ครม.ผ่านร่างกฎหมายอีอีซีแล้ว-ตั้งตั้งกก.ชุดใหญ่แบบซุปเปอร์บอร์ด

กอบศักดิ์ ภูตระกูล (แฟ้มภาพ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ … ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาตามที่ ครม.มีคำแนะนำเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ชัดเจนเพิ่มขึ้น และนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้งภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เพื่อใช้เป็นกฎหมายในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในฐานะโครงการที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ ครม.ต้องการให้มีการเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เกี่ยวข้องกับการสร้างความชัดเจน ในขอบเขตอำนาจและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการอีอีซีให้มีความชัดเจน ระหว่างสำนักงานอีอีซี คณะกรรมการนโยบายอีอีซี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกันจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าโครงการและสามารถสนับสนุนการลงทุนโครงการอีอีซี ซึ่งอำนาจของสำนักงานอีอีซีที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้จะมีอำนาจในการอนุมัติการขออนุญาตของเอกชนเช่นเดียวกับอำนาจของการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่รับโอนอำนาจจากหน่วยงานต่างๆ เช่น อำนาจในการอนุญาตการก่อสร้างอาคาร การจดทะเบียนการค้า เป็นต้น ขณะเดียวกันได้หารือเรื่องอำนาจในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ เรื่องของการอนุมัติให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาทำงานในพื้นที่อีอีซี เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ที่จะเข้ามาทำงานเพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิเคล ฮับ) ที่จะสามารถอนุมัติให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบประกอบโรคศิลป์จากต่างประเทศเข้ามาทำงานในอีอีซีได้ รวมถึงการอนุมัติให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษาจากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงเข้ามาทำงาน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสถานศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศในอีอีซีได้

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นคณะกรรมการอีอีซีจะมีอำนาจในการอนุมัติโครงการลงทุนเร่งด่วน ของโครงการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งจะใช้รูปแบบการลงทุนที่เร็วกว่าการเสนอโครงการแบบพีพีพี ฟาสต์แทร็ก โดยจะใช้เวลาในการศึกษาและพิจารณาโครงการต่างๆ ภายในระยะเวลา 8 – 10 เดือน จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 20 เดือน และสามารถศึกษาหลายโครงการในพื้นที่ไปพร้อมกัน ซึ่งการร่นระยะเวลาในการพิจารณาโครงการเร็วขึ้นจะต้องมีการยกเว้นขั้นตอนและกฎหมายบางฉบับ นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆให้กับนักลงทุน เช่น การใช้เงินตราต่างประเทศในพื้นที่ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (ไอเอชคิว) ในอีอีซี ซึ่งในเรื่องนี้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วและ ธปท.รับทราบในหลักการว่าสามารถดำเนินการได้ และต้องไปออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ครม.มีความเห็นให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการอีอีซี โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในรูปแบบของซุปเปอร์บอร์ดอีอีซีที่มีการเพิ่มรัฐมนตรีของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการจำนวน 11 กระทรวง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งอาจมีการเพิ่มรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 2 กระทรวงได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ

Advertisement

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขชื่อ พ.ร.บ.จาก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็น พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆที่ใกล้เคียงในอนาคต จากปัจจุบันที่กฎหมายครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าการส่งเสริมโครงการอีอีซีคณะกรรมการฯจะประกาศเป็นพื้นที่ ที่ต้องการให้มีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่สำคัญๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบิน

ครม.ยังมีข้อสังเกตให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดูแลช่วยเหลือ เยียวยา หรือสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบโครงการอีอีซี ซึ่งจะเก็บเงินจากบริษัทที่ได้รับส่งเสริมเข้าสู่กองทุนฯในรูปแบบเดียวกับกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเงินที่สะสมในกองทุนนี้จะนำไปใช้ในการส่งเสริมช่วยเหลือประชาชน เช่น ให้การศึกษากับเยาวชน หรือการส่งเสริมกิจกรรมศาสนา และสาธารณสุข เป็นต้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในระหว่างดำเนินการออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ หากหน่วยงานใดมีความต้องการดำเนินโครงการภายใต้อีอีซีเร่งด่วน เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้ ทางรัฐบาลก็ยินดินออกมาตรา 44 เป็นเรื่องๆไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image