‘เซี่ยม่าน หลานปออาน’ … ความภาคภูมิของวรรณกรรมแห่งท้องทะเล

เมื่อแรกที่ได้ยินคำว่า “วรรณกรรมแห่งท้องทะเล” และ “นักเขียนแห่งเกาะแห่งโลก” ก็สงสัยขึ้นมาทันทีถึงความหมาย

คำดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่เรากำลังสนทนากับ “เซี่ยม่าน หลานปออ่าน” นักเขียนชื่อดังชาวต๋าอู้(Ta-u) ชนพื้นเมืองของไต้หวันซึ่งเป็นชาวเกาะที่ตั้งรกรากอยู่บนเกาะแห่งนี้มาอย่างยาวนาน ก่อนที่เราจะรู้จักไต้หวันอย่างทุกวันนี้ โดยมีอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี นักแปลชื่อดังช่วยประสานและเป็นล่าม

เซี่ยม่านผู้เขียนผลงานระดับเบสต์เซลเลอร์ของไต้หวัน ได้เดินทางมาประเทศไทยในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่เพิ่งจบไป เพื่อแนะนำให้นักอ่านคนไทยได้รู้จักกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของไต้หวัน โดยเฉพาะความหลากหลายในวงวรรณกรรม ซึ่งปกติแล้วเวลาเรานึกถึงงานเขียนของไต้หวันนั้น เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงงานแนวๆนิยายภาพอย่างของจิมมี่ เหลียว แต่จริงๆแล้วนั้นงานเขียนของไต้หวันมีหลายอย่างที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะงานเขียนจากชนพื้นเมือง ที่ไม่ใช่ชาวไต้หวันบนเกาะใหญ่ ซึ่งมีความภาคภูมิใจในความเป็นบุตรแห่งท้องทะเลที่ส่งต่อวัฒนธรรมประเพณีของตนจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน

“จริงๆแล้วคำว่านักเขียนแห่งเกาะแห่งโลก มาจากเพื่อนๆกลุ่มนักประพันธ์ นักวิจารณ์ตั้งให้ หลังจากที่พวกเขาได้อ่านงานของผม ในงานเขียนผมไม่เคยยกย่องเชิดชูชนพื้นเมืองว่าดีงามเช่นไร แต่จะบอกเล่าถึงเรื่องราวรอบตัวที่เกิดขึ้น เป็นมุมมองของชนพื้นเมืองที่มีต่อท้องทะเล ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ ผมไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นอะไร ผมแค่ต้องการเขียนถึงสิ่งต่างๆในชีวิตของชาวต๋าอู้ ให้ไต้หวันและโลกได้รู้จัก แต่เมื่อมีคนเรียกก็พยายามที่จะผลักดันตัวเองให้ไปสู่จุดนั้นและสร้างผลงานที่มีลักษณะของความเป็นสากลขึ้นมา” เซี่ยม่านเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มนุ่ม

Advertisement

หนังสือเล่มแรกของเซี่ยม่านเขียนขึ้นเมื่ออายุประมาณ 32 ปี ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายแห่งอ่าว หน้าหนึ่งเป็นภาษาต๋าอู้ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาตากาล็อก อีกหน้าหนึ่งเป็นภาษาจีน

“ผมเพิ่งมาเรียนภาษาจีนจริงๆจังด้วยการใช้ประสบการณ์และร่างกายเมื่อเขียนหนังสือเล่มที่ 2 เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ไต้หวันมีนโยบายให้ชาวพื้นเมืองที่ผลการเรียนดีสามารถเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังเลย โดยไม่จำเป็นต้องสอบ แต่ผมปฏิเสธ เพราะผมตั้งใจปฏิเสธการถูกแปรเป็นอื่นด้วยการเปลี่ยนเป็นจีน”

“ผมมองว่าการควบคุมด้วยการศึกษาและภาษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการล่าอาณานิคม เพราะเมื่อเรียนจบก็จะต้องกลับมาสอนชนพื้นเมืองด้วยความรู้ที่เป็นกระแสหลักจากส่วนกลาง ผมจึงปฏิเสธ และกลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองที่คัดค้านนโยบายกดขี่ต่างๆที่มีต่อชนพื้นเมืองและนโยบายการกลืนชาติของรัฐบาลภายใต้การนำของก๊กมินตั๋ง ซึ่งไม่เป็นมิตรอย่างยิ่งต่อผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนดินแดนนี้มาอย่างยาวนาน แต่นั่นคือเมื่อ 30 ปีมาแล้ว ซึ่งในปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป รัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญกับชนพื้นเมืองและเคารพในวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ของเรา ซึ่งส่งผลถึงการทำงานของผมในมิติที่หลากหลายมากขึ้น” เซี่ยม่านอธิบาย

Advertisement

วรรณกรรมแห่งท้องทะเลในความหมายของเซี่ยม่านนั้น คืองานเขียนที่มีความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์และท้องทะเล ไม่ใช่งานเขียนที่แสดงถึงการรุกรานทรัพยากรแห่งท้องทะเล หรือนำท้องทะเลมาเป็นแบ็คกราวด์ของการต่อสู้ ซึ่งยากมากที่งานเขียนจากโลกตะวันตกจะเข้าถึงและเข้าใจเพราะพวกเขาไม่มีวัฒนธรรมของมหาสมุทร ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้า สภาพอากาศ และท้องทะเล วรรณกรรมท้องทะเลของตะวันตกจึงยังไม่ใช่จิตวิญญาณที่แท้จริง

“จิตวิญญาณของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล คือความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างตัวมนุษย์กับตัวท้องทะเล เคารพและให้เกียรติกับความเปลี่ยนแปลงของชั้นเมฆ สภาพอากาศ ผืนน้ำ และสิ่งมีชีวิตในทะเล วรรณกรรมประเภทนี้ถือเป็นบทสนทนาระหว่างมนุษย์กับทะเล ในการทำงานของผมจะต้องมาจากประสบการณ์จริงที่ผมได้รับ อย่างในเทศกาลปลาบิน ซึ่งเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่ชนเผ่าต๋าอู้รุ่นใหม่ได้สืบทอดต่อจากบรรพชนรุ่นก่อนหน้า เป็นศักดิ์ศรีแห่งการสืบทอดชนเผ่า เป็นความภาคภูมิใจของการเป็นบุตรแห่งทะเลที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ผมจะกลับเกาะไปจับปลาบิน สังเกตท้องฟ้าและท้องน้ำซึ่งเป็นต้นกำเนิดความรู้ของตัวเอง เป็นศรัทธาของผม และเป็นเครื่องมือที่พาให้ตัวเข้าใจจังหวะการเต้นของหัวใจของทะเล พอจบเทศกาลปลาบินผมก็ดำน้ำถ่ายรูปใต้น้ำ ตอนหนุ่มๆผมดำน้ำลึกมาก มากๆจริงๆ” เขาเล่า

นอกจากเขียนหนังสือ ดำน้ำ จับปลาแล้ว เซี่ยม่านก็กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก

“เราต้องเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองทุกวัน” เขากล่าวยิ้มๆ

“ผมนอนหัวค่ำ แล้วตื่นมาราวตีสองตีสามเพื่อเขียนและอ่านหนังสือ เป็นนิสัยที่กลายเป็นวินัยไปแล้ว ความสงบทำให้เราได้ใช้ความคิดทบทวน ผมไม่ใช่นักเขียนที่ขยัน สิบกว่าปีมีงานเขียนแค่ 9 เล่ม ถ้าเทียบกับนักเขียนสมัยนี้ถือว่าน้อยมาก ผมยังมีเรื่องราวแห่งท้องทะเลและต๋าอู้อีกมากมายที่อยากเขียนให้ไต้หวันและโลกได้อ่าน ทะเลคือปลา เกาะแต่ละเกาะคือเกล็ดปลา ก็ต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรงให้ยังดำน้ำ ลงทะเลจับปลาได้ และหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ”

หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเป็นนวนิยายชื่อดังในไต้หวันคือ “ดวงตาแห่งท้องฟ้า ซึ่งหมายถึงดวงดาว เล่าเรื่องที่เขาประสบกับตัวเองผ่านมุมมองของปลาตัวหนึ่ง ก่อนที่ภายหลังจะเล่าผ่านสายตาของคน

“ในวัฒนธรรมของชาวต้าอู๋ หากรักใครก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวของโลกผ่านมุมมองของสิ่งนั้นได้ เรารักปลา เคารพปลา เราเล่าเรื่องของโลกผ่านสายตาของปลาได้ ให้มุมมองของปลาเล่าเรื่อง เป็นการให้เกียรติปลา สะท้อนเรื่องอาณานิคม การยึดครอง บอกเล่าเรื่องระหว่างชนพื้นเมืองกับไต้หวันเกาะใหญ่ที่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการถูกครอบครองถูกครอบงำ” เขาอธิบาย

กลับไปถึงไต้หวัน เขาจะไปต่อเรือกับลูกชาย และเขียนหนังสือหนังสือเล่มต่อไปซึ่งเป็นความเรียงที่ตั้งชื่อคร่าวๆว่า “มรดก”

ด้วยความภาคภูมิในวรรณกรรมแห่งท้องทะเล

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image