มันจะยากตรงไหน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

เราจะเล่นสงกรานต์กันอย่างไรกลายเป็นวาระใหญ่ที่คนไทยจะต้องคิดอ่านกันในยุคสมัยของ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง”

การรวมกันนั่งท้ายรถกระบะไปเล่นตามท้องถนนที่เคยเป็นความสนุกสนานและได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ถูกตีความว่าเป็นเรื่องเลวร้ายไม่สมควร เช่นเดียวกับอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่ถูกมองว่าเป็นการทำให้ประเพณีที่ดีเสียหาย

“สงกรานต์” ที่เคยเฝ้ารอเลยให้ความรู้สึกว่าไม่น่าสนุกเสียแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะโดนคดี ถูกจับปรับ ถูกจำ หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรบ้าง

แม้จะถอนหายใจด้วยความเบื่อหน่ายกับความรู้สึกว่ามากเรื่องอยู่บ้าง แต่ก็อย่างที่ว่า “จะเล่นสงกรานต์อย่างไรเป็นวาระที่คนไทยพูดถึงกันมากที่สุดในช่วงนี้”

Advertisement

เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่า โดยเฉพาะคนหนุ่ม คนสาว และวัยรุ่น

แต่สำหรับคนอีกวัยที่สนใจเรื่องปากเรื่องท้อง อันหมายถึงคนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือที่เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องคิดทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คนกลุ่มนี้

ความเป็นไปของสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลมากระทบเป็นเรื่องที่ต้องเหลียวมอง มาตรการเพิ่มช่องทางจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ออกมาว่าคนไทยว่างงานกันมากขึ้นโดยเฉพาะคนที่จบปริญญาตรี ช่วงรับปริญญาที่ลูกหลานจบมาแล้วเจริญชะตากรรมไม่มีงานทำ

Advertisement

เพราะความใส่ใจเรื่องปากเรื่องท้อง และคาดหวังเอากับรัฐบาลว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้

“การจัดซื้อรถถัง และเรือดำน้ำ” ที่จะต้องใช้งบประมาณก้อนมโหฬารจึงถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็น

แต่อาจจะเป็นเพราะไกลจากชีวิตประจำวัน ความใส่ใจของคนส่วนใหญ่จึงไปอยู่ที่จะเล่นสงกรานต์กันแบบไหน หรือจะนั่งท้ายรถกระบะกลับบ้านได้หรือเปล่ามากกว่า

เช่นเดียวกับที่มีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นวาระสำคัญของการอยู่ร่วมกันในประเทศไม่น้อย นั่นคือ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ประกาศใช้ไปแล้ว

ในความเป็นจริงสาระของรัฐธรรมนูญส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมมากมาย เนื่องจากมีการกำหนด “โครงสร้างอำนาจรัฐ” ใหม่

มีรายละเอียดมากมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ในบางเรื่องแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการพลิกวิธีคิด อุดมการณ์แบบ “หน้ามือเป็นหลังมือ”

ถ้าเป็นก่อนหน้านั้น มีบ้านเมืองไม่มีปัญหาให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องปวดหัว กังวลใจว่าจะเล่นสงกรานต์กันอย่างไร หรือประคับประคองให้ครอบครัวพ้นจากความเสี่ยงเรื่องปัญหาปากท้องอย่างไร การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจรัฐแบบนี้จะต้องเป็นวาระใหญ่ที่จะต้องมีการพูดถึง

อย่างน้อยที่สุด “นักการเมือง” จะต้องใส่ใจให้ความรู้กับประชาชนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ “การเมืองการปกครองของประเทศ” จะส่งผลอย่างไรต่อ “สิทธิและหน้าที่ของประชาชน” หรือกระทั่งจะกระทบต่อ “โครงสร้างการแบ่งสรรผลประโยชน์ของประชาชนกลุ่มต่างๆ” อย่างไร

แต่ดูเหมือนว่าในยุคสมัยเช่นนี้ อะไรต่ออะไรเหล่านั้นเปลี่ยนไปแล้ว

ความใส่ใจที่จะออกมาพูดแทน เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน กลายเป็นเรื่องเกินความจำเป็นในหน้าที่ของนักการเมือง

ปล่อยให้ “ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจ” เป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่มีใครใส่ใจพูดถึงมากกว่า “จะเล่นสงกรานต์กันอย่างไร”

เรื่องราวโดยรวมๆ เหล่านี้ น่าคิดไม่น้อยว่าคำพูดที่ว่า “บริหารประเทศมันจะยากตรงไหน” นั้น ไม่ว่าฟังแล้วรู้สึกอย่างไร แต่ก็เป็นความจริง

มันไม่อยากเลยการบริหารประเทศ แค่เปิดทางให้พูดเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้เต็มที่ แล้วจัดการอย่างเด็ดขาดไม่ให้พูดในบางเรื่อง ไม่ว่าจะด้วยการบังคับปิดปาก หรือหันเหความใส่ใจไปเสีย

ทุกอย่างก็ลื่นฉลุย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image