เครือข่ายลดอุบัติเหตุชี้ ‘เจ็บ-ตาย’ เพิ่มขึ้น เพราะบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้นพอ

วันที่ 14 เมษายน 2560 นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้พบว่าตัวเลขอุบัติเหตุรวม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า แม้ในวันที่ 13 เมษายนของปีนี้ ในวันเดียวจะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นกว่าปีที่แล้วก็ตาม แต่หากถามว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้ ต้องรอให้สิ้นสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปก่อนถึงจะสรุปตัวเลขได้ชัดเจนอีกครั้ง

“อย่างไรก็ตาม ปีนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตัวเลขจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอันดับแรกคือเมาแล้วขับ รองลงมา ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด แสดงให้เห็นชัดว่ามาตรการที่รัฐบาลสั่งการลงไปและเห็นผลได้จริง มีเพียงมาตรการคาดเข็มขัดนิรภัยและการจำกัดความเร็วเท่านั้น โดยวัดได้จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ส่วนมาตรการเมาแล้วไม่ขับนั้น หากถามว่าปัจจุบันได้เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ เพราะตัวเลขเมาแล้วขับยังครองแชมป์ทำให้มีผู้เสียชีวิตอยู่ ต้องตอบว่า ดื่มแล้วไม่ขับเป็นมาตรการก็จริง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถดำเนินการได้ สืบเนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะบังคับใช้มาตรการในพื้นที่เซฟตี้โซน (Safety Zone) เท่านั้น แต่เมื่อออกจากพื้นที่ดังกล่าว หรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่เซฟตี้โซนก็ยังพบว่ามีคนดื่มแล้วขับอยู่ สาเหตุต่อมาคือ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ตามจุดตรวจหรือด่านต่างๆ ทำไม่ได้จริง อาจเกิดจากกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ไม่สามารถดูแลครอบคลุมได้ทุกพื้นที่” นายพรหมมินทร์กล่าว

นอกจากนี้ นายพรหมมินทร์กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อติดตามและรายงานผลช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปีนี้ประชาชนใช้ยานพาหนะในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากขึ้น ทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ มีจำนวนมากกว่าปี 2559 จำนวนกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจและสอดคล้องกับตัวเลขอุบัติเหตุที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากมาตรการของรัฐที่ท้าทาย เช่น มาตรการใช้รถสาธารณะกลับบ้าน การห้ามนั่งท้ายกระบะ ฯลฯ ที่กลายเป็นข้อจำกัดในการเดินทาง และทำให้มีการนำรถส่วนตัวออกมาใช้กันมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการดื่มแล้วไม่ขับ ปัจจุบันเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ นายพรหมมินทร์กล่าวว่า การควบคุมและกำกับของมาตรการเดินมาถูกทางแล้ว แต่ในทางปฎิบัติยังไม่เข้มข้นพอ แม้ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นครั้งแรกในการตรวจเลือดวัดระดับแอลกอฮล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุจราจรเพื่อนำผลตรวจมาดำเนินคดีก็ตาม ก็ควรมีมาตรการตรวจก่อนอุบัติเหตุด้วย โดยการให้เจ้าพนักงานออกตระเวนสุ่มตรวจในพื้นที่สุ่มเสี่ยงอยู่เสมอ หากพบว่ากลุ่มใดที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรให้ตรวจเลือดทันที นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี หากพบว่าเมาสุราก็ต้องเร่งติดตามไปยังผู้ประกอบการที่ขายเครื่องดื่มให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ทันที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image