เปิดชื่อหนังสือคัดสรร มั่นใจว่า ‘น่าอ่าน’ ในงานสัปดาห์หนังสือ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 แล้ว ปีนี้จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯบอกว่าประสบความสำเร็จกว่าที่คาดไว้ตอนแรก เพราะแค่ครึ่งทางผู้เข้าชมงานอยู่ที่ประมาณ 900,000 คนแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน รองลงมาคือวัยทำงาน และแนวหนังสือที่มาแรงในครั้งนี้คือแนวไลท์โนเวล นวนิยาย ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ และโค้ชชิ่ง

นั่นเป็นความนิยมหลัก แต่ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าสนใจมากๆและไม่อยากให้พลาดเลยในงานหนังสือครั้งนี้ ไม่อยากให้เสียพื้นที่ จากนี้คือลิสต์ที่เราอยากชวนอ่านเผื่อมีเล่มไหนตรงใจเหมือนกัน

เริ่มที่สายวรรณกรรมกันก่อน เล่มแรก หยดน้ำในเปลวทราย  โดยทราย เจริญปุระ (สนพ.ชายขอบ) นอกจากจะเป็นนักแสดงมากฝีมือแล้ว ทรายยังเป็นนักเขียนที่ฝีมือดีมาก แต่ละคำแต่ละประโยคกระทบความรู้สึกได้เสมอ เล่มนี้เป็นกลุ่มถ้อยคำที่เรียงร้อยดัดแปลงจากบทบันทึกของเธอ, ยอดมนุษย์ดาวเศร้า  โดยองอาจ ชัยชาญชีพ (สนพ.เป็ดเต่าควาย) เล่มนี้กำลังมาแรงมาก นักอ่านรีวิวเพียบ ว่าด้วยเรื่องราวของคน 9 คนที่ขับเคลื่อนชีวิตแตกสลายเกี่ยวพันกันไปบนดาวดวงเศร้าของพวกเขา, ‘ลมละเมอ โดยทินกร หุตางกูร (เม่นวรรณกรรม) หลังห่างหายไปกว่า 10 ปี ทินกรกลับมาแล้วกับนิยายที่ใช้เวลาเขียนถึง 5 ปี เป็นแนวแฟนตาซีที่ข้องเกี่ยวกับบริบททั้งสังคมไทยและสังคมโลก ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอด เราเห็นตัวเองใน 5 ปีที่ผ่านมาจากนิยายเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาก, ‘Submergence สู่ห้วงอรรณพ โดย J.M. Ledguard (เลเจนด์บุ๊คส์) ติดลิสต์น่าอ่านจากต่างประเทศมาเพียบ เป็นนิยายรักโรแมนติกทริลเลอร์ ที่เจือกลิ่นอายความเหงา เศร้า โหยหา จากชีวิตที่หลุดเข้าไปในวังวนสงครามของเหล่านักรบพลีชีพ พร้อมการพยายามหาคำตอบจากความหวังและความศรัทธา ที่อาจเป็นกุญแจสู่ความรอดของโลกอนาคต

Advertisement

 เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง โดยกงจียอง (เอิร์นเนสต์ พับลิชชิ่ง) เป็นนิยายขายดีจากเกาหลีที่ ว่าด้วยมิตรภาพระหว่างหญิงสาวฐานะดีที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้วสามครั้ง กับนักโทษประหาร เป็นนิยายที่อ่านแล้วเข้าใจเลยว่าทำไมแปลไปเป็นสิบภาษาทั่วโลก ทั้งเศร้าทั้งสุขแบบน้ำตาปริ่ม

‘Danger our mind แสบ โดยโหวเหวินหย่ง (สนพ.แมงมุม) เป็นนิยายเรื่องเยี่ยมจากนักเขียนมือทองของไต้หวัน ที่ชำแหละประเด็นการศึกษาได้เข้มข้น ดำเนินเรื่องได้กระชับสนุกจนหน้าสุดท้าย, ‘Dogsbody’โดยDiana Wynne Jones (Words Wonder Publishing) ว่าด้วยเรื่องราวของซิริอุส ดาวสุนัข ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมที่เขาไม่ได้ทำ และโทษของเขาคือไปใช้ชีวิตบนโลกในฐานะสุนัขจนกว่าเขาจะปฏิบัติภารกิจบางอย่างสำเร็จ ที่โลกซิริอุสเรียนรู้บทเรียนมากมายที่ทั้งเจ็บปวดและงดงาม ,ไม่มีคำตอบจากค่ำคืน เป็นรวมเรื่องสั้นของนายทิวา ปกติเราเห็นงานของเขาเป็นบทกวีที่กวาดรางวัลมาจากเวทีต่างๆเพียบ แต่รอบนี้มาเป็นรวมเรื่องสั้น ซึ่งกวีมาเขียนเรื่องสั้นนี่ทำให้งานแพรวพรายน่าสนใจมาก,‘ Lunar Lunatic คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า โดยฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ (P.S. Publishing) เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง เจือจางไปด้วยละอองอารมณ์และบรรยากาศ ภาษาและเรื่องเล่าของฉัตรรวีมีจริตบางอย่างที่นักอ่านสาวๆน่าจะชอบ

เจ้าแม่ โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์ (มติชน) บทสรุปแห่งชีวิตของลุ่มน้ำต่อจากเจ้าพ่อ เจ้าเมือง เรื่องนี้แม่ผาดตัวละครในใจใครหลายคนมารับบทหลัก แฟนๆไม่น่าพลาด, นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร์  (สนพ.อ่าน) รวมทั้งสิ้น 39 เรื่อง ถือเป็นฉบับพิมพ์ที่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในยุคนี้และเท่าที่เคยมีการจัดพิมพ์มา และผลงานของนักเขียนระดับโลก ออร์ฮาน ปามุก คือ  ‘The Museum of Innocence’ (มติชน) และ หิมะ (บทจร) เล่มแรกเป็นความรักจับใจที่แฝงกลิ่นอายการเมืองได้อย่างละมุนละไม เล่มหลังเป็นการเมืองความขัดแย้งทางศาสนาแบบเข้มข้น ให้ดีอ่านสองเล่มเลย คนละแนว ไม่มีความรู้สึกซ้ำแน่นอนเพราะเราอ่านทั้งคู่แล้ว

Advertisement

มาที่สายสารคดีความรู้กันบ้าง เล่มแรก ‘Poststructuralism’ โดยศ.ดร.ชัยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (สนพ.สมมติ) เป็นบทแนะนำสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยม ของนักคิดชาวฝรั่งเศส 6 คน อาทิ ฌาคส์ แดร์ริดา ชีสส์ เดอเลิซ ฌาคส์ ลาก็อง,คนไทย/คนอื่น โดย ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล (ฟ้าเดียวกัน) ที่ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย โดยเป็นสี่ภาค ได้แก่ คนอื่นผู้ต่ำต้อย คนอื่นผู้สูงส่ง, ปัตตานี : คนอื่นของไทย, ข้างบ้านที่ไม่ใช่เพื่อน และคนอื่นของความเป็นไทย แต่ละบทจะค่อยๆ ชำแหละให้เห็นว่าตัวตนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างไร

ซูสีไทเฮา โดยจุงชาง (Sidea) นักเขียนชื่อดังชาวจีนที่ขอนำเสนอชีวประวัติของหงส์เหนือบัลลังก์มังกร ผู้สร้างจีนสมัยใหม่คนนี้ ด้วยเอกสารประวัติศาสตร์ที่ค้นพบใหม่ ถือเป็นการปฏิวัติแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับช่วงเวลาสำคัญของจีนและของโลกช่วงหนึ่ง ผ่านกลวิธีการเล่าเชิงนวนิยายที่เธอถนัด ,ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม?’ โดยนพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา (ชัชพลบุ๊คส์) ที่นอกจากจะเขียนงานแนววิทยาศาสตร์จนโด่งดังแล้ว เล่มนี้มาแนวใหม่ เพราะเริ่มจากคำถามง่ายๆ ที่จะทำให้เข้าใจคำศัพท์ภาษาอังกฤษผ่านรากศัพท์และประวัติศาสตร์

ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก โดย Meik Wiking (Openworlds) เดนมาร์กเป็นมหาอำนาจแห่งความสุขของโลกจากการจัดอันดับของยูเอ็น คำตอบที่ทำให้เป็นอย่างนี้ได้คือแนวคิดแบบ ‘ฮุกกะ’ หรือ ‘Hygge’ หรือศิลปะในการหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน หรือความรู้สึกอบอุ่นของการอยู่ร่วมกัน, จอน เอลสเตอร์ กับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร (way of book) นี่ไม่ใช่หนังสือที่จะช่วยให้นักอุดมคติฮึกเหิมหรือทำให้นักศีลธรรมบังเกิดศรัทธาพอกพูน แต่มันอาจช่วยให้นักเสรีนิยมเข้าใจวิธีคิดของฝ่ายจารีตและช่วยให้ฝ่ายจารีตเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลแบบเสรีนิยม, ‘เราต่างมีพุทธะในตัวเอง โดยเชอเกียม ตรุงปะ (ปลากระโดด) หนังสือสื่อสารถึงพลังของการ “ยอมรับตัวเอง” ซึ่งเป็นหัวใจของทั้งพุทธธรรมและจิตวิทยาตะวันตก ซึ่งนอกจากจะทำให้หัวใจเปิดกว้างและอ่อนโยนกับสิ่งที่ตัวเองเป็นในทุกด้านแล้ว ยังสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า “ความดีพื้นฐาน” ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานในตัวคนทุกคนด้วย

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม โดย จ้าวกว่างเชา (มติชน) หนังสือเล่มสำคัญของจีน ที่เจาะลึกเกี่ยวกับพระราชวังต้องห้าม โดยเล่าถึงสถาปัตยกรรมวิถีชาววังศิลปะวัตถุชิ้นสำคัญรวมถึงบันทึกสำรวจของคณะผู้จัดทำ ซึ่งลักษณะพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือ การใช้ภาพประกอบเป็นแนวตัดขวางและมุมมองสูงรวมถึงการใช้กราฟฟิกสมัยใหม่ผสมผสานดีไซต์แบบโบราณ เพื่ออธิบายสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจีนผ่านพระตำหนักต่างๆ ในวังต้องห้ามอีกด้วย เล่มนี้ขายดีมากๆที่บูทมติชน

หลายเล่มไม่ต้องเดินไปที่ไหนไกล ไปที่บูทมติชน โซนพลาซ่าที่เดียวจบ เพราะมีเชลฟ์หนังสืออินดี้ทั้งหลายให้เลือกด้วย

วันนี้วันสุดท้ายแล้ว หนอนหนังสือไม่ควรพลาด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image