ว่าด้วยอัตลักษณ์ไทยอะไรกัน

เขียนเรื่องอัตลักษณ์ไทยเพราะมีผู้ถามว่า ทำไมชอบตั้งข้อสงสัยเรื่องความเป็นไทย ไม่ดีหรือที่ไทยมีความเป็นไทย หรือมีอัตลักษณ์ไทยที่แสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ไม่เหมือนใครของไทย

อันที่จริง “อัตลักษณ์ชาติ” เคยเป็นหัวข้อสำคัญในการสนทนาของผู้คนแทบทุกชาติเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

ปัจจุบัน มุมมองเรื่องนี้เปลี่ยนไปมาก ผู้คนเลิกพูดเรื่องอัตลักษณ์เดียวจากส่วนกลาง แต่หันไปพูดเรื่อง “ความหลากหลาย”

ด้วยเหตุที่ว่า ผู้คนในแต่ละชาติล้วนมีความเป็นมาหลากหลาย จึงมีวิถีชีวิตหลากหลาย

Advertisement

คำอธิบายชุดเดียวเรื่องอัตลักษณ์ ย่อมไม่สามารถอธิบายอัตลักษณ์ของคนทั้งชาติซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชาติ

น่าคิดว่าเรามักคิดถึง “อัตลักษณ์ชาติ” เมื่อจะต้องพูดเรื่องความยิ่งใหญ่ของชาติ ไม่ว่าเพื่อปลุกใจให้ฮึกเหิมยามสงคราม หรือเมื่อผู้ปกครองต้องการให้ประชาชนรวมพลังเป็นปึกแผ่นเพื่อกระทำการบางอย่างตามความประสงค์ของผู้ปกครอง

ผู้ปกครองคือผู้กำหนดอัตลักษณ์ชาติให้ประชาชนเชื่อและยึดถือ มิใช่ประชาชนกำหนดให้ผู้ปกครองเชื่อและยึดถือ

Advertisement

ผู้ปกครองจึงสามารถอ้างอัตลักษณ์ชาติ เข้าควบคุมหรือกำหนดพฤติกรรมคนในชาติซึ่งถือเป็นบริวาร “ภายใต้” การปกครอง ให้ประพฤติปฏิบัติตนตามแบบแผนที่ผู้ปกครองกำหนด เพื่อ “ความเป็นหนึ่งเดียว” หรือ “ความมั่นคง” ของชาติ (อันหมายถึงกลุ่มผู้ปกครอง)

ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากในสังคมโลก (แน่นอนว่าไม่รวมประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐและผู้ติดตามทรัมป์) เชื่อเรื่องการยอมรับและเคารพความเสมอภาคเท่าเทียม ตลอดจนความแตกต่างหลากหลายของผู้คน มากกว่าเรื่อง “หนึ่งเดียวอันมั่นคง” หรือ “ฉันเท่านั้น ดีที่สุดในโลก”

หลายๆ ประเทศเช่น อังกฤษ คนส่วนมากเลิกพูดเรื่อง “อัตลักษณ์เดียว” ของชาติกันไปแล้ว

ซ้ำยังเสนอเรื่องอัตลักษณ์นอกกรอบคิดเดิมที่เกาะเกี่ยวอยู่แต่กับเรื่องศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม การแต่งกาย ศิลปะการแสดง เสื้อผ้า อาหารฯลฯ ไปเป็นเรื่องบทบาทการเชิดชูเสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีมนุษย์ ของผู้คนในประเทศ เป็นต้น

ส่วนคนไทยจำนวนหนึ่ง ยังอยากเชื่อว่าไทยมีอัตลักษณ์ “แช่แข็ง” สืบทอดจากอดีตอันรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่กว่าใครๆไม่เคยเปลี่ยนแปลง เช่น มีความเป็นพุทธแท้ มีอาหารไทยแท้ มีชุดไทยแท้ มีบ้านเรือนแบบไทยแท้ และมียิ้มสยามแท้ซึ่งงดงามที่สุดในโลก

รวมถึงเชื่อว่าอัตลักษณ์แช่แข็งคือความมั่นคง ใครตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์แช่แข็งจึงอาจถูกชี้หน้าว่าเลว ไม่รักชาติ

ไม่ยินดีทำความเข้าใจว่า อัตลักษณ์ของแต่ละสังคมมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นเดียวกับชีวิตผู้คน ดังนั้น อัตลักษณ์ไทยปัจจุบันย่อมไม่เหมือนอัตลักษณ์อยุธยาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

อีกทั้งไม่เหมือนอัตลักษณ์รัตนโกสินทร์ในยุครัชกาลที่ 1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image