เปิดขุมทรัพย์พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ตามรอย ‘อวโลกิเตศวร’ ประโคนชัย

ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องสำหรับกระแสการทวงคืนพระอวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ที่เชื่อว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกบริษัทต่างชาตินำออกประมูลขายในราคาประเมินกว่า 1.4-2.1 ล้านบาท โดยคาดว่าเป็นกลุ่มประติมากรรมที่มีการลักลอบนำออกนอกประเทศในช่วงสงครามเวียดนาม ก่อนจะไปโผล่ในยุโรปถึงกว่า 300 องค์ กระจายอยู่ในความครอบครองของเอกชน รวมถึงพิพิธภัณฑ์บางแห่งเช่น The Metropolitan Museum นิวยอร์ก จึงน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่มีหลงเหลืออยู่ในไทยให้ได้ชื่นชมกันเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังมีประติมากรรมรูปแบบเดียวกับที่พบในประโคนชัยให้ได้ชมความงดงามอีกหนึ่งองค์ โดยจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

พระโพธิสัตว์ พบที่บ้านโตนด อำเภอโดนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ประติมากรรมดังกล่าว คือ พระโพธิสัตว์ในความเชื่อศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน หล่อด้วยสัมฤทธิ์ เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) พระเนตรเหลือบต่ำด้วยความเมตตา ถูกสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13-14  หรือกว่า 1,200 ปี มาแล้ว  พบที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมในพื้นที่ซึ่งมีการรับอิทธิพลเขมร รูปแบบศิลปะไพรกเม็ง
ปัจจุบันหลงเหลือแต่ส่วนพระเศียร หากมีพระวรกายเต็มองค์ ถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ คาดว่าจะประทับยืนเช่นเดียวกับประติมากรรมที่ประโคนชัย

Advertisement
พระโพธิสัตว์องค์นี้ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร หรือองค์อื่นๆ เนื่องจากสัญลักษณ์บนพระเกศาหายไป
พระโพธิสัตว์องค์นี้ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร หรือองค์อื่นๆ เนื่องจากสัญลักษณ์บนพระเกศาหายไป

นอกจากพระโพธิสัตว์ดังกล่าว ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ยังมีสิ่งล้ำค่ามากมายที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้วัฒนธรรมเขมรในช่วงเวลาต่างๆ เช่นเดียวกับพระอวโลกิเตศวรที่ประโคนชัย

พิพิธภัณฑ์พระนคร

พิพิธภัณฑ์พระนคร

โบราณวัตถุอีกหนึ่งชิ้นที่ชวนให้นึกถึงการลักลอบขนย้ายโบราณวัตถุออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ก็คือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งคาดว่าถูกลักลอบออกไปในคราวเดียวกันกับประติมากรรมที่ประโคนชัยกว่าสามร้อยองค์  กว่าจะทวงกลับคืนมาได้ในพ.ศ.2531 ก็ต้องอาศัยหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าโดยอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ยืนยันว่าเคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ จริงๆ ทุกวันนี้ทับหลังล้ำค่าจึงได้กลับมาตระหง่านอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้งอย่างสง่างาม ซึ่งในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานแห่งนี้ ก็มีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากบุรีรัมย์มาจัดแสดงให้ชมความวิจิตรบรรจงในการสลักลวดลายบนหินแข็งแกร่งจนงดงามอ่อนช้อยเช่นกัน โดยชิ้นนี้มาจากปราสาทกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ สลักเสลาด้วยศิลปะเขมรโบราณ พุทธศตวรรษที่ 17  หรือราว 900 ปีมาแล้ว

ทับหลังปราสาทกู่สวนแตง

นอกจากนี้ยังมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอีกหนึ่งองค์ ในศิลปะเขมรโบราณ พุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมีที่มาน่าสนใจ นั่นก็คือ เป็น ‘ของกลาง’ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตกเป็น ‘ทรัพย์สินของแผ่นดิน’ แสดงให้เห็นถึงการลักลอบค้าโบราณวัตถุที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น่าเสียดายที่ไม่ทราบว่าพระอวโลกิเตศวรองค์นี้ เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทหลังใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี

อวโลกิเตศวรของกลาง

มาถึงประติมากรรมชิ้นเอกที่พลาดไม่ได้ในพระที่นั่งแห่งนี้ นั่นก็คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี สร้างขึ้นด้วยศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 แม้หัตถ์จะหักหายไป แต่ยังคงความงดงามไม่เสื่อมคลาย ด้วยพระพักตร์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา บนพระเกศามีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ประทับนั่งขัดสมาธิ คือ ‘พระอมิตาภะ’ บ่งบอกว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้คือ อวโลกิเตศวร บนพระวรกายเปล่งรัศมีเป็นพระพุทธรูปมากมายนับไม่ถ้วน ถือเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซที่ต้องชมให้เห็นกับตาสักครั้ง

อวโลกิเตศวร ปราสาทเมืองสิงห์

อีกหนึ่งชิ้นน่าชม คือ ประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปบุคคลทรงเครื่องประดับ กำลังทำท่ายกฉากแสดงเรื่องพุทธประวัติ ศิลปะเขมรโบราณ พุทธศตวรรษที่ 18 หรือ 800 ปีมาแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือที่มาของโบราณวัตถุชิ้นนี้ เป็นการขอซื้อจากนางสาวชื่น ศรียาภัย เมื่อ พ.ศ. 2469 โดยราชบัณฑิตยสภา ชี้ให้เห็นถึงอีกหนึ่งแนวทางของราชการไทยที่มีนโยบายซื้อโบราณวัตถุจากเอกชนได้ หากเห็นว่ามีความสำคัญ และควรค่าแก่การนำกลับมาเป็นของรัฐและประชาชน

โบราณวัตถุพิพิธภัณฑ์พระนคร

มีชิ้นข้างต้นแล้ว ก็ต้องมีเครื่องประดับราชยานอย่าง ‘ครุฑยุดนาค’ ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เช่นกัน โดยเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครมาแต่เดิม  ไม่ทราบที่มาก่อนหน้านั้น

ครุฑยุดนาค เขมร

นอกจากนี้ ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ยังเต็มไปด้วยโบราณวัตถุสำคัญอันงดงามตระการตา เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยและรูปแบบศิลปะต่างๆ  ที่คุ้มค่าแก่การมาเยียมชมอย่างยิ่ง

พช.พระนคร

พช.พระนคร

พช.พระนคร

พช.พระนคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image