นะ แต่ไม่มีที่กาง (หัวเราะ)

เคยประสบอุบัติเห ตุมอเตอร์ไซค์ ตอนนั้นไปเที่ยวภูเขาวันขึ้นปีใหม่ ล้มในป่า แขนขวาหัก ลำบากไปนาน ตอนนั้นเป็นรองอธิบดีแล้ว วันที่ 31 ธันวาคมพอดี ไม่มีใครอยู่โรงพยาบาลเลย มีหมอเป็นคนพื้นที่ คนเอกซเรย์เป็นคนกะเหรี่ยง ผมถามว่าเอกซเรย์เป็นเหรอ เขาบอกว่า “เปล่าครับ ผมแอบดู แล้วจำตอนเจ้าหน้าที่เขาทำกัน” (หัวเราะ)

ยังขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ไหม?

ไม่ได้ขี่อีกเลย เป็นความเสี่ยง คล้ายว่าเรามีต้นทุนมากขึ้นด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน มีคนที่รับผิดชอบอยู่เยอะ ไม่ควรทำให้เขาลำบาก ไปหาความสุขให้ตัวเองแล้วทำให้คนอื่นทุกข์ เลยเลิกขี่มอเตอร์ไซค์มาขับรถแทน ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีเวลาคิด อาจไม่ตรงกับนโยบายประหยัดพลังงานเท่าไหร่ (หัวเราะ) ผมชอบขับไปในเมือง นั่งดูคนในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นงานอดิเรก

มีแนวคิดการทำงานอย่างไร?
ผมชอบคิดตามโจทย์ที่เห็น แต่คิดในใจนะ ว่าในสถานการณ์ที่เห็น ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร เช่น ดูตอนเขาให้สัมภาษณ์ทางทีวี แล้วเราก็คิดตามว่า ถ้าเป็นเรา เราจะตอบอย่างไร การมีนิสัยชอบคิดแบบนี้จะทำให้เราสามารถสังเคราะห์และสร้างรูปแบบในการทำงาน ของตนเองได้ เหมือนเช่นตอนนี้ ผมมาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาอยู่ในที่นั่งคนขับรถ ที่ต้องพารถคันนี้ไปสู่เป้าหมายแบบที่เราอยากไป เมื่อก่อนผมอยู่ท้ายรถ ก็ได้แค่คิดในใจว่า ถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบไหน เราจะพาไปทางไหน ตอนนี้ผมได้โอกาสนั้นแล้ว ผมก็อยากขับรถคันนี้ที่ผมเรียกเสมอว่า “รถเมล์สายท่าน้ำนนท์” ไปในที่ที่ผมอยากจะพาไป เพราะหน้าที่ของผู้นำคือพาคนไปในที่ที่ไม่เคยไป

นี่คือชีวิตและวิญญาณที่ผมได้มอบให้กับกรมราชทัณฑ์ อยากเห็นกรมราชทัณฑ์เดินไปแบบนี้ มีความสุขมากที่ได้ทำ จะทำทุกวันให้มีค่า มาทำงานด้วยความสุข (ยิ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image