อุบัติเหตุวันสงกรานต์ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วันนี้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ วันส่งท้ายปีเก่าตามประเพณีของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่บังกลาเทศบางส่วน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ที่วัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์ยังคงมีอิทธิพลอยู่

เทศกาลสงกรานต์นี้ถือว่าเป็นงานสำคัญประจำปีของไทยมอญ ทั้งที่อยู่ในประเทศพม่าและอยู่ในประเทศไทย เป็นการจัดงานฉลองติดต่อกันหลายวัน ที่นานที่สุดเห็นจะเป็นที่ประเทศพม่า ที่นั่นเริ่มก่อนวันที่ 14 เมษายน 7 วัน และยาวต่อเนื่องไปหลังวันที่ 14 อีก 7 วัน รวมเป็น 15 วัน ราชการพม่าหยุดยาวเป็นเวลา 15 วันเลยทีเดียว เหมือนกับการหยุดพักร้อนพร้อมๆ กัน ไม่แน่ใจว่าเมื่อเปิดประเทศเหมือนในขณะนี้แล้วยังจะหยุดราชการ หยุดโรงเรียน หยุดสอนกันเหมือนเมื่อครั้งที่ยังปิดประเทศอยู่หรือไม่ ของไทยเราหยุด 4 วัน คือตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 เป็นเวลา 4 วัน ก็นับว่านานแล้ว เพราะธุรกิจการเงินสำหรับการค้าและการเงินระหว่างประเทศอาจจะขลุกขลัก หากจะหยุดยาวกว่านี้ อีกทั้งยังจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิตอีกด้วย หลายๆ คนไม่อยากหยุดยาวเพราะกลับบ้านที่ชนบทก็ไม่มีญาติพี่น้องเหลือแล้ว ชาวชนบทจำนวนมากกลายเป็นชาวกรุงเทพฯแล้ว มาอยู่นานจนมีครอบครัว มีบุตรหลานเข้าโรงเรียนอยู่ในกรุงเทพฯก็มาก แต่ก็เป็นโอกาสที่พี่น้องลูกหลานจะได้กลับไปพบกันที่บ้านในชนบทเพื่อรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ซึ่งนับวันจะมีน้อยลง

การเล่นน้ำสงกรานต์ก็เปลี่ยนไปมาก เป็นสากลมากขึ้น เพราะมีชาวต่างประเทศ มีฝรั่งหัวแดงนุ่งน้อยห่มน้อย ใช้ปืนฉีดน้ำ ใช้รถกระบะตั้งถังใส่น้ำแล่นไปช้าๆ หรือไม่ก็รอคนมาสาดน้ำ ฉีดน้ำใส่ ต่างฝ่ายต่างก็สาดน้ำเทน้ำกันอย่างสนุกสนาน รถปิกอัพหรือรถกระบะเล็กที่เรียกว่าสเปซแค็บก็วิ่งไปช้าๆ จึงไม่เข้าใจเหมือนกันว่าตัวเลขคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์นั้น เป็นอุบัติเหตุจากยานพาหนะประเภทใด ขับอยู่ที่ไหน เวลาใด ผู้ขับเมาสุราหรือยาเสพติดอื่นหรือไม่ แต่จะให้คงสภาพประเพณีเก่าแต่โบราณก็คงจะทำไม่ได้เสียแล้ว ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการ

การที่เจ้าหน้าที่ออกมาสั่งประชาชนอย่างขึงขัง ด้วยท่าทีเหมือนกับเป็นเจ้านาย ประชาชนเป็นบ่าวไพร่ วางท่าทีเหมือนเป็นผู้ใหญ่ออกคำสั่ง ข่มขู่ด้วยถ้อยคำเหมือนนายกับบ่าว เหมือนประชาชนเป็นเด็ก อุตส่าห์นั่งฟังอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ก็รู้สึกสะดุ้งอยู่หลายหน

Advertisement

เหมือนกับกำลังนั่งฟังครูใหญ่อบรมสั่งสอนด้วยความห่วงใยยามโง่เง่าเบาปัญญา เป็นทัศนคติของผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง ไม่ใช่ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐบริการ

ความจริงน่าจะแยกการขับขี่ยานพาหนะในเมืองไทย เฉพาะบริเวณงานคงจะขับเร็วไม่ได้อยู่แล้ว จะนั่งในกระบะรถ สนุกสนานก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แม้แต่รถจักรยานยนต์
รถกระบะเล็กนั้นก็เป็นรถยนต์ของคนชั้นล่างหรือคนชั้นกลางระดับล่าง เพราะคนไทยทุกครัวเรือนมีรถจักรยานยนต์มากกว่า 1 คัน และกว่าร้อยละ 70 มีรถกระบะเล็ก ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวมีสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

รถกระบะเล็กนั้นมิได้มีจุดมุ่งหมายใช้เฉพาะเป็นยานพาหนะสำหรับเดินทางเท่านั้น จุดมุ่งหมายที่ซื้อรถกระบะเล็กก็เพื่อมาเป็นเครื่องมือในการผลิตต่อไป กล่าวคือใช้ในการบรรทุกสินค้าเกษตรของตน และของผู้อื่นที่ต้องการขายไปส่งที่ตลาดกลาง ซึ่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหรือรถเก๋งทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ในภาคเกษตรกรรมของเราจึงมีการแข่งขันที่สูงมาก ไม่มีผู้ใดทำตัวเป็นคนกลางผูกขาดขูดรีดชาวไร่ชาวนาได้ ชาวไร่ชาวนาเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงตลาดได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าตนจะมีผลผลิตเพียงเล็กน้อยเท่าใดก็ไม่จำเป็นต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง ถ้าตนเห็นว่าพ่อค้าคนกลางกดราคา เพราะหมู่บ้านกว่าร้อยละ 90 ทั่วประเทศมีถนนเข้าถึง ประชาชนเกือบทุกครัวเรือนจึงมีรถกระบะหรือรถบรรทุกเล็กใช้บรรทุกเครื่องมือเครื่องจักรออกไปทำไร่ทำนา เลิกใช้วัวควาย ไถกันนานแล้ว แม้แต่ปักดำ เก็บเกี่ยว ก็ใช้เครื่องจักรหมด รถกระบะกลายเป็นของจำเป็นในการผลิตและการตลาดของคนชั้นกลางและชั้นล่าง ราคาพืชผลที่ไร่นากับราคาที่ถึงมือผู้บริโภคจึงห่างกันไม่มากเหมือนประเทศพัฒนาอื่นๆ

Advertisement

ในเมือง สำหรับงานก่อสร้างขนาดเล็ก งานส่งสินค้าจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เข้าเมืองไม่ได้ ก็จำเป็นต้องมีคนงานนั่งในกระบะเล็ก จนกลายเป็นวัฒนธรรมรถกระบะเล็กไปแล้ว

แม้ว่าโรงงานผลิตรถยนต์ จะผลิตรถยนต์โดยออกแบบให้เป็นรถยนต์เพื่อขนของ แต่ประชาชนผู้ซื้อและสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมผ่อนส่งก็ไม่เคยคิดว่าผู้ซื้อจะซื้อไปใช้เพื่อขนของเท่านั้น เมื่อมีการดัดแปลงต่อเติมก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อวางของ แต่มีวัตถุประสงค์ดัดแปลงให้คนนั่งได้มากขึ้น ผู้ซื้อคิดว่าซื้อรถกระบะเล็กเป็นรถอเนกประสงค์ต่างหาก ไม่ได้แยกกันเป็น 2 คันคือ ขนของคันหนึ่ง ขนคนอีกคันหนึ่ง แบบฝรั่ง

การที่วันดีคืนดีจะลุกขึ้นบังคับใช้กฎหมายเดียวกัน เสมอหน้ากันหมด ไม่ว่าจะวิ่งอยู่บนทางด่วน ทางหลวง ทางชนบท เหมือนกันหมด โดยที่ไม่ได้พูดถึงจักรยานยนต์เลย ทั้งๆ ที่อุบัติเหตุบนถนนที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากนั้นเป็นการใช้รถจักรยานยนต์ผิดกฎหมาย เช่นบรรทุกของหรือบรรทุกคนมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลออกนโยบายมาอย่างฉุกละหุกใช้ไปพลางก่อน

จบจากงานสงกรานต์แล้วน่าจะมีการสังคายนากฎจราจรทางบกเสียใหม่ เลิกความคิด “กฎเดียวใช้ได้ทุกสถานที่และทุกเวลา” เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเราไม่เหมือนใคร แต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน ในเมืองและชนบทก็ไม่เหมือนกัน เราคงจะคล้ายๆ กับอินเดีย พม่า ลาว เขมร มากกว่า แม้แต่จีนเขาก็ก้าวหน้าแซงเราไปนานแล้ว เราก็ไม่เหมือนเขาเหมือนกัน กฎหมาย กฎระเบียบ กฎข้อบังคับใด ที่ขัดต่อพฤติกรรมประเพณีและความรู้สึกของคนไทยก็ย่อมใช้ไม่ได้

ในระยะหลังๆ มานี้ รัฐบาลต้องถอยหลายเรื่อง การต้องถอยในเรื่องต่างๆ ในทางการบริหารการปกครอง จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเกรงขามลดลง ความศักดิ์สิทธิ์และความเกรงกลัวเป็นปัจจัยสำคัญของระบบเผด็จการทหาร ซึ่งต่างกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยพลเรือน ที่ความนิยมชมชอบเป็นปัจจัยสำคัญ รัฐบาลเผด็จการต้องพยายามตรวจสอบความเกรงกลัวต่อรัฐบาลอยู่เสมอ เมื่อใดที่ความเกรงกลัวลดลงจะสังเกตได้จากการออกมาให้สัมภาษณ์หรือให้ความคิดเห็นสวนกลับความคิดของรัฐบาล หรือออกมาเดินขบวนคัดค้านนโยบายและมาตรการของรัฐบาล

เท่าที่เห็นขณะนี้คือเกิดการคัดค้านนโยบายจนรัฐบาลต้องถอยมีอยู่ 4-5 เรื่อง คือ การถอยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ มาตรการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย มาตรการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โครงการเข้มงวดเรื่องกฎจราจรในช่วงสงกรานต์

ถ้าดูให้ดี ทุกเรื่องที่รัฐบาลทหารต้องถอยเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นทั้งนั้น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ก็น่าจะเป็นการปรึกษาหารือกับพรรคพวกที่จัดการเดินขบวนเสียก่อนเป็นการภายใน เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่เคยจัดมาขับไล่รัฐบาลชุดก่อน การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อเป็นเจ้าของสัมปทานในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของนายทหาร 6 คน ก็เป็นพรรคพวกกันทั้งนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นถ้าพิจารณาให้ดี เพราะ ปตท. และ ปตท.สผ. เป็นองค์กรใหญ่ระดับโลก เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะดึงผลประโยชน์ออกจากองค์กรดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ส่วนการบังคับใช้กฎจราจรกฎเดียว ใช้ทั่วไปหมดทุกสถานที่ทุกเวลาเหมือน “one rule fits all” ย่อมจะเกิดแรงต่อต้าน เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ของคนต่างกลุ่มต่างสถานที่กัน แต่มีรถแบบเดียวที่เหมาะสมกับทุกกิจกรรมแบบรถกระบะเล็ก อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การขึ้นภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินก็ต้องถอยไป เหลือเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ถึงขั้นตอนการปฏิบัติการจัดเก็บก็คงเก็บไม่ได้อยู่ดี

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงขาลง อาจจะมีข่าวการวางระเบิด “ที่ไม่ระเบิด” ที่นั่นที่นี่เสมอ พร้อมๆ กับมีข่าวไฟไหม้เพราะ “ไฟฟ้าลัดวงจร” เกิดขึ้นบ่อยๆ จนเป็นประเพณีเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องคอยดูกันไป

การเมืองไม่มีรูหายใจก็มักจะเป็นอย่างนี้

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image